×

นักวิชาการชี้ แผ่นดินไหวรอยเลื่อนสะกายในเมียนมาไม่มีผลต่อรอยเลื่อนอื่นในไทย เตือนเฝ้าระวังโครงสร้างอาคาร

โดย THE STANDARD TEAM
28.03.2025
  • LOADING...
แผ่นดินไหวรอยเลื่อนสกาย

วันนี้ (28 มีนาคม) ศ. ดร.สันติ ภัยหลบลี้ จากภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลกรณีแผ่นดินไหวขนาด 7.7 ที่เกิดขึ้นบริเวณรอยเลื่อนสะกายในประเทศเมียนมา โดยระบุว่าเป็นเหตุการณ์ในระดับที่เคยเกิดขึ้นแล้ว ไม่กระทบไทยโดยตรง แต่ควรเฝ้าระวังโครงสร้างอาคาร แรงสั่นสะเทือนจากรอยเลื่อนสะกายซึ่งเกิดขึ้นในเมียนมาขนาด 7.7 ถือว่าไม่เกินความคาดหมายทางธรณีวิทยา โดยพื้นที่ดังกล่าวเคยมีประวัติการเกิดแผ่นดินไหวสูงสุดถึง 8 และโดยทั่วไปมักเกิดแรงสั่นสะเทือนในระดับ 6-7 เป็นระยะ จึงไม่ถือว่าเป็นสัญญาณของความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นรอยเลื่อนที่ไม่มีศักยภาพก่อให้เกิดคลื่นสึนามิบริเวณชายฝั่งอันดามันของประเทศไทย

 

ศ. ดร.สันติ ระบุว่า แม้แผ่นดินไหวขนาดใหญ่จะส่งผลให้เกิดการคลายตัวของแรงเครียดในบางพื้นที่ในรูปแบบอาฟเตอร์ช็อก แต่ไม่ได้มีผลกระทบหรือกระตุ้นให้รอยเลื่อนอื่นในประเทศไทยเกิดการเคลื่อนไหวตามไปด้วย จึงยังไม่ถือว่าเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อโครงสร้างธรณีของไทยในขณะนี้

 

ขณะที่การเกิดอาฟเตอร์ช็อกหรือแรงสั่นสะเทือนตามหลังเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้อย่างแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ หลังเหตุการณ์เมนช็อกขนาด 7.7 โดยอาฟเตอร์ช็อกที่รุนแรงที่สุดคาดว่าจะไม่เกินขนาด 6.6 ซึ่งในขณะนี้มีบันทึกว่ามีเหตุการณ์ขนาด 6.4 เกิดขึ้นแล้ว คาดว่าแรงสั่นสะเทือนที่เหลือจะลดระดับลงเรื่อยๆ และอาจลากยาวได้ประมาณ 1 สัปดาห์ แต่ไม่น่าจะสร้างผลกระทบต่อประเทศไทยในเชิงภัยธรรมชาติโดยตรง

 

อย่างไรก็ตาม ควรมีการติดตามตรวจสอบความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับอาคาร สิ่งปลูกสร้าง หรือโครงสร้างพื้นฐานที่อาจได้รับผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือนครั้งแรกหรืออาฟเตอร์ช็อกตามมา โดยเฉพาะอาคารเก่าและสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ภาคเหนือและตะวันตกของประเทศ

 

สำหรับสาเหตุแผ่นดินไหว ศ. ดร.สันติ ระบุว่า เกิดจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนสะกาย ซึ่งเป็นรอยเลื่อนที่มีความลึกตื้นในประเทศเมียนมา โดยมีการประเมินทางวิชาการมาอย่างต่อเนื่องว่า พื้นที่นี้มีศักยภาพเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงในระดับ 8.2-8.6 อีกทั้งยังมีแนวรอยเลื่อนอื่นใกล้เคียงที่มีความเครียดสะสมในระดับสูง ซึ่งยังไม่มีการปลดปล่อยแรงเครียดออกมา

 

ประเทศไทยมีการจัดทำข้อมูลประเมินความเสี่ยงจากแผ่นดินไหวอย่างเป็นระบบตั้งแต่ปี 2005-2006 โดยเฉพาะพื้นที่ตามแนวรอยเลื่อนสะกาย ตั้งแต่เมืองมังกะเลไปจนถึงย่างกุ้งและต่อเนื่องถึงชายฝั่งทะเล ซึ่งล้วนเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือการนำข้อมูลทางวิชาการเหล่านี้ไปสู่การปฏิบัติจริงในเชิงนโยบายและการบริหารจัดการความเสี่ยง ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาและดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเป็นระบบเพียงพอแล้วหรือไม่

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising