×

ถอดบทเรียนความสำเร็จและส่องแนวโน้มธุรกิจประกันภัยในปี 2565 กับเอ็ม เอส ไอ จี ประกันภัยที่ฝ่าวิกฤตโควิด-19 ได้อย่างสวยงาม

โดย THE STANDARD TEAM
26.04.2022
  • LOADING...
เอ็ม เอส ไอ จี

HIGHLIGHTS

5 mins. read
  • ภาพรวมเกี่ยวกับธุรกิจประกันวินาศภัย ณ ขณะนี้ มีหลายบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 บางบริษัทขาดสภาพคล่อง บางบริษัทถึงขั้นต้องปิดตัวลง แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสให้บางบริษัททะยานขึ้น ซึ่ง ‘ความสามารถในการบริหารความเสี่ยง’ ถือเป็นกุญแจสำคัญของการฝ่าวิกฤตดังกล่าว 
  • ด้วยพฤติกรรมของผู้คนที่เปลี่ยนไปในยุค New Normal บริษัทประกันภัยมีแนวโน้มที่จะแข่งกันด้วยเทคโนโลยี และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการในชีวิตวิถีใหม่ เช่น ประกันภัยรถยนต์แบบ Usage Based Insurance หรือประกันภัยรถยนต์ที่คิดเบี้ยตามพฤติกรรมการใช้จริงของผู้เอาประกันภัย นอกจากเอ็ม เอส ไอ จี ประกันภัย หรือ MSIG จะฝ่าวิกฤตโควิด-19 ได้อย่างสวยงามแล้ว ยังตั้งเป้าจะเป็นผู้นำอันดับ 1 ในประกันรูปแบบ UBI อีกด้วย

ด้วยผลกระทบจากการแพร่ระบาดของวิกฤตโควิด-19 ที่ยาวนานมากว่า 2 ปี และยังคงดำเนินอยู่ต่อไป แทบทุกธุรกิจต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า เช่นเดียวกับธุรกิจประกันวินาศภัย ที่บางบริษัทต้องเผชิญกับมรสุมความมั่นคงขาดสภาพคล่อง บางบริษัทประสบปัญหาสูญเสียความมั่นใจจากผู้บริโภค และบางบริษัทโชคร้ายถึงขั้นเดินทางมาถึงจุดสิ้นสุดของการดำเนินกิจการ เป็นที่น่าสนใจและน่าจับตามองว่า ในอนาคตข้างหน้าบรรดาผู้ประกอบการธุรกิจประกันวินาศภัยจะเดินหน้าต่ออย่างไร

 

THE STANDARD จึงได้พูดคุยถึงประเด็นดังกล่าวกับ ‘รัฐพล กิติศักดิ์ไชยกุล’ กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.เอ็ม เอส ไอ จี ประกันภัย (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทประกันวินาศภัยที่สามารถฝ่าวิกฤตโควิด-19 มาได้อย่างสวยงาม ถึงบทเรียนและแนวโน้มของธุรกิจประกันภัย แต่ก่อนที่จะไปถึงตรงนั้น เราลองมาพิจารณาภาพรวมของธุรกิจประกันภัย ณ ขณะนี้ กันดูก่อนดีกว่า 

 

‘รัฐพล กิติศักดิ์ไชยกุล’ 

กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.เอ็ม เอส ไอ จี ประกันภัย (ประเทศไทย)

 

ปี 2564: ประกันวินาศภัยขาดทุนจากการรับประกันภัยทั้งระบบ -8,253 ล้านบาท

 

เพื่อให้เราเข้าใจถึงภาพรวมของธุรกิจประกันวินาศภัย ณ ขณะนี้กันได้ดียิ่งขึ้น กรรมการผู้อำนวยการของ MSIG ได้ฉายภาพให้ฟังว่า ปัจจุบันบริษัทประกันวินาศภัยมีมากถึง 52 บริษัท แบ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ (เบี้ยประกันภัยมากกว่า 5,000 ล้านบาท) จำนวน 15 บริษัท มีส่วนแบ่งทางการตลาดรวมกันราว 78.2 เปอร์เซ็นต์ ส่วนบริษัทขนาดกลาง (เบี้ยประกันภัยระหว่าง 1,000-5,000 ล้านบาท) อีก 17 บริษัท มีส่วนแบ่งการตลาดราว 18.6 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือเป็นบริษัทขนาดเล็ก (เบี้ยประกันภัยน้อยกว่า 1,000 ล้านบาท) มีส่วนแบ่งการตลาดรวมกัน 3 เปอร์เซ็นต์ โดยในปี 2564 มีเบี้ยประกันภัยรวมทั้งสิ้น 262,746 ล้านบาท เติบโตราว 4 เปอร์เซ็นต์ แต่ทั้งระบบขาดทุนจากการรับประกันภัย (Underwriting Results) -8,253 ล้านบาท เทียบจากช่วงปี 2563 ที่มีกำไรจากการรับประกันภัย 8,062 ล้านบาท หรือลดลงกว่า 202 เปอร์เซ็นต์ 

 

ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา บริษัทประกันต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์กันพอสมควร บริษัทไหนที่ขายประกันโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘เจอ จ่าย จบ’ ก็จะจ่ายเคลมแบบมากมายเป็นร้อยล้านพันล้าน เรียกได้ว่าได้รับผลกระทบอย่างมากทั้งด้านการเงินและชื่อเสียง

 

ตามที่เป็นข่าวนั้นมีประมาณกว่า 10 บริษัทที่รับประกันภัยโควิด-19 รวมถึงแบบ ‘เจอ จ่าย จบ’ ที่ได้รับผลกระทบ หากในขณะเดียวกันก็มีบริษัทประกันกลุ่มที่เลือกตัดสินใจที่จะไม่ขายประกันโควิด-19 มาตั้งแต่แรก จะมีสถานะการเงินที่ค่อนข้างแข็งแกร่งขึ้น เหมือนเป็นต้นทุนให้ทะยานเติบโตในปี 2565 และจากการล็อกดาวน์ในปี 2564 ก็ทำให้หลายบริษัทประกันได้รับอานิสงส์ในเชิงบวก เพราะอัตราค่าสินไหมทดแทนลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมธรรม์รถยนต์ที่จำนวนอุบัติเหตุลดลงอย่างมาก ซึ่ง MSIG นั้นก็จัดอยู่ในบริษัทประกันกลุ่มหลังนี้ 

 

‘เจอ จ่าย จบ’: วิบากกรรมของประกันวินาศภัย 

 

เมื่อพูดถึงสาเหตุที่ทำให้สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบกับธุรกิจประกันภัยเป็นวงกว้าง ก็คงหนีไม่พ้นประกันชนิด ‘เจอ จ่าย จบ’ ซึ่งหากย้อนกลับไปในปี 2563 จะเห็นว่าการติดเชื้อในไทยยังไม่รุนแรง ทำให้บริษัทประกันภัยต่างออกแบบประกันโควิด-19 ครอบคลุมแบบครบวงจร อีกทั้งยังเพิ่มคุ้มครองการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 มีทั้งราคาเริ่มต้นหลักร้อยไปถึงหลักพันบาท บริษัทที่รับประกันภัยล้วนทำเบี้ยประกันจำนวนมาก โดยในปี 2563 มีกรมธรรม์โควิด-19 ทั้งสิ้น 7.6 ล้านกรมธรรม์ มีเบี้ยประกันภัยรวม 4,167 ล้านบาท และมีค่าสินไหมทดแทนรวมกันต่ำกว่า 100 ล้านบาท หรืออัตรา Loss Ratio โดยรวมไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ เมื่อถึงปี 2564 สถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกที่ 3 ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เริ่มมีสถิติการติดเชื้อเพิ่มขึ้น ทำให้คนไทยตื่นตัวหันมาทำประกันภัยโควิด-19 เพิ่มขึ้น โดยรูปแบบประกันที่นิยมจะคุ้มครองแบบ ‘เจอ จ่าย จบ’ หรือจ่ายค่าเคลมทันทีเมื่อพบติดเชื้อ รองลงมาเป็นการคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล ค่าชดเชยเมื่อรักษาตัว และคุ้มครองเมื่ออาการโคม่า จากการขายแบบ ‘เจอ จ่าย จบ’ ทำให้หลายบริษัทเริ่มจะแบกรับค่าเคลมต่อไปไม่ไหวและขาดทุนหนักเป็นประวัติการณ์ จนบางบริษัทต้องปิดตัวลง และมีบางบริษัทที่ออกมาขอให้ลูกค้า ‘เปลี่ยน’ ประกันแบบ ‘เจอ จ่าย จบ’ เป็นประกันภัยในรูปแบบอื่นๆ แทน ในปี 2564 มีกรมธรรม์โควิด-19 ทั้งสิ้น 12 ล้านกรมธรรม์ มีเบี้ยประกันภัยรวม 6,174 ล้านบาท และมีค่าสินไหมทดแทนราว 40,000 ล้านบาท

 

ฝ่าวิกฤตโควิด-19 ด้วยการตัดสินใจที่ถูกต้อง

 

“ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ก็ต้องยอมรับครับว่า MSIG เราเองก็ได้รับผลกระทบอยู่บ้างเหมือนกัน โดยเฉพาะประกันภัยการเดินทาง จากเดิมที่เคยมีเบี้ยประกันสูงถึง 350 ล้านบาทต่อปี ก็ลดลงเหลือเพียงแค่ 50 ล้านต่อปี เพราะทุกคนไม่สามารถเดินทางข้ามประเทศได้ถึง 2 ปีแล้ว แต่ในเรื่องประกันโควิด-19 เราไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงกับบริษัท เนื่องจากบริษัทเลือกที่จะไม่รับประกันโควิด-19 ตั้งแต่แรก และบริษัทแม่ของเราที่ประเทศญี่ปุ่นและสำนักงานภูมิภาคที่ประเทศสิงคโปร์เองก็มีนโยบายที่ชัดเจนในการไม่รับประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 เนื่องจากเรามองว่าเป็นภัยอุบัติใหม่ ซึ่งยังไม่มีข้อมูลสถิติเพียงพอต่อการรับประกันภัย อาจทำให้เกิดการคิดเบี้ยประกัน หรือการประเมินค่าสินไหมทดแทนผิดพลาดได้ จนอาจได้ไม่คุ้มเสีย”

 

ด้วยความที่ MSIG มีบริษัทแม่คือ เอ็มเอส แอนด์ เอดี อินชัวรันซ์ กรุ๊ป (MS&AD Insurance Group) เป็นกลุ่มบริษัทประกันภัยใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นและอาเซียน ซึ่งมีระบบ Risk Management อันแข็งแกร่ง ทั้งยังมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลความเสี่ยงระหว่างกันในภูมิภาค จึงทำให้มีการระแวดระวัง จนการตัดสินใจที่ถูกต้องในวันนั้นส่งผลให้ MSIG ติดอยู่ในอันดับที่ 21 ของอุตสาหกรรมประกันภัยในปี 2564 มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 1.5 เปอร์เซ็นต์ แม้ปีที่ผ่านมาจะถือเป็นปีที่ท้าทายมากๆ แต่ก็นับเป็นปีที่ MSIG มีผลประกอบการดีที่สุดในรอบ 10 ปีเลยทีเดียว ผู้บริหารหนุ่มแห่ง MSIG (ประเทศไทย) ยังเปิดเผยถึงตัวเลขผลประกอบการอันเป็นความสำเร็จในปีที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากจะแสดงให้เห็นถึงการตัดสินใจที่ถูกต้องแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของสถานะทางการเงินของบริษัทในปัจจุบันอีกด้วย 

 

“ในปี 2564 เรามีเบี้ยประกันภัย 4,105 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 12.8 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเติบโตมาจากงานรับประกันภัยรถยนต์ และประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลเข้ามาแทนประกันเดินทางต่างประเทศที่ชะงักไปเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก และเรามีกำไรจากการรับประกัน 240 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 33 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากส่วนหนึ่งเราได้รับประโยชน์เชิงบวกจากมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้อัตราเคลมลดลง ควบคุมอัตราสินไหมได้ดีขึ้น โดยรวมสถานะการเงินของ MSIG จึงยังเข้มแข็งดีมากๆ ครับ” รัฐพลกล่าวอย่างภาคภูมิใจ

 

บทเรียนสำคัญยามฝ่าวิกฤต และคำแนะนำสำหรับผู้บริโภค 

 

“ความสามารถในการบริหารความเสี่ยงคือสิ่งสำคัญ” 

 

สถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ผู้บริโภคเริ่มเกิดความไม่มั่นใจในเรื่องของการประกันวินาศภัย เพราะหลายบริษัทบ้างก็ประสบปัญหาเคลมประกัน ขาดสภาพคล่อง และบางบริษัทถึงกับต้องปิดตัว THE STANDARD อดถามผู้บริหารหนุ่มผู้นำพา MSIG จนฝ่าวิกฤตได้อย่างสวยงามไม่ได้ว่า “บทเรียนสำคัญจากมรสุมที่ผ่านมาคืออะไร และมีคำแนะนำอย่างไรให้กับผู้บริโภคบ้าง” เขาให้คำตอบกับเราว่า

 

“ประกันภัยมีความจำเป็นอย่างมากในการกระจายความเสี่ยง ผู้เอาประกันภัยต้องพิจารณาองค์ประกอบหลายๆ อย่าง ไม่เฉพาะแค่เบี้ยประกันภัยอย่างเดียว ต้องดูความคุ้มครองว่าเป็นไปตามที่ต้องการหรือไม่ สถานะทางการเงินของผู้รับประกันภัยเป็นอย่างไร ความเชี่ยวชาญในการรับประกันภัย และที่สำคัญคือบริการหลังการขายด้วย 

 

“บริษัทประกันภัยเองต้องมีการบริหารการจัดการกระจายความเสี่ยงที่เรียกว่า Reinsurance หรือการประกันภัยต่อ ผมขอยกตัวอย่างย้อนกลับไปในปี 2547 ซึ่งทาง MSIG ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิที่ไม่มีใครคาดคิด บริษัทมีการบริหารจัดการเป็นอย่างดี (Risk Management) มีการจัดซื้อประกันภัยต่อ ทำให้เราได้รับผลกระทบน้อย และต่อมาบริษัทได้จัดซื้อประกันภัยต่อเพิ่มขึ้นอย่างมาก เมื่อเราต้องเผชิญวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ตอนนั้น MSIG มีลูกค้าต้องการเคลมประกันจำนวนถึงกว่า 13,000 ล้านบาท เชื่อหรือไม่ครับว่าในครั้งนั้น MSIG กลับได้รับผลกระทบน้อยมาก เพราะเราสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงโดยการจัดทำประกันต่อที่ครอบคลุม รองรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นไว้ การเข้าใจในธุรกิจประกันวินาศภัยอย่างถ่องแท้ รู้จักประเมินความน่าจะเป็นจากตัวเลขสถิติต่างๆ นั้นเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน มันจะช่วยทำให้เรารับประกันภัยอย่างมีเหตุผล และอยู่ได้นาน ไม่ใช่รับประกันแค่สร้างยอดขาย

 

“สุดท้ายแล้ว ต้องอย่าลืมว่า ลูกค้าซื้อประกันภัย ก็เป็นการจัดการบริหารความเสี่ยงอย่างหนึ่งของลูกค้า แต่บริษัทประกันภัยก็ต้องบริหารจัดการความเสี่ยงของตัวเองด้วยเช่นกัน ดังนั้นสำหรับผู้บริโภคที่หากคิดจะซื้อประกัน น่าจะต้องพิจารณาปัจจัยหลายๆ อย่างประกอบกัน ดังที่กล่าวมาในเบื้องต้น”

 


 

ถอดรหัส: จุดแข็งที่สร้างความต่าง นำมาซึ่งความสำเร็จของ MSIG 

 

    • เอ็ม เอส ไอ จี ประกันภัย (ประเทศไทย) หรือ MSIG ถือเป็นบริษัทลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งมีบริษัทแม่คือ เอ็มเอส แอนด์ เอดี อินชัวรันซ์ กรุ๊ป (MS&AD Insurance Group) เป็นกลุ่มบริษัทประกันภัยที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นและอาเซียน มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง นอกจากนี้ภายในกลุ่มยังมีการถ่ายทอดความรู้ Know How หลายอย่าง เช่น หลักการรับประกันภัย การบริหารจัดการความเสี่ยง ทำให้ได้เรียนรู้จากการแชร์ Best Practice จาก MSIG ในประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะจาก MSIG Asia ซึ่งมีสมาชิกมากกว่า 10 ประเทศ
    • มีนโยบายการรับประกันภัยที่เข้มแข็ง ทั้งยังมีทีมบริหารจัดการความเสี่ยงที่เข้มข้น ซึ่งจะอัปเดตทุกๆ 3 เดือน โดยเฉพาะความเสี่ยงใหม่ๆ ที่สำคัญ เช่น Cyber Risk ซึ่งเป็นความเสี่ยงหนึ่งที่ต้องมอนิเตอร์อย่างใกล้ชิด
  • บริการหลังการขายที่เป็นเสมือนเพื่อนแท้ ไม่เพียงแต่ได้รับกรมธรรม์จากการจ่ายเบี้ย MSIG พยายามที่จะเข้าอกเข้าใจผู้บริโภค บริการหลังการขายของ MSIG เรียกได้ว่าเป็นบริการ 24/7 ที่ ‘ครบ’ ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าประกันภัยรถยนต์ ประกันภัยบ้านที่อยู่อาศัย ประกันภัยเดินทาง ประกันภัยอุบัติเหตุ
  • บริการพร้อมและครอบคลุม MSIG ยังมีโรงพยาบาลในเครือทั่วประเทศกว่า 260 แห่ง อู่และศูนย์ซ่อมทั่วประเทศ 1,320 แห่ง และพนักงานสำรวจอุบัติเหตุรถยนต์ทั่วประเทศกว่า 300 คน
  • การเข้าถึงของลูกค้า ทั้งการซื้อประกันภัยและบริการหลังการขาย เช่น เคลมแบบออนไลน์จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

 


 

Key Success: กุญแจดอกสำคัญในการสร้างการเติบโต

 

“เรามีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของผู้คนในยุค New Normal” 

 

เมื่อกล่าวถึงกลยุทธ์ที่เป็นกุญแจสำคัญต่อการประสบความสำเร็จซึ่งได้สร้างการเจริญเติบโตให้กับ MSIG ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.เอ็ม เอส ไอ จี ประกันภัย (ประเทศไทย) สรุปให้ฟังว่าโดยหลักๆ แล้ว MSIG ยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้ 

 

  • Customer Experience เป็นสิ่งที่ให้ความสำคัญเป็นหลัก รวมถึงการให้บริการหลังการขาย ทั้งการเคลม การดูแล ฯลฯ เพื่อให้ลูกค้าเกิดประสบการณ์ที่ดีและรู้สึกประทับใจ ลูกค้าจะเกิดความมั่นใจที่จะซื้อประกันภัยและต่ออายุ เกิดการบอกต่อ ทั้งนี้ MSIG ให้ความสำคัญต่อการทำสำรวจความพึงพอใจของลูกค้าต่อองค์กรตลอดทั้งปี โดยผลการสำรวจความพึงพอใจหรือ Net Promoter Score นั้นออกมาเป็นที่น่าพอใจ โดยมีตัวเลข อาทิ NPS สินไหมทดแทนรถยนต์: พนักงานสำรวจอุบัติเหตุรถยนต์ 63%, อู่ซ่อมรถยนต์ 54% 

NPS สินไหมทดแทนประกันภัยอุบัติเหตุ 68%

*หมายเหตุ: เกณฑ์มาตรฐาน NPS ในธุรกิจประกันภัยรถยนต์ของสหรัฐอเมริกา = 41%

(โดยอ้างอิงจากข้อมูลผลสำรวจปี 2021 ของ NICE Satmetrix ผู้ร่วมพัฒนาเครื่องมือชี้วัด Net Promoter®)

  • เบี้ยประกันภัยต้องเหมาะสม ไม่ถูกมากจนเกินไปจนบริษัทไม่สามารถทำผลกำไรและไม่สามารถยืนในระยะยาวของธุรกิจประกันภัยได้ และยังรวมถึงการโฟกัสการเติบโตในกลุ่มที่บริษัทสามารถสร้างผลกำไรได้บ้าง 
  • สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ตลอดเวลา ให้กับคู่ค้าและลูกค้า ทั้งผลิตภัณฑ์และบริการ 
  • ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมองค์กร ปรับวัฒนธรรมองค์กรให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้เข้ากับยุคสมัย New Normal เป็นที่ทำงานที่พนักงานอยากทำงานร่วมกัน ไปสู่จุดหมายเดียวกัน ที่สำคัญคือให้โอกาสเติบโตไปพร้อมๆ กัน

 

ปรับเปลี่ยนอย่างไรให้ทันกับยุคดิจิทัลและ New Normal

 

“แน่นอนว่าการทำตลาดแนวใหม่ และการซื้อประกันภัยออนไลน์ย่อมมีความจำเป็นอย่างยิ่งในยุค New Normal ครับ สำหรับในปีนี้ MSIG เราวางแผนจะมีพันธมิตรคู่ค้าออนไลน์มากขึ้น เพื่อให้สามารถเข้าถึงสินค้าและบริการได้ง่ายขึ้น เช่น เราจับมือกับนิด้า โบรกเกอร์ และ Popcoin สร้างการตลาดแบบใหม่ที่สามารถซื้อประกันภัย แล้วได้เหรียญ Utility Token ของ Popcoin ที่มี Ecosystem โดดเด่นในด้านสื่อและกิจกรรมบันเทิงต่างๆ เช่น หากซื้อประกันภัยรถยนต์ ประกันภัยบ้าน ประกันภัยเดินทาง หรือประกันภัยโรคมะเร็ง ผ่าน www.jaadhai.com ก็จะได้รับเหรียญสูงสุดถึง 5,000 Popcoins และลูกค้าสามารถเอาไปแลก (Redeem) สินค้าในแพลตฟอร์มของ Popcoin ได้ 

 

“นอกจากนี้เรายังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการผู้คนยุค New Normal เช่น ประกันภัยรถยนต์แบบใช้น้อย จ่ายน้อย หรือประกันภัยรถยนต์รูปแบบใหม่ที่คิดค่าเบี้ยตามพฤติกรรมการขับจริง เหมาะสำหรับคนปัจจุบันซึ่งทำงานที่บ้านกันมากขึ้นและใช้รถน้อยลง 

 

“ทั้งนี้ยังจะมีการใช้ Big Data Analytics เพื่อวางแผนการขายและการตลาด ที่สำคัญอีกอย่าง คือ มีการเชื่อม API (Application Programming Interface) กับคู่ค้ามากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อดำเนินธุรกิจให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และขายให้ถูกกลุ่มลูกค้ามากขึ้น นอกจากนี้การพัฒนาการบริการต้องให้ดีและง่ายขึ้นด้วยเทคโนโลยี ซึ่งเป็นจุดขายอีกอันที่บริษัทอยากพัฒนาให้ปรับเปลี่ยนไปตามความต้องการ เช่น เกิดเจ็บป่วยในต่างประเทศ ก็ไม่จำเป็นต้องโทรศัพท์เสียเงินจากต่างแดนเข้ามาที่ศูนย์บริการช่วยเหลือฉุกเฉิน MSIG Assist เพียงแค่กด Free WiFi Calling ผ่านแอปพลิเคชัน MSIG SpeeDi ก็ได้เลย ทั้งประหยัดเงินและไม่ต้องจำเบอร์ให้ยุ่งยาก สามารถซื้อสินค้าของ MSIG ผ่านแอปพลิเคชัน LINE ได้ ฯลฯ 

 

“ด้านการทำงานในองค์กร พนักงานของ MSIG ก็ได้มีการปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปในยุค New Normal โดยสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ ไม่จำกัดแต่เฉพาะในออฟฟิศ เพื่อความยืดหยุ่นในการทำงาน เช่น พนักงาน Call Center ที่ผ่านมาทำงานที่บ้าน 80-90 เปอรเซ็นต์ ไม่กระทบการให้บริการของบริษัทแต่อย่างใดครับ”

 

ประกันภัยดิจิทัลที่มีนวัตกรรม มุ่งเน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง

 

ดังที่กล่าวมาแล้วว่า MSIG ให้ความใส่ใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตแบบ New Normal ที่ผ่านมาเมื่อปลายปี 2563 MSIG ได้ร่วมมือกับ AIS นำเสนอนวัตกรรมประกันภัยรถยนต์ยุคใหม่อย่าง ‘ประกันขับดี’ ซึ่งเป็นแผนประกันภัยรถยนต์ที่มีความสมเหตุสมผล จ่ายเมื่อขับ หากไม่ได้ขับก็ไม่ต้องจ่าย คิดค่าเบี้ยประกันตามพฤติกรรมการใช้งานของผู้ขับขี่รถยนต์จริงๆ  

 

ประกันขับดีเป็นประกันรถยนต์ที่คำนวณเบี้ยประกันภัยจากตัวแปรต่างๆ ที่ทันสมัยที่สุด โดยใช้การวิเคราะห์ข้อมูลจากอุปกรณ์ MSIG Car Informatics หรือ OBD II (On-Board Diagnostic) เป็นอุปกรณ์ขนาดเล็กใช้ติดรถ สามารถเก็บค่าตัวแปรและค่าพฤติกรรมการขับรถในเชิงลึกและละเอียด นับเป็นการนำเสนอนวัตกรรมใหม่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในยุค New Normal ได้อย่างน่าชื่นชม 

 

ประกันขับดี ยังได้สร้างความภาคภูมิใจให้กับ MSIG โดยได้รับรางวัลเกียรติยศระดับอินเตอร์ ตอกย้ำความสำเร็จของผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่มีนวัตกรรมสร้างสรรค์ดีเด่นประจำปี 2564 จากนิตยสาร Global Business Outlook 2021 ประเภทประกันภัยดิจิทัลที่มีนวัตกรรม และมุ่งเน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Most Innovative Customer Centric Digital Insurance Product) 

 

ปี 2565 นี้ MSIG ยังคงมุ่งมั่นในเรื่องประกันรถยนต์แบบ Usage Base Insurance หรือประกันภัยรถยนต์ที่คิดค่าเบี้ยตามพฤติกรรมตามการขับขี่จริง โดยใช้อุปกรณ์ IoT มาเก็บค่าพฤติกรรม แต่เป็นแบบประกันรถยนต์แบบ Pre-paid หากใช้จนหมดแพ็กเกจกิโลเมตรหรือชั่วโมงสามารถซื้อเพิ่มเติมได้ ซึ่งต่างจากประกันขับดีที่เป็นแบบ Post-paid โดยลูกค้าสามารถเลือกซื้อตามการใช้งาน ดังนี้ 

 

  1. แบบตามไมล์ (กม.) เหมาะกับคนที่ขับในพื้นที่รถติด คนที่อยู่ในเมือง หรือคนที่บ้านอยู่ใกล้ที่ทำงาน
  2. แบบตามระยะเวลา (ชม.) เหมาะกับคนที่ขับในพื้นที่ต่างจังหวัด เส้นทางไป-กลับต่อวันใช้ความเร็วได้ ไม่ค่อยเจอรถติด
  3. แบบประกันรูปแบบผสม (กม. และ ชม.) 

 

ทั้งนี้นวัตกรรมประกันรถยนต์แบบ Usage Based Insurance ดังกล่าวของ MSIG จะคลอดออกมาให้เราได้เห็นกันในช่วงครึ่งปีหลัง 2565 ที่กำลังจะถึงนี้ 

 

ธุรกิจประกันวินาศภัยในปี 2565 อะไรที่กำลังรออยู่เบื้องหน้า 

 

 “แนวโน้มข้างหน้าคือ บริษัทประกันภัยส่วนใหญ่จะหันมาสู้กันด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยดำเนินธุรกิจมากขึ้น”

 

“ผมคิดว่าปี 2565 จะยังเป็นปีที่แต่ละบริษัทจะแข่งขันกันอย่างดุเดือดเหมือนเดิม แต่บริษัทประกันภัยส่วนใหญ่จะหันมาสู้กันด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยดำเนินธุรกิจกันมากขึ้น จะมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และบริการที่เป็นประโยชน์ต่อลูกค้ามากขึ้น รวมถึงสร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการประกันภัย พัฒนาระบบต่างๆ ให้ตัวแทน เพื่อให้ทำธุรกรรมต่างๆ กับบริษัทได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

 

เป้าหมายและความท้าทาย: ก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านดิจิทัลในธุรกิจประกันวินาศภัย

 

ผมคิดว่าสิ่งที่ท้าทายคือการปรับตัวที่รวดเร็ว โดยนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจให้มากขึ้น ตอนนี้เราพยายามเชื่อมต่อกับพาร์ตเนอร์ผ่าน API หลายรายมาก อีกอย่างคือการพัฒนาบริการที่ไม่หยุดนิ่ง หมายถึงทั้งการบริการต่อผู้เอาประกันภัย และการบริการต่อคู่ค้า เราพยายามทำให้ตัวแทน นายหน้าสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างคล่องตัว โดยสร้างระบบที่ตัวแทนสามารถทำงานได้เอง คำนวณเบี้ยประกันภัย ทำใบเสนอราคาได้ สามารถทำจ่ายเบี้ยประกันให้บริษัทได้เอง และภายในอนาคตอันใกล้นี้ ตัวแทนยังสามารถที่จะคำนวณเบี้ยประกันภัย ทำใบเสนอราคา และแจ้งการออกกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ผ่าน LINE OA ซึ่งใกล้จะเสร็จแล้ว และในส่วนของลูกค้าเรากำลังพัฒนาเรื่อง Claims Tracking ที่ลูกค้าสามารถตรวจสอบสถานะเคลมของตัวเองได้อย่างง่ายๆ ว่าแต่ละรายอยู่ที่ขั้นตอนไหน ผ่านแอปพลิเคชัน MSIG SpeeDi เป็นต้น และรูปแบบการตลาดใหม่ๆ มากขึ้นเรื่อยๆ

 

ในส่วนของเป้าหมายต้องบอกว่า MSIG เรามีเป้าหมายที่ชัดเจนมากๆ ที่จะเป็น ‘ผู้นำด้านดิจิทัลในธุรกิจประกันวินาศภัย’ ให้ได้ ภายในปี 2566 ครับ คือหลังจากที่เราใช้เวลา 4 ปี ในการรุกตลาดออนไลน์ประกันภัยเดินทาง จนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ได้สำเร็จในปี 2562 ถัดจากนี้ MSIG เราต้องการจะขึ้นเป็นผู้นำอันดับ 1 ในประกัน UBI (Usage Based Insurance) หรือประกันภัยที่คิดเบี้ยตามพฤติกรรมการใช้จริงของผู้เอาประกันภัย โดยในเฟสแรก เราจะเริ่มที่ประกันภัยรถยนต์ก่อน แล้วจึงขยับเข้าสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ” 

 

ผู้บริโภคอย่างเราๆ คงต้องคอยติดตามดูกันต่อไปว่า MSIG จะมีสินค้าหรือบริการอะไรเพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านดิจิทัลในธุรกิจประกันวินาศภัย และจะโดนใจตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ในยุค New Normal ขนาดไหน 

FYI

บริการ 24/7 ที่ ‘ครบ’ ของ MSIG

  • สามารถโทรแจ้งศูนย์แจ้งอุบัติเหตุ 1259 และบริการช่วยเหลือฉุกเฉินบนท้องถนน 24 ชั่วโมง
  • สำหรับบริการช่วยเหลือฉุกเฉินในต่างประเทศ สามารถโทรแจ้ง 0 2039 5704 หรือกด Free WiFi Calling จากแอปพลิเคชัน MSIG SpeeDi
  • สำหรับบริการช่วยเหลือฉุกเฉินภายในบ้าน สามารถโทรแจ้ง 0 2305 8715 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising