×

2 ปีหลังรัฐประหาร แอมเนสตี้เรียกร้องปฏิบัติการระดับโลก เพื่อยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนของกองทัพเมียนมา

โดย THE STANDARD TEAM
01.02.2023
  • LOADING...
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้มีปฏิบัติการระดับโลก เพื่อร่วมยืนหยัดเคียงข้างประชาชนชาวเมียนมา ก่อนครบวาระ 2 ปีของการก่อรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ พร้อมรณรงค์ให้กองทัพเมียนมายุติการละเมิดสิทธิมนุษยชน หลังจากที่ยังคงเดินหน้าจับกุมผู้เห็นต่างโดยพลการ มีการซ้อมทรมาน และสังหารพลเรือนโดยไม่ต้องรับผิดอย่างต่อเนื่อง

 

นับตั้งแต่การทำรัฐประหารเมื่อปี 2021 ประชาชนเกือบ 3,000 รายถูกสังหาร ขณะที่ราว 1.5 ล้านรายต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นฐานภายในประเทศ และอีกกว่า 13,000 รายยังคงถูกควบคุมตัวในสภาพที่ไร้มนุษยธรรม โดยมีรายงานการประหารชีวิตประชาชนพลเรือน 4 ราย และมีผู้ต้องโทษประหารชีวิตอย่างน้อย 100 ราย ขณะที่เด็กชาวเมียนมาอีกกว่า 7.8 ล้านรายทั่วประเทศต้องออกจากโรงเรียน

 

การที่กองทัพเมียนมาเดินหน้าประหัตประหารชีวิตพลเรือนที่ถูกมองว่าต่อต้านระบอบทหารของตนเองนั้น มีส่วนช่วยแผ่ขยายบรรยากาศของความหวาดกลัวให้กระจายเป็นวงกว้างมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง รวมถึงการโจมตีทั้งทางอากาศและทางบกต่อพลเรือน

 

มิงยู ฮาห์ รองผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาค ฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าสาเหตุที่กองทัพเมียนมายังคงสามารถละเมิดสิทธิมนุษยชนของพลเรือนทั่วทั้งประเทศได้เช่นนี้ เป็นเพราะทั่วโลกยังไม่ดำเนินการอย่างเพียงพอเพื่อแก้ไขวิกฤตครั้งนี้ ซึ่งกำลังกลายเป็นความเสี่ยงที่ถูกหลงลืมไป

 

“เราไม่สามารถปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ได้อีกต่อไป ในโอกาสครบรอบ 2 ปีรัฐประหารในครั้งนี้ ต้องเน้นย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีปฏิบัติการระดับโลกจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะจากอาเซียน เพื่อคุ้มครองประชาชนในเมียนมา ซึ่งยังคงอยู่ใต้การกดขี่ของกองทัพเมียนมามาโดยตลอด”

 

ท่ามกลางอันตรายและการประหัตประหารอย่างร้ายแรง ยังมีผู้คนที่กล้าหาญในเมียนมาที่ยืนหยัดชุมนุมประท้วงโดยสงบต่อไป ก่อนจะถึงโอกาสครบรอบเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ร่วมชุมนุมประท้วงโดยการจัดงานรำลึกและกิจกรรมอื่นๆ ในหลายเมืองทั่วโลก รวมทั้งที่กรุงเทพมหานครและกรุงโซล เพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับประชาชนในเมียนมา

 

“การออกมาพูดเพื่อประชาชนในเมียนมาที่เสี่ยงต่อการถูกจำคุกอย่างยาวนาน การตกเป็นเหยื่อของการทรมานและการถูกสังหารระหว่างการควบคุมตัว เพื่อเเสดงการต่อต้านโดยสงบ ไม่ใช่การกระทำที่เป็นแค่เพียงเรื่องเล็กน้อยเท่านั้น แต่เป็นการแสดงพลังยืนหยัดเคียงข้างพวกเขา ซึ่งนั้นเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งในตอนนี้ เพราะทำให้พวกเขามีกำลังใจมากขึ้น ช่วยให้พวกเขาเห็นว่าพวกเขาไม่ได้อยู่ในช่วงเวลาอันมืดมนนี้เพียงลำพัง”

 

โดยองค์การสหประชาชาติและรัฐบาลทั่วโลกจะต้องดำเนินงานมากกว่าแค่การส่งข้อความให้กำลังใจ แม้มติเมื่อเร็วๆ นี้ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ​เกี่ยวกับเมียนมาจะถือว่าเป็นเรื่องน่ายินดี แต่รัฐบาลทั่วโลกต้องเพิ่มการดำเนินงาน โดยต้องกดดันกองทัพเมียนมามากขึ้น เพื่อให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังโดยพลการ เพียงเพราะพวกเขาใช้สิทธิมนุษยชนของตนโดยสงบ

 

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติต้องเสนอกรณีเมียนมาเข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศ ทั้งยังจะต้องบังคับใช้ข้อตกลงระดับโลกอย่างการห้ามซื้อขายอาวุธกับเมียนมา ซึ่งครอบคลุมถึงอาวุธ ยุทธภัณฑ์ เทคโนโลยีที่มีประโยชน์ทั้งทางทหารและพลเรือน และอุปกรณ์ด้านการทหารและความมั่นคง การอบรม และความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ

 

รัฐและบริษัทต่างๆ จะต้องระงับการจัดหา ซื้อขาย และส่งมอบทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งการเป็นประเทศทางผ่าน การขนถ่ายสินค้าระหว่างอยู่ในทะเล และการเป็นนายหน้าเพื่อจัดหาเชื้อเพลิงอากาศยานให้กับเมียนมา จนกว่าจะมีมาตรการที่มีประสิทธิภาพเพื่อประกันว่าจะไม่มีการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานเพื่อสนับสนุนการละเมิดร้ายแรงต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ หรือกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ

 

“สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมาเป็นเรื่องที่เกินจะยอมรับได้ ประชาชนในเมียนมาต้องทนทุกข์ทรมานทุกวัน และไม่มีเวลาเหลืออีกต่อไปแล้ว ในขณะที่รัฐบาลหลายประเทศรับฟังข้อเสนอให้มีปฏิบัติการ แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะยุติการละเมิดที่ร้ายแรงของกองทัพได้ ประชาคมโลกต้องไม่รีรออีกต่อไป ไม่ว่าจะสองปีหรือแม้แต่วันเดียว ในการดำเนินมาตรการที่มีประสิทธิภาพเพิ่มเติม เพื่อยุติการกระทำที่โหดร้ายของกองทัพเมียนมา”

 

ภาพ: AFP

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X