×

จับตาเมียนมาวิกฤต ส่อฉุดการค้าชายแดนไทยสูญเหลือต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ด้านธุรกิจไทยช่วง 3 ปีที่ผ่านมาถอนลงทุนเหลือไม่ถึง 100 ราย

22.04.2024
  • LOADING...

สถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมากลับมาตึงเครียดอีกครั้ง ล่าสุดเมื่อช่วงเช้ามืดของวันที่ 20 เมษายน ฝ่ายต่อต้านใช้เครื่องยิงระเบิดและโดรนทิ้งระเบิดโจมตีทหารเมียนมา บริเวณใต้สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 อำเภอเมียวดี ห่างจากแนวชายแดนตรงข้ามอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ประมาณ 1.5 กิโลเมตร

 

ขณะที่กองทัพอากาศไทยสั่งการให้เครื่องบินรบแบบ F-16 จำนวน 2 ลำ ปฏิบัติภารกิจบินลาดตระเวน เพื่อแสดงท่าทีและป้องปรามการบินล้ำแดน บริเวณพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา จังหวัดกำแพงเพชรและจังหวัดตาก

 

ล่าสุดยังมีรายงานข่าวระบุว่า รัฐบาลไทย โดยกระทรวงการต่างประเทศ ส่งจดหมายเชิญเรียกฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนมาประชุมร่วมกันในวันที่ 23 เมษายนนี้ เพื่อหารือ ร่วมประเมิน และเตรียมแผนการรับมือกับสถานการณ์รุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นกับพรมแดนของไทย

 

ก่อนหน้านี้ ช่วงบ่ายวันที่ 19 เมษายน กระทรวงพาณิชย์ได้ส่งจดหมายเชิญหน่วยงานภาคธุรกิจเอกชนไทย ประกอบด้วย สมาชิกคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย และสภาธุรกิจไทย-เมียนมา มาร่วมประชุมด่วนเพื่อจัดตั้ง War Room เพื่อเฝ้าติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย

 

กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิดแพร่ระบาดในปี 2563 ในเมียนมา อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินจ๊าดของเมียนมาจะอยู่ที่ประมาณ 1,100 จ๊าดต่อดอลลาร์ แต่เมื่อเกิดโควิดแพร่ระบาด ส่งผลกระทบต่อค่าเงินจ๊าดให้มีทิศทางอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งก่อนเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในเมียนมาช่วงต้นปี 2564 ค่าเงินจ๊าดอ่อนค่าตกลงไปอยู่ที่ระดับประมาณ 1,340-1,350 จ๊าดต่อดอลลาร์

 

นอกจากนี้ ภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในเมียนมา ส่งผลให้ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในเมียนมาเริ่มมีปัญหา เพราะประชาชนเกิดความกังวล จึงแห่ออกไปถอนเงินฝากออกจากธนาคารพาณิชย์จนทำให้ธนาคารต้องปิดลง ซึ่งกดดันให้ค่าเงินจ๊าดในปี 2564 อ่อนค่าลงไปอยู่ที่ประมาณ 1,700-1,800 จ๊าดต่อดอลลาร์ ต่อมาในเดือนสิงหาคม 2565 ค่าเงินจ๊าดร่วงลงไปอย่างหนักอยู่ที่ประมาณ 4,600 จ๊าดต่อดอลลาร์ 

 

เงินจ๊าดอ่อนค่าร่วงหนัก 3 เท่าตัว

 

ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวด้านอัตราแลกเปลี่ยนถือเป็นความเสี่ยงสำคัญที่จะกระทบต่อภาคธุรกิจไทยที่มีการค้าขายลงทุนทำธุรกิจในเมียนมา เนื่องจากโดยปกติแล้ว ภาคธุรกิจของไทยจะต้องใช้เงินดอลลาร์สำหรับนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพื่อส่งออกไปยังเมียนมา โดยได้รับชำระค่าสินค้ากลับมาเป็นเงินจ๊าด รวมถึงสินค้าที่ผลิตจากประเทศไทยที่ส่งไปยังเมียนมาเอง ทุกใบแจ้งหนี้ (Invoice) ที่รัฐบาลกำหนดบังคับให้ใช้เงินดอลลาร์เป็นสกุลเงินหลัก ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่สูง ดังนั้น การที่ธุรกิจเอกชนต้องแบกรับภาระอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวนสูง จึงเป็นความเสี่ยงสำหรับภาคธุรกิจไทยที่ลงทุนทำธุรกิจกับเมียนมา 

 

“ค่าเงินดอลลาร์เปรียบกับค่าเงินจ๊าด เมื่อเปรียบแล้วค่าเงินจ๊าดหายไปประมาณ 3 เท่าตัว แน่นอนว่าธุรกิจไทยในช่วงนั้นที่มีการค้าขายก็จะขาดทุนประมาณ 3 เท่าตัวทันทีเช่นกัน จากผลกระทบเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนผันผวน ส่วนสถานการณ์วันนี้ค่าเงินจ๊าดเริ่มนิ่งมาอยู่ที่ประมาณ 3,400-3,500 จ๊าดต่อดอลลาร์”

 

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงการปกครองภายในของเมียนมาที่เกิดขึ้นในปี 2564 ทำให้เกิดการต่อต้านของกลุ่มไม่เห็นด้วย และทำให้เกิดผลกระทบและความวุ่นวายตามมา

 

3 ปี เศรษฐกิจเมียนมาทรุดหนัก ไทย-เทศแห่ถอนลงทุน

 

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา การลงทุนต่างชาติ (FDI) ในเมียนมาหายไป 3 เท่า ในช่วงนั้นเริ่มเห็นบริษัทต่างชาติแห่ถอนการลงทุน เนื่องจากค่าเงินจ๊าดผันผวน กระแสเงินสดในประเทศ สภาวะเศรษฐกิจ เงินเฟ้อพุ่ง ค่าแรงไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ ดังนั้น หากถามว่าถึงวันนี้นักลงทุนใช้เหตุผลอะไรที่ต้องลงทุนในเมียนมา ส่วนใหญ่จะมองว่า

 

“แม้ปัจจัยหลายๆ อย่างจะดี ค่าแรงถูก หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่หากเป็นเรื่องการเมืองที่ไม่นิ่ง มีการแซงก์ชัน ก็ไม่เหมาะที่จะลงทุนต่อไปได้”

 

สำหรับบริษัทไทยที่เข้าไปทำธุรกิจการค้าและลงทุนในเมียนมาเวลานี้ จากที่เคยมีพันกว่ารายในช่วง 3 ปีก่อน ก็เริ่มลดลงเหลือ 400 ราย และขณะนี้ก็ได้ทยอยถอนตัวออกมา เหลือบางรายที่ยังทำการค้าการลงทุนจริงๆ อยู่ไม่ถึง 100 รายเท่านั้น

 

ดังนั้น อนาคตอันใกล้หากไม่สามารถเจรจาหรือยุติลงได้ คาดว่ามูลค่าการค้าชายแดนไทย-เมียนมาในปีนี้อาจเหลือเพียงไม่ถึง 1 แสนล้านบาท จาก 2 แสนกว่าล้านบาท (มูลค่าการค้าชายแดนรวม 8 แสนล้านบาทต่อปี) เพราะการสู้รบครั้งนี้ไม่เหมือนในอดีต เนื่องจากเป็นการสู้รบ 3 ฝ่าย ระหว่างทหารรัฐบาล ฝ่ายต่อต้าน รวมถึงกองกำลังชาติพันธุ์ของกลุ่มกะเหรี่ยงที่มีที่ตั้งอยู่บริเวณรอยต่อชายแดนเมียวดี-แม่สอด ซึ่งห่างกับไทยเพียงแม่น้ำเมยกั้นไม่ถึง 1 กิโลเมตร ตรงนี้น่าห่วง เพราะไทยทำการค้าผ่านชายแดนแม่สอด-เมียวดีมากกว่า 80% ส่วนที่เหลือคือ แม่สาย-ท่าขี้เหล็กและระนอง-เกาะสอง 

 

“อย่าลืมว่าเราขายของไม่ได้ขายผ่านแม่น้ำเมยแล้วจบ เมื่อผ่านเข้าไปในเมียนมาจะกระจายสินค้าจากเมียวดีไปที่เมืองการค้าหลักคือ ย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ ประเด็นคือ กว่าจะกระจายสินค้าผ่านเมียวดีไปยังเมืองเหล่านี้ก็ต้องผ่านสมรภูมิ ซึ่งไม่มีอะไรรับประกันได้เลยว่าจะปลอดภัย เราอาจต้องเตรียมใจไว้เลยว่า 3-6 เดือนยังเป็นช่วงระยะสั้น ประคองไปได้ หากลากยาวไป 1-2 ปี ผมว่าน่าห่วงกว่า เพราะพฤติกรรมผู้บริโภค (Consumer Behavior) หรือความคุ้นชินสินค้าเราจะเลือนหายไป ถ้าไม่ปรับแผนไปสู่การขนส่งในโลจิสติกส์อื่นๆ เช่น ทางเรือ ซึ่งตรงนี้จะต้องผ่านการหารือระหว่างรัฐบาล” 

 

จับตากำลังซื้อใหม่จากนักธุรกิจเมียนมา ขนเงินสดลงทุนอสังหาไทย

 

อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจไทยเองก็ต้องปรับตัว โดยการปรับแผนจากเดิมที่เข้าไปลงทุนในเมียนมา ก็ต้องปรับด้วยการดึงดูดนักลงทุนเมียนมามาไทย ซึ่งน่าสนใจว่า ชาวเมียนมาในกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อนั้นเป็นกลุ่มนักลงทุนที่มีเงินสดสูง ถ้าเราสามารถดึงเขามาลงทุนในไทยได้จะเป็นประโยชน์

 

“โดยเนเจอร์นักธุรกิจเมียนมามีเงิน และลงทุนโดยการซื้อเงินสด โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ ชาวเมียนมามาซื้อคอนโดไทยมากขึ้นอย่างมาก กว้านซื้อคอนโดสุขุมวิทจำนวนมาก จนทำให้ขณะนี้ชาวเมียนมามาทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในไทยมากสุดเป็นอันดับ 3 รองจากจีนและรัสเซีย”

 

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายธุรกิจที่ชาวเมียนมาสนใจมาลงทุนในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนด้านการศึกษา อาหาร พลังงาน เครื่องสำอาง และอีกหลายเซ็กเตอร์ ซึ่งสัปดาห์หน้าสภาธุรกิจไทย-เมียนมาจะพานักธุรกิจไทยเดินทางไปโรดโชว์ที่เมียนมา เพื่อดึงดูดนักลงทุนเมียนมามาลงทุนในไทย 

 

สำหรับไทยกับเมียนมา ถือเป็นประเทศที่มีการค้าชายแดนร่วมกันใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศเพื่อนบ้าน 

 

ข้อมูลจากกรมการค้าต่างประเทศระบุว่า ไทยและเมียนมามีการค้าร่วมกันมากถึง 257,620 ล้านบาทต่อปี 

 

ไทยขาดดุลการค้า 751 ล้านบาท และมีด่านชายแดนสำคัญ ได้แก่ ด่านแม่สอด โดยไทยส่งออก 93,747 ล้านบาท นำเข้า 13,311 ล้านบาท

รองลงมาเป็นด่านสังขละบุรี ส่งออก 1,292 ล้านบาท นำเข้า 71,456 ล้านบาท

ด่านประจวบคีรีขันธ์ ส่งออก 1,008 ล้านบาท นำเข้า 36,856 ล้านบาท

ด่านระนอง ส่งออก 15,477 ล้านบาท นำเข้า 5,876 ล้านบาท 

 

สินค้าส่งออกส่วนใหญ่ของไทยเป็นน้ำมันดีเซล น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันปาล์ม ขณะที่สินค้านำเข้า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ ธัญพืช และสัตว์น้ำ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X