วันนี้ (8 เมษายน) ที่กรุงทาชเคนต์ สาธารณรัฐอุซเบกิสถาน วันมูหะมัดนอร์ มะทา lประธานรัฐสภา เข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา เพื่อลงมติเลือกหัวข้อบรรจุเป็นระเบียบวาระฉุกเฉินหรือเร่งด่วน ในห้วงการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 150 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 4 ถึง 11 เมษายน 2568 ซึ่งที่ประชุมได้มีการเสนอวาระฉุกเฉิน 4 เรื่อง
โดย 1 ใน 4 เรื่องคือ ประเด็นสถานการณ์ในเมียนมา หรือ การทูตรัฐสภา เพื่อส่งเสริมสันติภาพในวิกฤตมนุษยธรรมในเมียนมา ที่เสนอโดยไทย และฟิลิปปินส์ ที่มี กัณวีร์ สืบแสง สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ในฐานะผู้แทนรัฐสภาไทย ได้อภิปรายนำเสนอประเด็นดังกล่าวให้เป็นวาระฉุกเฉินของที่ประชุม
กัณวีร์อภิปรายว่า ขณะนี้ เมียนมาไม่สามารถเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการของ IPU ได้ โดยเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ ไทยและฟิลิปปินส์ จึงเป็นเพียง 2 ประเทศในอาเซียน ที่สามารถสะท้อนเสียงไปได้ และซึ่งเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.7 ที่เมียนมา คร่าชีวิตผู้คนมากกว่า 3,300 ราย และมีผู้ได้รับผลกระทบมากกว่า 1,100,000 คน ทั้งบ้านเรือน โรงเรียน และโรงพยาบาลได้รับเสียหาย ทำให้ชาวเมียนมาต้องอาศัยอยู่ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราว ซึ่งมีน้ำ อาหาร และการดูแลพื้นฐานอย่างจำกัด
กัณวีร์ยังระบุว่า เป็นเวลาหลายปีที่เมียนมาต้องเผชิญกับความเร่งด่วนด้านมนุษยธรรม ความไม่มั่นคง การอพยพ และความไม่ปลอดภัยเป็นเวลาหลายปีทำให้ผู้คนมากกว่า 15 ล้านคนต้องการความช่วยเหลือ แม้จะมีการประกาศหยุดยิงหลังเกิดแผ่นดินไหว แต่การโจมตีทางอากาศและการโจมตีทางอากาศยังคงดำเนินต่อไป โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมมากที่สุด จึงเป็นเหตุผลที่ไม่อาจละสายตาได้
“แม้ชาวเมียนมาไม่ได้ร้องขอการปฏิบัติพิเศษ แต่ชาวเมียนมาร้องขอความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเท่าเทียมและทันท่วงที เช่นเดียวกับวิกฤตการณ์ต่างๆ ในโลก ที่ต้องการการประสานงานที่ได้ผล เข้าถึงได้ รวมถึงการเยียวยา จึงเป็นเหตุผลที่ผมได้นำเสนอวาระฉุกเฉินนี้ ขอให้ที่ประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ยืนหยัดเคียงข้างชาวเมียนมาด้วยความสามัคคี พร้อมเชื่อมั่นว่า การนำวิกฤตเมียนมาขึ้นมาพูดในการประชุมครั้งนี้ จะมีความหมายในไม่ช้านี้แน่นอน” กัณวีร์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา มีมติไม่ถึงเกณฑ์ 2 ใน 3 ทำให้ข้อเสนอดังกล่าวตกไป ส่วนอีก 3 ประเด็น ที่ถูกเสนอเป็นวาระเร่งด่วน ทั้งสงครามการค้า, การยุติการหยุดยิงของอิสราเอลในปาเลสไตน์ สถานการณ์ความขัดแย้งในคองโก และซูดาน รวมถึงผลกระทบของภาวะโลกร้อน นั้น ผลการลงมติไม่ผ่านเกณฑ์ 2 ใน 3 เช่นกัน ทำให้ข้อเสนอดังกล่าวทั้งหมดตกไป
ขณะที่ตัวแทนรัฐสภาอิสราเอลได้เสนอเรื่อง การยุติ 2 มาตรฐาน เพื่อเรียกร้องให้ประชาคมโลกรับผู้ลี้ภัยจากกาซาแทนการแสวงประโยชน์ผู้ลี้ภัยโจมตีอิสราเอลนั้น ได้ถูกถอนออกไปก่อนการลงมติ เนื่องจากระหว่างที่มีการพิจารณานั้นได้เกิดการประท้วงและการวอล์กเอาต์ของผู้แทนรัฐสภาส่วนหนึ่งในการประชุม
กัณวีร์ระบุภายหลังว่า ข้อเสนอมาตรการฉุกเฉินต่อวิกฤตมนุษยธรรมและสันติภาพเมียนมา ที่เสนอโดยประเทศไทยได้รับคะแนนสูงสุดในที่ประชุมสหภาพรัฐสภาโลก IPU เป็นครั้งแรกในรอบ 136 ปีที่ไทยเสนอปัญหาในภูมิภาคและได้รับการยอมรับในเวทีนี้ โดยได้รับการสนับสนุนลงคะแนนให้จากประเทศอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และไทย รวมถึงประเทศอื่นๆ ทำให้ได้รับการโหวตเห็นด้วยสูงสุด 630 คะแนนโหวต ซึ่งเป็นอันดับ 1 จากทั้งหมด 3 ร่าง
“ผมมักจะโดนโจมตีว่าประเทศไทยได้อะไร เป็น สส. ประเทศไหนกันแน่ เปลืองภาษีคนไทย ผมต้องขอเรียนว่าความมั่นคงของภูมิภาคคือประโยชน์ของไทย การที่เพื่อนบ้านรอบเรามีสถานการณ์วิกฤต ย่อมส่งผลต่อไทยด้วยพรมแดนที่ติดกัน ไม่ว่าจะเป็นการย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ อาชญากรรมข้ามชาติ การล้ำอธิปไตย ล้วนส่งผลกระทบต่อไทยทั้งนั้น ดังนั้น มีความจำเป็นที่เราต้องแสดงออกเพื่อให้เกิดความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและสันติภาพในเมียนมา แต่ต้องทำแบบถูกหลัก ไม่เลือกข้างเผด็จการทหาร” กัณวีร์กล่าว