×

My Buddha Is Punk

05.10.2017
  • LOADING...

My Buddha Is Punk: พังก์ และ พุทธ กับวิถีชีวิตที่เลือกได้เอง

     ผมสี หัวหนาม ใส่ผ้าปิดปาก เจาะร่างกาย รอยสักเต็มตัว

     ถ้าเห็นแก๊งวัยรุ่นกลุ่มนี้เดินอยู่กลางถนน คุณคิดว่าพวกเขารวมตัวกันเพื่อทำอะไร?

     ขี่มอเตอร์ไซค์ กวนเมือง โวยวาย ทำลายข้าวของ น่าจะเป็นคำตอบแรกๆ ที่พอจะนึกขึ้นได้ แต่ ‘คยอว คยอว’ (Kyaw Kyaw) ฟรอนต์แมนแห่งวง The Rebel Riot และเพื่อนๆ ชาวพังก์ที่รวมตัวกันในชื่อ Common Street กำลังทำอยู่คือ การเดินขบวนเพื่อเรียกร้อง ‘สันติภาพ’ และ ‘ความเมตตา’ ให้กับเพื่อนมนุษย์

 

 

     My Buddha Is Punk คือสารคดีของ อันเดรียส ฮาร์ตมานน์ ผู้กำกับชาวเยอรมัน ที่ไม่ได้แค่ ‘เล่าเรื่อง’ แต่พาทุกคนไป ‘ดู’ ให้เห็นถึงชีวิตและความคิดของชาวพังก์ในพม่า

     ความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในยุคหลัง ทำให้สังคมพม่ามีวัฒนธรรมย่อย (subculture) เกิดขึ้นมากมาย หนึ่งในนั้น ‘ดนตรีพังก์’ คือซับคัลเจอร์ที่ค่อยๆ มีบทบาททางสังคมมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

     เพราะถึงแม้ว่าตอนนี้พม่าจะเริ่มกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย แต่รัฐบาลเผด็จการชุดเก่าก็ยังมีอำนาจ เคลื่อนไหว และบงการนโยบายต่างๆ อย่างลับๆ จุดนี้เองที่ คยอว คยอว รู้ว่าเขาต้องทำอะไรบางอย่าง เพื่อส่งสารบอกผู้คนในสังคมให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นผ่านการใช้ดนตรีพังก์ เพื่อตั้งคำถามถึงโครงสร้างต่างๆ ตั้งแต่รัฐบาลทหาร การศึกษา สภาพความเป็นอยู่ ไปจนถึงศาสนาที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทำลายชีวิตผู้คน (กรณีที่ชาวพุทธชาตินิยมสุดโต่งมีส่วนร่วมกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวมุสลิมโรฮีนจาในรัฐยะไข่)

     คยอว คยอว คือตัวอย่างของคนที่เต็มไปด้วยความหลงใหลในสิ่งหนึ่งอย่างบ้าคลั่ง จนเรียกสิ่งสิ่งนั้นได้ว่าเป็น ‘ศาสดา’ เพราะในทุกวินาทีของชีวิต เขาไม่เคยใช้กับอย่างอื่น นอกจากหมกมุ่น ครุ่นคิด อยู่ในห้องซ้อมเล็กๆ พร้อมกับเครื่องดนตรีเก่าๆ เพื่อที่จะพาดนตรีพังก์ของเขาดำเนินต่อไปให้ไกลที่สุด

     ในขณะที่อีกพาร์ตหนึ่ง คยอว คยอว คือพุทธศาสนิกชนที่ใช้เวลาว่างวางเครื่องดนตรีแล้วเดินเข้าวัด ทำบุญและนั่งสมาธิไม่ต่างจากชาวพุทธทั่วไป ที่แตกต่างออกไปคือเขาศึกษาหลักธรรมคำสอนอย่างเคร่งครัด เขาสามารถพูดถึงหลักกาลามสูตรได้อย่างชัดเจน รวมทั้งยังฝากข้อคิดให้กับ ‘ชาวพุทธ’ ที่ยึดติดกับการกราบไหว้ ‘รูปเคารพ’ ของพระพุทธเจ้าและขอพรอย่างไม่ลืมหูลืมตาได้อย่างแสบทรวง

 

 

     หนังดำเนินเรื่องไปอย่างเนิบช้า ไม่มีไฮไลต์โดดเด่น ไม่มีฉากแสดงคอนเสิร์ตที่แฟนเพลงกระโดดโลดเต้น ให้คนดูรู้สึกสะใจตามแบบสูตรสำเร็จของภาพยนตร์หรือสารคดีควรจะเป็น เพราะกระทั่งตัวของคยอว คยอว เองก็ยังไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าเสียงเพลงของเขาจะมีพลังมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างที่คิดหรือเปล่า เพราะสุดท้าย สิ่งที่เขาทำยังอยู่แค่กระบวนการเริ่มต้นที่ยังต้องส่งต่อเจตนารมณ์ไปสู่ชาวพังก์รุ่นต่อไป ที่ยังไม่มีอะไรยืนยันว่าจะมีคนเดินทางเข้าสู่เส้นทางนี้จริงๆ หรือไม่

     เหมือนในฉากสุดท้ายที่แค่ คยอว คยอว จะเดินข้ามถนน ก็ยังไม่มีรถคันไหนหยุดให้เขาเดินผ่าน เหมือนอย่างที่เพลงของเขาก็ยังไม่มีคนยอมเปิดใจรับฟังเท่าไหร่นัก แต่เขาก็ยังไม่หยุดเล่นดนตรีพังก์ เพราะเขามั่นใจแล้วว่านี่คือ ‘วิถีชีวิต’ ที่เลือกแล้วด้วยตัวเอง

     อย่าลืมว่าในสมัยพุทธกาล ก็เป็นเพราะความ ‘พังก์’ ไม่เห็นด้วยกับวิธีการพ้นทุกข์ในวิถีแบบเดิมไม่ใช่หรือ ที่ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะ นำตัวเองไปสู่การค้นพบทางเลือกใหม่ และกลายเป็นองค์ศาสดาแห่งพระพุทธศาสนามาอย่างยาวนานจนถึงทุกวันนี้

     ถ้ามองในมุมนี้ คยอว คยอว เองก็คงไม่ใช่ ‘ขบถ’ แบบที่เขานิยามตัวเองเอาไว้ เขาเป็นเพียงแค่คนคนหนึ่งที่เชื่อมั่นในวิถีชีวิต และศาสดาที่เขาเรียกว่า ‘พังก์’ และดำเนินตามเส้นทางนั้นด้วยความมุ่งมั่นเท่านั้นเอง

 

ตัวอย่างหนัง

เพลง Demonstration จากวง The Rebel Riot

 

  • LOADING...

READ MORE



Latest Stories

Close Advertising
X