เกิดอะไรขึ้น:
เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2567 บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) รายงานกำไรสุทธิ 2Q67 เพิ่มขึ้น 4% QoQ และ 20%YoY สู่ 1.44 พันล้านบาท เป็นไปตามคาด โดยมีรายการที่สำคัญ ดังนี้
- คุณภาพสินทรัพย์: NPL อยู่ในระดับทรงตัว QoQ ใน 2Q67 ซึ่งเป็นผลมาจากการตัดหนี้สูญและการขาย NPL ถ้านำยอดตัดหนี้สูญและยอดขาย NPL บวกกลับเข้ามา พบว่า NPL เพิ่มขึ้น 24%QoQ (เทียบกับ 13%QoQ ใน 1Q67) ซึ่งบ่งชี้ว่า NPL ไหลเข้าเร่งตัวขึ้น QoQ Credit Cost ลดลง 8 bps QoQ (-68 bps YoY) สู่ 3.08% ต่ำกว่าคาด LLR Coverage เพิ่มขึ้นสู่ 135% จาก 131% ณ 1Q67 InnovestX Research ปรับประมาณการ Credit Cost ลดลง 5 bps มาอยู่ที่ 3.25% (-47 bps) ในปี 2567 โดยคาดการณ์ตามหลักความระมัดระวังว่า Credit Cost จะเร่งตัวขึ้นใน 2H67
- การเติบโตของสินเชื่อ: เพิ่มขึ้น 5%QoQ (เทียบกับ 3%QoQ ใน 1Q67), เพิ่มขึ้น 16%YoY, เพิ่มขึ้น 8% YTD InnovestX Research คงประมาณการการเติบโตของสินเชื่อปี 2567 ไว้ที่ 18% โดยคาดว่าการเติบโตของสินเชื่อ QoQ ใน 3Q67 และ 4Q67 จะอยู่ในระดับเดียวกับ 2Q67
- NIM: ลดลง 21 bps QoQ (ลดลง 84 bps YoY) เป็นไปตามคาด อัตราผลตอบแทนจากการให้สินเชื่อลดลง 6 bps QoQ ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น 18 bps QoQ
- Non-NII: ลดลง 9%QoQ (ลดลง 12%YoY) จากรายได้ค่าธรรมเนียมที่ลดลง
- อัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้: ดีกว่าคาด โดยลดลง 37 bps QoQ (ลดลง 54 bps YoY) สู่ 47.45% opex เพิ่มขึ้น 1%QoQ และ 8%YoY
กระทบอย่างไร:
หลังรายงานผลประกอบการ ณ วันนี้ 7 สิงหาคม 2567 ราคาหุ้น MTC ปรับขึ้น 3.09% อยู่ที่ระดับ 41.75 บาท ขณะที่ SET Index ปรับขึ้น 1.49% สู่ระดับ 1,292.97 จุด
แนวโน้มผลประกอบการปี 2567:
InnovestX Research ปรับประมาณการกำไรของ MTC เพิ่มขึ้น 1% ในปี 2567 และ 2% ในปี 2568 เนื่องจากปรับประมาณการ Credit Cost ลดลงปีละ 5 bps โดยปัจจุบันคาดว่ากำไรปี 2567 จะเติบโต 16% ซึ่งเป็นผลมาจากสินเชื่อที่เติบโต 18% NIM ที่ลดลง 80 bps Credit Cost ที่ลดลง 47 bps และการเติบโตของ opex ที่ชะลอตัวลงจากการขยายสาขาช้าลง กำไร 1H67 คิดเป็น 50% ของประมาณการกำไรปี 2567 และคาดว่ากำไร 2H67 จะอยู่ในระดับทรงตัว HoH และเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง YoY
กลยุทธ์การลงทุนและคำแนะนำ ยังคงคำแนะนำ Outperform สำหรับ MTC โดยปรับราคาเป้าหมายเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 48 บาท สู่ 49 บาทต่อหุ้น (อ้างอิง PBV 2.4 เท่า หรือ PE 15 เท่า สำหรับปี 2568) เนื่องจากคาดว่ากำไรจะเติบโตดีที่ 16% ในปี 2567 และ 22% ในปี 2568 โดยได้รับการสนับสนุนจากสินเชื่อที่เติบโตดี และ Credit Cost ที่ลดลง
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามคือ
- ความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์จากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวไม่ทั่วถึงและช้ากว่าคาด
- ความเสี่ยงด้าน Credit Cost จากราคารถมือสองที่ลดลง
- การแข่งขันที่สูงขึ้นจากธนาคาร
- ความเสี่ยงด้านกฎหมาย
- ความเสี่ยง ESG จากการให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม (Market Conduct)