×

ว่าด้วยมุสลิมกับความท้าทายในโลกยุคใหม่

19.08.2024
  • LOADING...

ศาสนาของโลกอย่างคริสต์ พุทธ และอิสลาม ฟันฝ่ามาได้ยาวไกลจวบจนทุกวันนี้ ก็เพราะความยืดหยุ่นในตัวและการเปิดช่องว่างให้ผู้ศึกษาและผู้ศรัทธาได้ประยุกต์หลักศาสนาเข้ากับสถานการณ์ใหม่ๆ ที่ถาโถมเข้ามาเป็นระลอก ตั้งแต่สงครามในนามศาสนาระหว่างกัน หลักคิดปรัชญาที่ถกเถียงจากปวงปราชญ์ของแต่ละศาสนา และต้องเผชิญกับการตีความที่แตกต่างกันในหมู่ปัญญาชนที่ยึดถือศาสนาเดียวกัน ที่วิสาสะผ่านงานเขียนสู่ตำรับตำรา จนถึงการเดินทางจากอาณาจักรสู่อีกอาณาจักร จากเมืองสู่ชนบท

 

ปัญหาทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เกิดจากมนุษย์ที่เรียนรู้ความแตกต่างกันและกัน

 

ศาสนาอิสลามก็เช่นกัน ได้เปิดช่องอย่างมากสำหรับการคิดใคร่ครวญและใช้สติปัญญาในการประยุกต์ใช้ เพราะ ซูเราะฮฺ (บท) หนึ่งในอัลกุรอานอาจกล่าวอย่างหนึ่ง แต่อีกซูเราะฮฺ (บท) อาจพูดในทางตรงกันข้ามกับซูเราะฮฺก่อนหน้า

 

สิ่งนี้ต่างหากที่ชวนเราตั้งข้อสังเกตว่าตัวบทคัมภีร์อัลกุรอานนั้นเชิญชวนและเรียกร้องให้ผู้ศรัทธาศึกษาอย่างละเมียดละไม เพื่อเข้าใจที่มาของตัวบทและวัตถุประสงค์การประทานโองการแต่ละช่วงเวลา รวมทั้งเพื่อนำประวัติศาสตร์ศาสนาอิสลามเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้กับความเปลี่ยนแปลงของสังคมมุสลิมและสังคมที่ไม่ใช่มุสลิม

 

ราวศตวรรษที่ 17 มุสลิมในโลกอาหรับเคยได้รับชัยชนะเหนือดินแดนฝั่งตะวันออกของเมดิเตอร์เรเนียนโดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ เพราะชาวคาทอลิกตะวันออกในยุคนั้นอ้าแขนรับมุสลิมในฐานะผู้ช่วยปลดปล่อยตนจากการกดขี่ของคริสตจักรไบแซนไทน์

 

ราวสองร้อยปีที่แล้ว นักประพันธ์และนักกวีชาวเยอรมันชื่อก้องโลกอย่าง ‘เกอเธ่’ เริ่มอ่าน ‘Divan’ งานรวมบทกวีของฮาฟิซ ปราชญ์ชาวเปอร์เซีย ห้าปีต่อมา เกอเธ่ถึงกับอุทิศผลงานของตนเองเป็นเกียรติแก่ชาวมุสลิมแห่งโลกตะวันออก โดยใช้ชื่อว่า ‘West-Eastern Divan’

 

นักคิดตะวันตกอย่างเกอเธ่ประทับใจยิ่งนักกับมุมมองอิสลามแบบเปิดกว้างของฮาฟิซ เขามั่นใจว่าจิตวิญญาณเสรีเช่นนี้ไม่มีทางเกิดขึ้นได้จากแนวคิดอิสลามที่เน้นการควบคุมเบ็ดเสร็จ และกักขังความคิดคนในสังคมให้แช่แข็งอยู่กับอดีตมิติเดียว

 

นักวิชาการด้านอิสลามอย่าง โธมัส บาวเออร์ จากมุนสเตอร์ ประเทศเยอรมนี ก็เคยนำเสนอว่า ‘Tolerance of Ambiguity’ หรือ ‘การทนต่อความคลุมเครือ’ เพื่อนิยามอิสลามยุคคลาสสิกที่ปรากฏในงานของฮาฟิซ

 

จะเห็นได้ว่าช่วงหลายร้อยปีระหว่างอิสลามยุคแรกกับอิสลามยุคใหม่นั้นมีการตีความอัลกุรอานที่แตกต่างกันออกไปและหลากหลายอย่างมาก อีกทั้งยังกล่าวเรื่องเดียวกันแบบมีหลายนัย ซึ่งฮาฟิซก็นำมาใช้และตีความโดยไม่เคยรู้สึกว่าเป็นสิ่งกวนใจของสังคมยุคนั้น ในทางกลับกัน ถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสังเกตคือความหลากหลายในการตีความเหล่านั้นเพิ่งจะมาหดหายไปจากสังคมมุสลิมเมื่อถูกผลักสู่โลกยุคใหม่ อาจเป็นสาเหตุที่ต้องเผชิญกับความไม่ปกติใหม่ของโลกในทุกเมื่อเชื่อวันทั้งที่เกิดขึ้นในสังคมมุสลิมและไม่ใช่สังคมมุสลิม

 

หากจะกล่าวให้ชัดก็คือ อารยธรรมอิสลามชี้ให้เห็นว่าการตีความศาสนานั้นมีความหลากหลายขึ้นนับตั้งแต่ช่วงวัย เพศ และชนชั้น ในทางกลับกัน ปรากฏการณ์เหล่านี้ผลักดันให้มุสลิมส่วนหนึ่งไขว่คว้าความจริงแบบหนึ่งเดียวที่ยอมรับทั่วกัน เพื่อความสะดวกสบายต่อปัญญาในการทำความเข้าใจ ไม่ต้องการรับรู้ปัญหาเชิงซ้อนทางสังคมและเพื่อนมนุษย์ในยุคใหม่

 

หากจะวิเคราะห์แบบตรงไปตรงมา อาจเป็นเพราะความกลัวที่จะตกต่ำทางปัญญาและอำนาจความรู้ที่เคยรุ่งโรจน์ในอาณาจักรอิสลาม และมุสลิมจำนวนหนึ่งเลือกที่จะปกป้องศาสนาแบบใช้การด่าทอผู้คนที่คิดเห็นต่าง ร้องป่าวประกาศเหมือนกับการล่าแม่มดในยุคกลาง สร้างอุปาทานหมู่ ทำให้ผู้คนเกิดความกลัว ตั้งตัวเป็นสารตั้งต้นสร้างความแตกตื่นทางศีลธรรมอย่างตื้นเขิน แต่ได้รับความนิยมชมชอบในโลกออนไลน์

 

ทุกวันนี้กลับกลายเป็นว่า เมื่อนึกถึงมุสลิม โลกก็จะนึกถึง ‘การไม่ทนต่อความคลุมเครือ’ เมื่อกลุ่มมุสลิมบางกลุ่มอ้างตนว่าเป็นตัวแทนของอิสลาม ‘ที่แท้จริง’ ซึ่งหมายถึงความคิดและการกระทำในทุกกระเบียดนิ้วโคจรรอบๆ ย่อมไม่เหมาะกับโจทย์ต่างๆ ของโลกยุคใหม่

 

บุคลิกภาพลักษณะนี้กลับกดทุกสิ่งให้ด้อยกว่าความจริงเดียวที่ตนมี แต่กลับตรงกันข้ามกับมุสลิมส่วนใหญ่ที่สามารถปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงรอบด้านตามเหตุปัจจัยเฉพาะหน้าที่เผชิญ และรับมือต่างๆ ด้วยพลังแห่งความสร้างสรรค์ และมีส่วนร่วมต่อผู้คนที่มีความหลากหลาย กระนั้น พวกเขาเองก็ยังคงยึดมั่นในหลักการศาสนาอย่างทรงพลัง

 

ทุกวันนี้หลายฝ่ายอ้างตัวเป็นเจ้าของอิสลามในนาม ‘นักปกป้องอิสลาม’ ใช้คำสอนศาสนาอิสลามตีความรองรับการกระทำของตน หนำซ้ำยังแสดงความคิด ความอ่าน และพร้อมจะห้ำหั่นโจมตีคนที่เห็นต่างอย่างไม่แยแสต่ออารยธรรมแห่งความหลากหลายที่เป็นมรดกเดิมของอิสลาม

 

และบ้างก็ไปไกลจนถึงขั้นนำรสนิยมส่วนตัวไปสู่การคุกคาม ละเมิดสิทธิผู้คน ทั้งมุสลิมและไม่ใช่มุสลิมที่ตนเองเห็นต่าง

 

ปรากฏการณ์ข้างต้นชี้ให้เห็นว่ามุสลิมกำลังเผชิญความท้าทายใหม่ๆ โดยเฉพาะประเด็นความหลากหลายของสังคม ตั้งแต่เรื่องอัตลักษณ์ เพศ คุณค่าของชีวิต แบบแผนชีวิต ฯลฯ ซึ่งหลายเรื่องถือว่าเป็นเรื่องใหม่ และจำเป็นต้องอาศัยการตีความที่ให้เกียรติแก่พหุความเชื่อในสังคม

 

แต่ก็อีกนั่นแหละ มุมมองที่ทื่อและตื้นเขินมักไม่ยอมรับการตีความที่หลากหลาย และอาจนำมาสู่ความเข้าใจผิดตามมา

 

ปรากฏการณ์ข้างต้นยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าสังคมมุสลิมต้องการปัญญาชน นักคิดสาธารณะ จำนวนมากขึ้น เพื่อช่วยให้ประคับประคองมรดกทางปัญญาและความหลากหลายของมุมมองที่ส่งทอดมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

 

มุสลิมส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในโลกประชาธิปไตย ไม่ว่าเป็นตุรกี อินเดีย อินโดนีเซีย หรือแม้กระทั่งมุสลิมในทวีปยุโรปที่มีเป็นจำนวนมาก โดยมีมุสลิมส่วนน้อยที่ไม่ได้อยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

 

แต่ปัญหาสำคัญคือ มุสลิมมักคิดว่าตนต้องเป็นเจ้าของอำนาจแต่เพียงผู้เดียว โดยไม่คำนึงถึงการแบ่งสรรปันอำนาจ (Power Sharing) หรือเคารพและให้เกียรติคนอื่น ซึ่งหมายรวมถึงในหมู่มุสลิมด้วยกันเอง ที่มีมุมมองและการตีความหลักคำสอนที่แตกต่างกันออกไป

 

ปัญหาเรื่องปาเลสไตน์มีคนทั่วโลกที่ไม่ใช่มุสลิมรับรู้และให้ความสนใจ รวมทั้งร่วมกันชุมนุมประท้วงเพื่อต่อต้านการใช้ความรุนแรงของอิสราเอลต่อประชาชนในปาเลสไตน์ โดยคนเหล่านั้นมองว่าการใช้ความรุนแรงไม่ชอบธรรมและไม่ยุติธรรมต่อผู้คนจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะการเสียชีวิตของผู้บริสุทธิ์ เด็ก ผู้หญิง คนชรา ฯลฯ

 

หากแต่ทว่ามุสลิมบางส่วนก็ตีความเรื่องปาเลสไตน์เหลือแค่มิติทางด้านศาสนาแต่เพียงอย่างเดียวระหว่างยิวและอิสลาม โดยย้อนไปถึงประวัติศาสตร์ความขัดแย้งทางศาสนา

 

คำถามจึงมีอยู่ว่า หากตั้งโจทย์เหลือแค่เพียงความขัดแย้งทางด้านศาสนาอย่างเดียว เราจะสามารถแก้ไขปัญหาปาเลสไตน์ได้หรือไม่

 

มุสลิมจะต้องตระหนักแล้วว่าการตีความศาสนาอิสลามแบบคับแคบนั้นไม่เหมาะกับในโลกร่วมสมัย และไร้ซึ่งพลังบวกในการแก้ไขปัญหาใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมโลก หรือแม้กระทั่งปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมมุสลิมเองก็ตาม

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising