×

รฟม. มั่นใจชนะคดีสายสีส้ม ย้ำไม่มีค่าโง่ เหตุบีทีเอสยังไม่ใช่ผู้เสียหาย

โดย efinanceThai
06.10.2020
  • LOADING...
Orange BTS BKK win case

ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงกรณีที่ ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นคำร้องต่อนายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์รับเรื่องร้องเรียนทำเนียบรัฐบาล ให้ตรวจสอบการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กรณีเปลี่ยนแปลงทีโออาร์ ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี วงเงินลงทุน 1.4 แสนล้านบาท ด้วยการปรับเกณฑ์ทีโออาร์ โดยให้มีการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคควบคู่กับด้านราคาในสัดส่วน 30:70

 

โดยระบุว่าอาจส่อไปในทางทุจริต และอาจทำให้รัฐต้องเสียค่าโง่หาก รฟม. แพ้คดี กรณี บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีทีเอสซี) ยื่นฟ้องว่า ขอยืนยันว่าจะไม่มีค่าโง่เกิดขึ้นแน่นอน เนื่องจากในท้ายคำฟ้องให้เพิกถอนมติ คณะกรรมการมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ. ร่วมลงทุนปี 2562 ที่ทำการเปลี่ยนแปลงวิธีประเมินทีโออาร์ และคำร้องขอให้ระงับการดำเนินการคัดเลือกเอกชน ที่บีทีเอสยื่นต่อศาลนั้น บีทีเอสไม่ได้เรียกร้องหรือระบุถึงการเรียกร้องค่าเสียหายแต่อย่างใด

 

รวมทั้งขณะนี้ยังไม่มีความเสียหายเกิดขึ้นกับบีทีเอส เนื่องจาก รฟม. ยังไม่เปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอการประมูลแข่งขันกัน ดังนั้นบีทีเอสจึงยังไม่ใช่ผู้เสียหาย

 

“เชื่อว่าคดีนี้จะไม่ยืดเยื้อ และมั่นใจว่า รฟม. จะชนะคดีแน่นอน เพราะผู้ฟ้องหรือบีทีเอสไม่ใช่ผู้เสียหาย และยังไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น ซึ่งประเด็นที่ศาลจะรับพิจารณาก็คือเรื่องของความเสียหาย” ภคพงศ์ กล่าว

 

ขณะนี้ยอมรับว่า รฟม. ได้รับความเสียหาย และผลกระทบด้านภาพลักษณ์องค์กรจากกรณีที่บีทีเอสยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ทำให้ต้องเร่งแก้ต่าง ซึ่ง รฟม. เป็นหน่วยงานรัฐ จะไม่เน้นเรื่องการค้าความกับเอกชน แต่ก็ต้องรอดูผลการพิจารณาของศาลก่อนว่า จำเป็นต้องดำเนินคดีทางแพ่งกับบีทีเอสหรือไม่อย่างไร

 

ส่วนกรณีที่ระบุว่าการปรับเปลี่ยนทีโออาร์เข้าข่ายทุจริต และขัดกับในคณะรัฐมนตรีนั้นไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เนื่องจาก รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกในทุกขั้นตอน ได้มีการพิจารณาและคำนึงถึงมติคณะรัฐมนตรี ประกอบการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 กฎหมายลำดับรอง และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว

 

วันที่ 14 ตุลาคมนี้ ศาลปกครองนัดไต่สวนคำร้อง ขอคุ้มครองฉุกเฉินของบีทีเอส ซึ่ง รฟม. ได้เตรียมยื่นคำร้องคัดค้านในทุกประเด็นของบีทีเอส โดยจะขอสงวนสิทธิ์ในทีโออาร์ เชื่อว่าจะชนะคดีได้

 

อย่างไรก็ตาม หาก รฟม. หรือ บีทีเอส แพ้คดี ต่างฝ่ายก็ต่างมีสิทธิที่จะยื่นอุทธรณ์คดีได้อีก  

 

สำหรับขั้นตอนการประมูลขณะนี้ยังเดินหน้าต่อได้ เนื่องจากศาลปกครองยังไม่มีคำตัดสินออกมา โดยจะเปิดให้เอกชนยื่นซองประมูลวันที่ 9 พฤศจิกายน จากนั้นกรรมการจะกำหนดหลักเกณฑ์ พิจารณาด้านเทคนิคและราคา ใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ จากนั้นคณะกรรมการจะเปิดซองคุณสมบัติ หากรายใดผ่านคุณสมบัติ จะเปิดซองเทคนิคและราคาพร้อมกัน ใช้เวลาพิจารณาประมาณ 1 เดือน คาดว่าจะประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูลได้ช่วงต้นปี 2564

 

โครงการดังกล่าว รฟม. ได้ตั้งสมมติฐานอัตราผลตอบแทน หรือ NPV ไว้ที่ 1 พันล้านบาท ตลอดอายุสัญญาสัมปทาน 30 ปี โดย รฟม. กำหนดจะจ่ายเงินอุดหนุนงานโยธาให้เอกชนไม่เกิน 9.6 หมื่นล้านบาท โดยเริ่มจ่ายหลังจากการก่อสร้าง 2 ปี ซึ่งจะจ่ายต่อเนื่องรวมทั้งหมด 7 ปี

 

เรียบเรียง: จำเนียร พรทวีทรัพย์ 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

ติดตามข่าวสารการลงทุนเพิ่มเติมได้ที่: www.efinancethai.com 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising