×

เยอรมนีออกโรงเตือน EU อย่าประมาท เร่งบริหารจัดการพลังงาน ป้องกันวิกฤตขาดแคลน

24.02.2023
  • LOADING...

Klaus Müller หัวหน้าหน่วยงานเครือข่ายของรัฐบาลกลาง (Federal Network Agency) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลและบริหารจัดการโครงข่ายขนาดใหญ่ของเยอรมนี ได้แก่ ไฟฟ้า ท่อขนส่งก๊าซ โทรคมนาคม รางรถไฟ และไปรษณีย์ ออกโรงเตือนถึงบรรดาประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ระหว่างให้สัมภาษณ์พิเศษกับทางสำนักข่าว AP ว่าวิกฤตพลังงานของ EU ยังไม่คลี่คลาย แม้ว่าราคาพลังงานในขณะนี้จะปรับตัวลดลง และปริมาณก๊าซที่สำรองไว้ในขณะนี้จะมีมากมายมหาศาลก็ตาม 

 

“รัฐบาลชาติสมาชิก EU รวมถึงเยอมนี ยังคงต้องเร่งบริหารจัดการพลังงาน หลังจากเดินหน้าลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย” Müller กล่าว และย้ำว่ายังมีปัจจัยอีกมากมายที่จะเป็นตัวแปรให้สถานการณ์พลังงานของยุโรปตกอยู่ในวิกฤตอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ผู้บริโภคและบริษัททั้งหลายหันมาใช้พลังงานตามปกติ หรืออาจฟุ่มเฟือยมากกว่าเดิม เพราะเริ่มเหนื่อยหน่ายกับพฤติกรรมประหยัดที่จำเป็นต้องนำมาใช้ในช่วงฤดูหนาว หลังจากเกรงว่าจะมีพลังงานไม่พอใช้ 

 

นอกจากนี้ยุโรปยังต้องหาแนวทางบริหารจัดการพลังงานอย่างยั่งยืนต่อไป เพื่อรับมือกับความต้องการใช้พลังงานที่จะมากขึ้นในช่วงฤดูหนาวปีนี้และปีถัดๆ ไป 

 

สถานการณ์พลังงาน EU ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ อีก เช่น อุบัติเหตุจากท่อส่งน้ำมัน หรืออากาศเย็นจัดฉับพลัน ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อแผนจัดเก็บก๊าซธรรมชาติให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ท่ามกลางความพยายามของนานาประเทศในยุโรปที่ต้องการลดการพึ่งพาการนำเข้าก๊าซราคาถูกจากรัสเซีย

 

สำหรับฤดูหนาวที่ผ่านมา Müller ชี้ว่าถือเป็นเรื่องโชคดีที่อุณหภูมิไม่ได้เย็นจัด ทำให้เยอรมนีสามารถลดการใช้ก๊าซลงถึง 14% ในปี 2022 บวกกับการประกาศหยุดการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานเข้มข้น ขณะที่ 27 ชาติสมาชิก EU โดยรวมสามารถลดการใช้ก๊าซลง 19% ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา 

 

อย่างไรก็ตาม เวลานี้รัฐบาลเยอรมนีได้ตั้งเป้าโฟกัสไปที่การจัดการฤดูหนาวในปี 2023-2024 แล้ว ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ชัดเจนที่สุดก็คือเยอรมนีและ EU จะต้องผ่านฤดูหนาวปีนี้โดยปราศจากท่อส่งก๊าซของรัสเซีย อีกทั้งยังไม่มีหลักประกันใดๆ รับรองได้ว่าฤดูหนาวนี้จะมีอากาศอบอุ่นเหมือนฤดูหนาวที่ผ่านมา 

 

ขณะเดียวกันก็ไม่มีหลักประกันรับรองว่าประชาชนและภาคธุรกิจจะใช้พลังงานน้อยลงหรือเท่าเดิม ดังนั้นทางการต้องเร่งผลักดันให้ประชาชนและภาคธุรกิจยังคงใช้พลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพมากที่สุด 

 

ทั้งนี้ Müller หวังว่าประชาชนจะตอบสนองต่อแนวทางอนุรักษ์พลังงานของภาครัฐ แต่จากประสบการณ์เกี่ยวกับมาตรการสาธารณะต่างๆ เช่น การสวมหน้ากาก และการเว้นระยะห่างทางสังคมระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด Müller ระบุว่ามาตรการที่ถูกต้องและสมควรเหล่านี้มักไม่เป็นที่นิยมในหมู่ประชาชน 

 

รายงานระบุว่า กุญแจสำคัญสำหรับหลายเดือนและหลายปีข้างหน้าเพื่อการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพคือ การผลักดันให้ใช้ปั๊มความร้อนแทนการให้ความร้อนด้วยก๊าซ ที่ครัวเรือนกว่าครึ่งของเยอรมนีในเวลานี้ยังคงใช้กันอยู่ 

 

ขณะเดียวกัน Müller หวังว่าราคาพลังงานที่สูงขึ้นจะบังคับให้เจ้าของบ้านและธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อลดต้นทุน โดยขณะนี้ราคาก๊าซได้ลดลงต่ำกว่า 50 ยูโร (53 ดอลลาร์) ต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบปีครึ่ง จากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 350 ยูโรต่อเมกะวัตต์ชั่วโมงในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แต่ราคาที่ลดลงดังกล่าวก็ยังคงสูงกว่า 18 ยูโรต่อเมกะวัตต์ชั่วโมงในเดือนมีนาคม 2021 ก่อนที่รัสเซียจะเริ่มปฏิบัติการทางทหารในยูเครน

 

Müller คาดว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน – 1 ปีในการปรับลดราคาก๊าซ แต่ก็ยอมรับว่าขณะนี้มีความไม่แน่นอนมากเกินไปที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาก๊าซในอนาคต


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising