คลื่นความร้อนได้เข้าปกคลุมพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของออสเตรเลีย ส่งผลให้อุณหภูมิพุ่งสูงในหลายเมืองใหญ่ และสุ่มเสี่ยงเกิดไฟป่าในหลายรัฐ
รัฐบาลท้องถิ่นเมืองแอดิเลด เมืองเอกของรัฐเซาท์ออสเตรเลีย ต้องประกาศเตือนภัยฉุกเฉิน หลังไฟป่าได้ปะทุขึ้นบริเวณพื้นที่เนินเขาหลายแห่งใกล้ตัวเมือง โดยควันจากไฟป่าได้ลอยบดบังท้องฟ้าในเมืองจนกลายเป็นสีเทาหมอง ประชาชนต้องใส่หน้ากากอนามัยเวลาออกจากบ้าน
อากาศที่ร้อนขึ้นและมีลมกระโชกแรงทำให้เพลิงลุกโหมหนัก จนตอนนี้เผาวอดพื้นที่ป่าไปแล้วกว่า 15,600 ไร่ (2,500 เฮกตาร์) โดยหน่วยดับเพลิงแห่งรัฐเซาท์ออสเตรเลียรายงานว่า ไฟป่าอาจเผาทำลายบ้านเรือนไปแล้วหลายหลัง แต่ยังไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บ
ขณะที่รัฐวิกตอเรียที่อยู่ติดกันก็เผชิญความเสี่ยงไฟป่าที่ร้ายแรงที่สุดในรอบ 12 เดือน โดยที่เมืองเมลเบิร์น ซึ่งเป็นเมืองเอกนั้น คลื่นความร้อนส่งให้อุณหภูมิพุ่งสูงเกือบ 30 องศาเซลเซียส ตอนเวลา 07.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น และตลอดวันนี้ คาดว่าอุณหภูมิอาจแตะ 40 องศาเซลเซียสได้ ส่วนที่ซิดนีย์อากาศร้อนอบอ้าวเกิน 30 องศาเซลเซียสเข้าวันที่ 3 แล้ว
กระทรวงสาธารณสุขร้องขอให้ประชาชนอาศัยอยู่แต่ในบ้าน และหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ขณะที่ประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้จุดเกิดไฟป่า ทางการเตือนให้อย่าหายใจเอาควันไฟเข้าร่างกาย โดยเฉพาะกับประชาชนที่ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับปอดและหัวใจอยู่แล้ว
นับแต่คลื่นความร้อนได้เข้าปกคลุมเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (22 มกราคม) กรมอุตุนิยมวิทยาของออสเตรเลียได้ประกาศเตือนภัยคลื่นความร้อนแล้วในหลายรัฐ คือ เซาท์ออสเตรเลีย วิกตอเรีย นิวเซาท์เวลส์ แทสเมเนีย และควีนส์แลนด์ โดยคาดว่าคลื่นความร้อนจะอยู่จนถึงกลางสัปดาห์นี้ จากมวลอากาศร้อนที่จะยังเคลื่อนตัดผ่านประเทศไปทางตะวันออก
อย่างไรก็ดี หากเทียบกับไฟป่ารุนแรงและสถานการณ์คลื่นความร้อนเมื่อปีที่แล้ว ฤดูร้อนของออสเตรเลียในปีนี้ถือว่าเย็นกว่าและมีฝนตกมากขึ้น ซึ่งนักอุตุนิยมวิทยาชี้ว่า เป็นผลจากปรากฏการณ์ ‘ลานีญา’ หรือการที่อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลางตะวันออก ต่ำกว่าปกติ 3-5 องศาเซลเซียส
หน่วยงานทางวิทยาศาสตร์และสภาพอากาศระบุว่า ออสเตรเลียมีอุณหภูมิสูงขึ้นเฉลี่ย 1.4 องศาเซลเซียส นับแต่เริ่มบันทึกตัวเลขสภาพอากาศเมื่อปี 1910
อากาศที่ร้อนขึ้นนี้นำมาสู่ภัยธรรมชาติที่เชื่อมโยงกับอากาศร้อนจัด รวมถึงจำนวนวันอันตรายจากไฟป่าที่เพิ่มขึ้นด้วย โดยปี 2019 ถือเป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ของออสเตรเลีย เพราะมี 33 วันที่อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งประเทศพุ่งสูงเกิน 39 องศาเซลเซียส
ภาพ: Farooq Khan / AFP
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: