×

ชมจิตรกรรมฝาผนังรูปพระมหาชนก บ้านมหาดเล็กคนสนิทของ ร.5 และตึกยาวแห่งโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

28.11.2020
  • LOADING...
ชมจิตรกรรมฝาผนังรูปพระมหาชนก บ้านมหาดเล็กคนสนิทของ ร.5 และตึกยาวแห่งโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

 

 

วัดราชผาติการามวรวิหาร

ต้นกำเนิดพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก

 

History

ย้อนกลับไปสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อมีชาวญวณอพยพหนีภัยสงครามเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร พระองค์ได้พระราชทานที่ดินบริเวณทุ่งสามเสนให้สำหรับเป็นที่ตั้งบ้านเรือน ซึ่งบนพื้นที่นี้เองที่ได้ค้นพบวัดร้างสมัยอยุธยาชื่อว่า ‘วัดส้มเกลี้ยง’ ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 4 พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระอนุชาธิราชสร้างวัดขึ้นใหม่บนที่ดินเหนือวัดส้มเกลี้ยง ก่อนจะมาแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 5 และได้รับพระราชทานนามใหม่จากรัชกาลที่ 8 ว่าวัดราชผาติการาม อันหมายถึงวัดที่พระมหากษัตริย์ทรงผาติกรรม หรือทำให้เจริญขึ้นนั่นเอง

 

 

Highlight

 

ระหว่างยืนหลบแดดอยู่หน้าอุโบสถ อาจารย์นัทชี้ชวนให้เราแหงนหน้ามองหน้าบันอันเป็นเอกลักษณ์ ก่อนจะเล่าว่า “ในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นสมัยที่เราเริ่มทำการค้ากับต่างชาติ โดยเฉพาะกับจีน ซึ่งเราก็รับเอาอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมมาจากเขาด้วย แต่เดิมที่โบสถ์ (พระอุโบสถ) ต้องมีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ รัชกาลที่ 3 ทรงเห็นว่าเครื่องไม้นั้นชำรุดเสียหายง่าย จึงมีพระราชดำริให้เปลี่ยนเป็นปูนเพื่อความคงทนถาวร โดยเราเรียกสถาปัตยกรรมลักษณะนี้ว่า สถาปัตยกรรมแบบพระราชนิยม”

 

 

นอกจากจะไม่ใช่หน้าบันแบบที่คุ้นตาแล้ว อาจารย์นัทยังตั้งคำถามถึงภาพที่ปรากฏบนหน้าบัน ก่อนอธิบายเพิ่มเติมว่า “ประติมากรรมที่เห็นบนหน้าบันเป็นคติความเชื่อที่เรารับมาจากจีนเช่นเดียวกัน โดยตรงกลางเป็นภาพดอกโบตั๋นที่ชาวจีนเชื่อว่าเป็นราชินีแห่งดอกไม้ สื่อถึงความมั่งคั่งรุ่งเรือง ขณะที่ด้านข้างเป็นรูปค้างคาว มีความหมายถึงความสุขและความโชคดี”

 

ขณะที่ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระเชียงแสนเวียงจันทน์ หรือ ‘หลวงพ่อสุก’ ซึ่งมีพุทธลักษณะคล้ายกับหลวงพ่อเสริม วัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ และหลวงพ่อพระใส วัดโพธิ์ชัย จังหวัดหนองคาย โดยสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้อัญเชิญมาประดิษฐานภายในพระอุโบสถตั้งแต่ครั้งแรกตั้งพระอาราม

 

 

ในส่วนที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ จิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระมหาชนก ซึ่งเชื่อว่าหลายคนอาจยังไม่เคยทราบมาก่อนว่า ต้นกำเนิดของพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนกในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เกิดขึ้น ณ พระอุโบสถวัดราชผาติการามแห่งนี้ โดยในปี 2520 พระองค์เสด็จฯ มาทรงฟังการแสดงธรรมเรื่องพระมหาชนกชาดกจากสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺมสาโร) อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ 12 ทรงเกิดความเลื่อมใสศรัทธา และทรงเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน พระองค์จึงทรงค้นคว้าชาดกเพิ่มเติม และดัดแปลงเรื่องราวให้เข้ากับยุคสมัยมากยิ่งขึ้น จนออกมาเป็นหนังสือพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนกเมื่อปี 2539 ทั้งนี้ เพื่อให้พสกนิกรเข้าถึงแก่นของพระพุทธศาสนาในเรื่องความวิริยะ อันหมายถึงความเพียรนั่นเอง

 

 

นั่นจึงเป็นที่มาของการบูรณะพระอุโบสถครั้งใหญ่ในปี 2554 โดยรัชกาลที่ 9 โปรดเกล้าฯ ให้กรมศิลปากรเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถเป็นเรื่องราวของพระมหาชนก ซึ่งมีความพิเศษอยู่ที่ฝั่งซ้ายเป็นภาพพระมหาชนกตามพระไตรปิฎก ขณะที่ฝั่งขวาเป็นภาพที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้น นับเป็นความแปลกและควรค่าแก่การมาเยี่ยมชมอย่างยิ่ง

 

Did you know?

 

รัชกาลที่ 3 ทรงสร้างและบูรณะปฏิสังขรณ์วัดแบบพระราชนิยมทั้งหมด 18 แห่งตลอดรัชสมัย เริ่มต้นที่วัดราชโอรสาราม และสิ้นสุดที่วัดเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนนทบุรี

 

 

บ้านพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ

บ้านมหาดเล็กคนสนิทของรัชกาลที่ 5

 

History

จากวัดราชผาติการาม เดินข้ามถนนขาวมาเพียง 100 กว่าเมตร เราก็มายืนอยู่หน้าอาคารรูปทรงแปลกตา ที่อาจารย์นัทเริ่มปูพื้นให้ฟังว่า สถาปัตยกรรมในประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากชาติตะวันตกในช่วงล่าอาณานิคมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนกลาง โดยเริ่มต้นจากภายในราชสำนัก ที่ปรับเปลี่ยนจากเรือนไม้เครื่องผูกเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนและยกพื้นสูง เหมือนกันกับบ้านหลังนี้ของ ‘พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ’ มหาดเล็กคนสนิทของรัชกาลที่ 5 ผู้ตามเสด็จประพาสยุโรปทั้งสองครั้งนั่นเอง

 

“แม้พระยาบุรุษฯ จะไม่ใช่สถาปนิก แต่ก็เหมือนเป็น เพราะอย่าลืมว่าการตามเสด็จประพาสยุโรปทั้งสองครั้ง ท่านคือผู้ได้ไปเห็นของจริง ซึ่งนอกจากบ้านหลังนี้ที่ท่านเป็นผู้วางแปลนและดูแลรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เองทั้งหมดแล้ว ท่านยังมีส่วนร่วมในการออกแบบพระราชวังสำคัญๆ ในสมัยรัชกาลที่ 5 อีกหลายแห่ง อย่างพระที่นั่งวิมานเมฆ พระที่นั่งอัมพรสถาน รวมถึงวังบ้านปืน (พระรามราชนิเวศน์) ที่เพชรบุรีด้วย” อาจารย์นัทให้ข้อมูลเพิ่มเติม

 

 

สำหรับบ้านบริเวณปลายถนนราชวิถีหลังนี้ เป็นบ้านที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานที่ดินและพระราชทรัพย์สำหรับปลูกที่พักอาศัยให้กับพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ เพื่อให้สะดวกแก่การไปว่าราชการ โดยในปี 2448 รัชกาลที่ 5 พร้อมด้วยรัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จฯ มาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลขึ้นบ้านใหม่ด้วยพระองค์เองอีกด้วย

 

 

Highlight

 

ด้วยความที่บ้านพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภออกแบบโดยมาริโอ ตามานโญ และอันนิบาเล ริกอตติ สองนายช่างชาวอิตาเลียนผู้ออกแบบพระที่นั่งอนันตสมาคม จึงทำให้บ้านหลังนี้มีศิลปะอันทรงคุณค่าให้ได้ชื่นชมในหลากหลายจุด ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรมแบบวิกตอเรียนโกธิก ภาพเขียนสีปูนแห้งลวดลายดอกไม้แบบยุโรป ดาวเพดานศิลปะแขกมัวร์ งานจิตรกรรมรูปนกอินทรีและดอกบัวแบบอียิปต์ ช่องหน้าต่างเล็กบนหลังคา งานไม้สักประดับแบบอิงลิชโกธิก ตลอดจนรูปทรงอาคารหอคอยแบบยุโรป ซึ่งล้วนแล้วแต่ผสมผสานเข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน 

 

 

ขณะที่ในบริเวณเดียวกันก็ยังมีกลุ่มเรือนบริวารอีก 3 หลัง ซึ่งหนึ่งในนั้นมีการค้นพบว่าเคยเป็นที่พำนักของคอร์ราโด เฟโรจี หรือ ‘ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี’ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยอาคารสีเหลืองนวลตาสไตล์วิกตอเรียนโกธิกผสมไทย เชื่อว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 ปัจจุบันเปิดเป็นคาเฟ่และร้านอาหาร Craftsman ซึ่งภายในยังคงอนุรักษ์โครงสร้างแบบเดิม พร้อมจัดแสดงภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์กับครอบครัวเมื่อครั้งเคยอาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้ รวมถึงนิทรรศการผลงานของอาจารย์เกี่ยวกับการสร้างอนุสาวรีย์ในประเทศไทยด้วย

 

Did you know?

 

บ้านพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในปี 2521 ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของสำนักงานตรวจบัญชีกองทัพบก

 

 

ตึกยาว 

จิตวิญญาณของชาวสวนกุหลาบ

 

History

จากสะพานซังฮี้ เราเดินทางมายังอีกหนึ่งสะพานข้ามเจ้าพระยาอย่างสะพานพุทธฯ ที่ใกล้ๆ กันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนรัฐบาลแห่งแรกของประเทศไทย ที่นี่เราได้พบกับ ‘อาจารย์นพมณี ทองธรรมชาติ’ ซึ่งเล่าประวัติของโรงเรียนให้ฟังว่า เมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จขึ้นครองราชย์ในปี 2411 พระองค์ทรงปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนเป็นครั้งแรกในสยาม ณ พระตำหนักสวนกุหลาบ อดีตที่ประทับของพระองค์เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ เรียกว่า ‘โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ’ เพื่อเป็นสถานที่สำหรับฝึกหัดของบรรดาหม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ให้เป็นทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 

 

ต่อมากิจการของทางโรงเรียนได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นจนเกินตำแหน่งนายทหารมหาดเล็ก พระองค์จึงตัดสินพระทัยให้เปลี่ยนจากโรงเรียนฝึกหัดทหารเป็นโรงเรียนสำหรับพลเรือน เพื่อส่งเสริมการศึกษาให้กับประชาชนทั่วไปให้กลายมาเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศชาติในอนาคต

 

 

หลังจากนั้น ด้วยความที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบมีนักเรียนจำนวนมาก จึงเริ่มขยับขยายออกนอกรั้ววัง กระจัดกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ และเหลือชื่อเพียง ‘โรงเรียนสวนกุหลาบ’ ต่อด้วยชื่อสถานที่ตั้งแต่ละแห่ง เช่น สวนกุหลาบวัดมหาธาตุ สวนกุหลาบวังหน้า สวนกุหลาบสุนันทาลัย เป็นต้น กระทั่งได้มีการพิจารณาพื้นที่บริเวณแยกจักรเพชรให้เป็นที่ตั้งถาวรของโรงเรียนสามัญต้นแบบแห่งแรกในประเทศไทยในชื่อ ‘โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย’ นับตั้งแต่ปี 2425 เป็นต้นมา

 

 

Highlight

 

สำหรับสิ่งปลูกสร้างที่อยู่คู่กับโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยมาตั้งแต่ยุคแรกเริ่มก็คือ อาคารสวนกุหลาบ หรือที่ชาวสวนฯ รู้จักกันดีในชื่อ ‘ตึกยาว’ เป็นอาคารที่รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อใช้สำหรับการเรียนการสอน โดยพระองค์เสด็จฯ มาเยี่ยมชมการก่อสร้างด้วยพระองค์เองเมื่อปี 2453 ถือเป็นอาคารที่สะท้อนถึงการพัฒนาเมืองในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการตัดถนนและสร้างตึกแถว เพื่อพัฒนาพื้นที่ในพระนครให้เกิดประโยชน์

 

สำหรับตึกยาวสูง 2 ชั้นแห่งนี้ มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่เรียบง่าย สลับห้องเรียนขนาดเล็กกับขนาดใหญ่ นับเป็นอาคารเรียนที่มีความยาวที่สุดในประเทศไทย โดยยาวถึง 198.35 เมตร มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิก โดดเด่นด้วยซุ้มโค้ง ทิวเสา และปูนปั้น

 

อาจารย์นพมณียังเล่าถึงการผ่านร้อนผ่านหนาวของตึกยาวอายุกว่าร้อยปีแห่งนี้ด้วยว่า “ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิด โดยมีเป้าหมายอยู่ที่โรงไฟฟ้าใกล้กับวัดราชบูรณะ แต่ด้วยกระแสลมจึงทำให้ระเบิดพัดไปลงที่สะพานพุทธฯ วัดราชบูรณะ และตึกยาวของโรงเรียนเพาะช่าง ขณะที่ตึกยาวของโรงเรียนสวนกุหลาบได้รับความเสียหายบางส่วน กระทั่งปี 2538 ตึกยาวเริ่มชำรุดทรุดโทรม กระเบื้องเริ่มหลุดร่อน มีการประชุมหารือว่าควรจะบูรณะอย่างไรดี ซึ่งในที่สุด ด้วยความร่วมมือร่วมใจของทางโรงเรียนและศิษย์เก่าสวนกุหลาบ จึงได้มีการบูรณะครั้งใหญ่ให้สมกับที่ตึกยาวหลังนี้คือจิตวิญญาณของสวนกุหลาบวิทยาลัย”

 

 

ปัจจุบันชั้นล่างของตึกยาวทำหน้าที่เป็น ‘พิพิธภัณฑ์การศึกษาแห่งชาติ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย’ จัดแสดงประวัติการก่อตั้งโรงเรียน ทำเนียบศิษย์เก่าผู้มีชื่อเสียง ตลอดจนนิทรรศการเกี่ยวกับตึกยาวที่ชื่อ ‘คนสร้างตึก ตึกสร้างคน คนสร้างชาติ’ ด้วย

 

Did you know?

 

โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยเป็นโรงเรียนที่มีศิษย์เก่าเป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดในประเทศไทยถึง 8 คน ได้แก่ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา, ทวี บุณยเกตุ, ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช, ปรีดี พนมยงค์, ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, ศ.ธานินทร์ กรัยวิเชียร, พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ และ พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์

 

ภาพ: เคทีซี หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินชมรม KTC

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

FYI
  • สถานที่ทั้ง 3 แห่ง ไม่เปิดให้เข้าชมในวันและเวลาปกติ ต้องนัดหมายล่วงหน้าเท่านั้น
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising