×

เมืองไทยประกันชีวิต ฝ่าปัญหาธุรกิจปี 63 เบี้ยรับรวมหด-บุกตลาด CLMV

04.02.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 MINS. READ
  • ธุรกิจประกันชีวิตชะลอตัวลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเพราะภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้กำลังซื้อลดลง อีกทั้งเจอภาวะดอกเบี้ยต่ำ และการปรับเกณฑ์ใหม่ของผู้กำกับ
  • MTL ตั้งเป้าหมายเติบโตแบบประกันความคุ้มครอง สุขภาพ การลงทุน เจาะทุกเซกเมนต์เพื่อธุรกิจเติบโตแบบยั่งยืน
  • MTL เตรียมแตกไลน์ธุรกิจทำบริษัทเทคโนโลยีและขยายธุรกิจในต่างประเทศ โดยเฉพาะ CLMV

ธุรกิจประกันชีวิตชะลอตัวลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเพราะภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้กำลังซื้อลดลง ไหนจะภาวะดอกเบี้ยต่ำ ทำให้บริษัทประกันชีวิตออกแบบประกันชีวิตที่ผลตอบแทนสูงได้น้อยลงไปด้วย ขณะที่ปัจจัยเฉพาะของไทยก็มีกฎเกณฑ์ใหม่ ทำให้บริษัทต้องปรับตัวกันถ้วนหน้า

 

จากปัจจัยทั้งหมดนี้ บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต (MTL) จะก้าวข้ามอุปสรรคในปี 2563 ไปอย่างไร 

 

อ่านสถานการณ์ บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต ปี 2562 ทำไมเบี้ยรับรวมจึงหดตัว 

สาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ MTL กล่าวว่าปี 2562 ที่ผ่านมา บริษัทมีเบี้ยประกันชีวิตรับรวมติดลบ 11% จากช่วงเดียวกันของปี 2561 เกิดขึ้นจากเบี้ยประกันชีวิตปีต่ออายุลดลง 19% จากช่วงเดียวกันของปี 2561 เพราะมีเบี้ยประกันชีวิตที่ครบกำหนดจ่ายเบี้ย แต่ยังมีความคุ้มครองอยู่จำนวนมาก ขณะที่เบี้ยประกันชีวิตปีแรกยังเติบโตที่ 30% จากช่วงเดียวกันของปี 2561 

 

 

สาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ MTL 

 

ทั้งนี้ปี 2562 ที่ผ่านมา MTL ใช้กลยุทธ์หลักคือเพิ่มประกันชีวิตแบบคุ้มครอง การลงทุน และสุขภาพมากขึ้น จนทำให้สัดส่วนผลิตภัณฑ์ความคุ้มครองและการลงทุนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 67% ของแบบประกันชีวิตทั้งหมด ขณะที่เบี้ยประกันสุขภาพและโรคร้ายแรงเติบโต 11% และครองส่วนแบ่งการตลาดที่ 9.3% ถือเป็นอันดับ 3 หรือ 4 ของตลาด

 

“ปี 2563 ทางบริษัทยังต้องมุ่งเน้นความคุ้มครองมากขึ้นทุกแบบ และสัญญาเพิ่มเติม IC Health ประกันอุบัติเหตุ เราปรับมาขายความคุ้มครองมากขึ้น ส่วนที่ Page up ไปแล้ว (ส่วนใหญ่เป็นแบบสะสมทรัพย์) ความคุ้มครองเบี้ยเล็กกว่าสะสมทรัพย์ 10 เท่า เราจะสร้างแบบประกันที่ดีกับลูกค้ายั่งยืน”

 

ความท้าทายธุรกิจประกันภัยปี 2563 มีอะไรบ้าง 

สาระมองว่าความท้าทายธุรกิจประกันชีวิตของปี 2562 ยังต่อเนื่องมาถึงปี 2563 ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยภายนอก เช่น Trade War, Brexit, สถานการณ์การเมืองในฮ่องกง จนถึงต้นปี 2563 ยังมีความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกา-อิหร่าน รวมถึงไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 

 

ขณะที่ปัจจัยในประเทศตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจ, กฎเกณฑ์มาตรฐานใหม่ (กฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล, กฎเกณฑ์การลงทุนใหม่, IFRS 17) รวมถึงพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป

 

นอกจากนี้ภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำทำให้ปัจจุบันยังเห็นภาพว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีของไทยลดลงมาอยู่ที่ 1.2% ลดลงจากต้นปี 2563 ที่อยู่ 1.3% หากเทียบกับช่วงปี 2559 อยู่ที่ 1.6% 

 

ดังนั้นความท้าทายของธุรกิจประกันชีวิตคือการบริหารแบบประกัน ปรับสัดส่วนแบบประกันในพอร์ตให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยปี 2563 นี้ตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนแบบประกันความคุ้มครองและการลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 73%  

 

 

ทางออกธุรกิจประกันภัย เจาะเซกเมนต์-แตกหน่อธุรกิจ Tech ขยายตลาด CLMV

แม้ธุรกิจประกันชีวิตจะมีอุปสรรคหลายด้าน แต่ยังมีปัจจัยบวกที่ทำให้เติบโตในระยะยาว ได้แก่ สังคมสูงวัย-บำนาญ เทรนด์สุขภาพ การลงทุน บริหารภาษี การส่งต่อมรดก และอีกหลายเซกเมนต์ที่สามารถทำผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ลูกค้า ขณะเดียวกันยังมีธุรกิจอื่นๆ เช่น บริษัท AI GEN บริษัทลูกของ MTL ที่ทำเรื่อง AI นอกจากนี้ยังมีบริษัทที่ทำธุรกิจอื่นอย่าง Gett Go, Gett More, Gett Tech 

 

ทั้งนี้ปี 2563 จะขยายผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม Unit Linked โดยจะออกเบี้ยประกันแบบ Regular เช่น ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่อ้างอิงจากการลงทุนตามดัชนี Citi Global Multi Asset Index ขณะที่ลูกค้ากลุ่มกลางจะเน้นการเพิ่มความคุ้มครองชดเชยรายได้ และจะเจาะกลุ่มฟรีแลนซ์ เจาะเรื่องความคุ้มครอง ชดเชยรายได้ 

 

ดังนั้น MTL ปี 2563 จะตั้งเป้าหมายเป็นเบี้ยประกันชีวิตรายใหม่ ได้แก่ เบี้ยประกันสุขภาพและโรคร้ายแรงจะเติบโต 99% จากปีก่อนหน้า ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุน (Investment Link Product) จะเติบโต 28% จากปีก่อนหน้า และสัดส่วนแบบประกันความคุ้มครองและการลงทุนจะเพิ่มขึ้นเป็น 73% 


ทั้งนี้ยังมีช่องทางหลักเป็นการขายผ่านธนาคารที่ปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ 65-66% โดยมองว่าธนาคารเริ่มปรับตัวได้แล้วและมีช่องทางดิจิทัลมากขึ้น การขายผ่านธนาคารน่าจะปรับตัวดีขึ้นในปีนี้ โดยช่องทางการขายผ่านตัวแทนยังมีสัดส่วนราว 30% 

 

ด้านแผนงานขยายธุรกิจในต่างประเทศมองว่าประชาคมอาเซียนมีประชากรกว่า 600 ล้านคน ทำให้ MTL ขยายธุรกิจประกันชีวิตผ่านพันธมิตรธนาคารในประเทศเวียดนาม กัมพูชา และลาวได้ราบรื่น ขณะที่เมียนมามีสำนักงานตัวแทนตั้งอยู่ 

 

อย่างไรก็ตาม ตลาดที่น่าสนใจใน CLMV คือเวียดนาม เพราะมีจุดเด่นทั้งเศรษฐกิจที่เติบโตต่อเนื่อง รายได้ต่อหัวสูง และจำนวนประชากรค่อนข้างมาก โดยตลาด CLMV ยังขยายผ่านช่องทางพันธมิตรที่เป็นธนาคารในท้องถิ่น ทำให้ทั้งเวียดนาม กัมพูชา และลาวเกินกว่าครึ่งหนึ่งมาจากช่องทางการขายผ่านธนาคาร ส่วนใหญ่ยังเจาะลูกค้ากลุ่มแมสและระดับกลาง ขึ้นอยู่กับฐานลูกค้าของพันธมิตรในแต่ละประเทศ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้เจาะตลาดยังไม่แตกต่างจากไทย ยังเป็นสะสมทรัพย์และความคุ้มครอง

 

“เราดูโอกาสในอาเซียนและมองธุรกิจอื่นๆ ที่จะเติบโตในต่างประเทศ รวมถึงการขยายออกไปนอกอาเซียน เพราะยังมีโอกาสอีกมาก อย่าง 3 ประเทศที่เราเข้าไปทำธุรกิจแล้วเศรษฐกิจมีการเติบโตโดดเด่น เราอยู่ระหว่างการศึกษาความพร้อมภายในองค์กรและความพร้อมของธุรกิจในประเทศที่จะไป อาจจะเป็นธุรกิจด้านเทคโนโลยี ธุรกิจนายหน้า หรือธุรกิจสุขภาพก็ได้”

 

 

ปรับฐานธุรกิจประกัน เสริมแกร่งตัวแทนผ่าน ‘สรรค์สาระ’ 

สุดท้ายสิ่งที่ MTL ต้องปรับตัวคือ ‘ตัวแทน’ โดยปัจจุบันมีจำนวนตัวแทนที่ทำงานเต็มเวลา (Active) อยู่ที่ 15,000-16,000 คน สามารถสร้างเบี้ยประกันได้กว่าปีละ 30,000 ล้านบาท แต่ตัวแทนยังต้องมีการเรียนรู้เพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

 

ดังนั้นทาง MTL เปิดตัว ‘สรรค์สาระ’ พื้นที่ 48 ไร่ในจังหวัดราชบุรีเพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ รวมถึงเป็นพื้นที่ร่วมงานกับพันธมิตรต่างๆ โดยใช้เงินลงทุนราว 500-600 ล้านบาท และจะสร้างเสร็จสิ้นในช่วงต้นเดือนเมษายน 2563  

 

ไม่ว่ายุคดิจิทัลจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงหลายสิ่ง แต่ธุรกิจประกันชีวิตต้องนำดิจิทัลเข้ามาเชื่อมการทำงานระหว่างคนและองค์กรให้ง่ายขึ้นอยู่เสมอ

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X