ผ่านมาแล้วร่วม 4 สัปดาห์ที่งานดนตรีกลางแจ้งได้ถูกจัดขึ้นทั่วกรุงเทพมหานคร (กทม.) หลังชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้รับตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.)
THE STANDARD รวบรวมสถิติพื้นที่การจัดการแสดงดนตรีจากหลากหลายผู้จัด เช่น กทม., กองการสังคีต กทม., กองทัพบก, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกลุ่มอิสระจากเอกชน
งานดนตรีกลางแจ้งเป็น 1 ใน 214 นโยบายของผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ คือ ‘กรุงเทพฯ พื้นที่แห่งดนตรีและศิลปะการแสดง’ เพื่อให้คนกรุงเทพฯ ได้ชมงานแสดงดนตรี ศิลปะการแสดง ฯลฯ ได้รับความสุนทรีนอกบ้านในทุกๆ วันที่มากกว่าการชมโฆษณาระหว่างทาง ตลอดจนส่งเสริมให้ศิลปินหน้าใหม่มีพื้นที่แสดงผลงาน
ชัชชาติได้ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า กทม. เตรียมวางแผนประสานกับหน่วยงานภายนอก อาทิ กองทัพบก เพื่อกระจายงานดนตรีไปยังพื้นที่รอบนอก ไม่ได้จัดเฉพาะในเมือง เพื่อให้ประชาชนไม่ต้องเดินทางไกล ซึ่งเป็นมิติที่ง่ายโดยไม่ต้องลงทุน เพราะมีศิลปินจำนวนมากที่พร้อมจะให้ความร่วมมือ และ กทม. ยินดีประชาสัมพันธ์ให้หากมีกลุ่มงานใดประสงค์จะร่วมพัฒนากรุงเทพฯ ไปด้วยกัน
ทั้งนี้ นี่ไม่ใช่การจัดงานดนตรีในสวนครั้งแรกใน กทม. เนื่องจากงานดนตรีในสวนจัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่สวนลุมพินี ในปี 2536 หลังจากนั้นก็มีการจัดต่อเนื่องมาโดยตลอด (ยกเว้นบางปีที่โควิดระบาดหนัก) ที่ผ่านมาการจะจัดแสดงดนตรีจำเป็นต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ นโยบายของชัชชาติจึงหวังขจัดความซับซ้อนลง และเปิดพื้นที่ภายใต้การดูแลของ กทม. รวมถึงสถานีรถไฟฟ้าสายสีเขียว (ส่วนต่อขยาย) สายสีทอง สกายวอล์ก และป้ายรถเมล์ทั่วกรุงเทพฯ ให้สามารถจัดแสดงงานศิลปะทุกแขนงได้โดยอิสระ
ภาพประกอบ: ธิดามาศ เขียวเหลือ