×

ต่างประเทศ ‘กำหนด-คง-เปลี่ยน’ นโยบายฉีดวัคซีนโควิดชนิด mRNA กับผู้มีอายุน้อยอย่างไร จากผลข้างเคียง ‘กล้ามเนื้อหัวใจ-เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ’ ที่พบยาก

โดย THE STANDARD TEAM
10.10.2021
  • LOADING...

หลังจากหน่วยงานกำกับดูแลด้านยาของยุโรประบุไว้ก่อนหน้านี้ว่า พบความเชื่อมโยงที่เป็นไปได้ระหว่างภาวะหัวใจอักเสบที่หายากกับวัคซีนโควิดของ Pfizer-BioNTech และ Moderna ซึ่งหน่วยงานกำกับดูแลด้านยาของทั้งฝั่งยุโรป สหรัฐอเมริกา และองค์การอนามัยโลก (WHO) ต่างยืนยันว่าประโยชน์ของวัคซีนชนิด mRNA นั้นมีมากกว่าความเสี่ยง

 

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเราเริ่มได้เห็นการให้ข้อมูล ตลอดจนการกำหนด คง และปรับนโยบายของบางประเทศกับการฉีดวัคซีนชนิดนี้แล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีอายุน้อย และนี่คือตัวอย่างส่วนหนึ่งของปฏิกิริยาต่างๆ ที่เกิดขึ้น

 

แคนาดา

  • มีคำแถลงจากสภาหัวหน้าเจ้าหน้าที่การแพทย์ด้านสุขภาพของแคนาดา (CCMOH) ระบุเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมาว่า กรณีผู้ที่มีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและ/หรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ซึ่งสัมพันธ์กับวัคซีนนั้นเกิดขึ้นบ่อยกว่าในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ที่มีอายุน้อยกว่า 30 ปี, เกิดขึ้นในเพศชายบ่อยกว่าเพศหญิง, เกิดขึ้นหลังการรับวัคซีน mRNA เข็มที่สองบ่อยกว่าเข็มแรก และเกิดขึ้นมากที่สุดในระยะ 7 วันหลังการฉีดวัคซีน
  • และจากข้อมูลการเฝ้าระวังความปลอดภัยของวัคซีนในแคนาดายังชี้ว่า อัตราการเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและ/หรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบที่มีรายงานหลังการฉีดวัคซีนของ Moderna นั้นสูงกว่าหลังการฉีดวัคซีน Pfizer-BioNTech ซึ่งในขณะที่การติดตามผลยังดำเนินอยู่ ข้อมูลที่มีอยู่ระบุว่า บุคคลที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ แม้จะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลก็มีอาการป่วยที่ค่อนข้างไม่รุนแรง ตอบสนองต่อการรักษาแบบอนุรักษนิยมได้ดีและฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว
  • คำแถลงดังกล่าวยังระบุว่า สิ่งสำคัญคือต้องพิจารณาด้วยว่าความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจ ซึ่งรวมถึงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบนั้นเพิ่มขึ้นอย่างมากหลังการติดเชื้อโควิด และความเสี่ยงดังกล่าวหลังการติดเชื้อโควิดจะสูงกว่าหลังฉีดวัคซีนด้วย
  • “ในการพิจารณาความเสี่ยงที่พบได้ยากและประโยชน์ที่ทราบของวัคซีนโควิด คณะกรรมการที่ปรึกษาแห่งชาติด้านการสร้างภูมิคุ้มกัน (NACI) ของแคนาดา ยังคงแนะนำการฉีดวัคซีนด้วยวัคซีนโควิดชนิด mRNA ทั้งสองตัว สำหรับผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ที่พิสูจน์แล้วของวัคซีนในการป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงและการเสียชีวิต” คำแถลงระบุ

 

สวีเดน

  • เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (6 ตุลาคม) หน่วยงานสาธารณสุขสวีเดน (Folkhälsomyndigheten) ระบุว่า จะหยุดการใช้วัคซีน Moderna กับผู้ที่เกิดในปี ค.ศ. 1991 และปีหลังจากนั้น เนื่องจากข้อมูลบ่งชี้ถึงการเพิ่มขึ้นของกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบในวัยรุ่นและผู้ใหญ่อายุน้อยที่ได้รับการฉีดวัคซีน
  • อย่างไรก็ตาม หน่วยงานสาธารณสุขสวีเดนก็กล่าวว่า “ความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบมีน้อยมาก โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบมักจะหายได้เอง แต่อาการต้องได้รับการประเมินโดยแพทย์” และบอกด้วยว่าระดับของความเสี่ยงนั้นมากที่สุดในช่วง 4 สัปดาห์แรกหลังการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะใน 2 สัปดาห์แรก
  • Reuters รายงานว่า สวีเดนแนะนำให้ใช้วัคซีน Pfizer-BioNTech แทน

 

เดนมาร์ก

  • หน่วยงานสาธารณสุขของเดนมาร์กระบุเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (8 ตุลาคม) ว่าจะยังมีการฉีดวัคซีน Moderna ให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีต่อไป หลังจากเมื่อวันพุธมีแถลงการณ์ที่ระบุถึงการระงับฉีดวัคซีน Moderna ให้กับบุคคลกลุ่มดังกล่าว ซึ่งทางการบอกว่าแถลงการณ์ของวันพุธเป็น ‘การสื่อสารที่ผิดพลาด’

 

ฟินแลนด์

  • เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (7 ตุลาคม) ฟินแลนด์ประกาศหยุดการฉีดวัคซีน Moderna แก่ผู้ชายที่เกิดตั้งแต่ปี ค.ศ. 1991 และปีหลังจากนั้น โดยจะให้วัคซีน Pfizer-BioNTech แทน โดยอ้างอิงผลการศึกษาในฟินแลนด์ สวีเดน นอร์เวย์ และเดนมาร์ก ที่พบว่าผู้ชายอายุต่ำกว่า 30 ปีที่ได้รับวัคซีนของ Moderna มีความเสี่ยงสูงกว่าคนกลุ่มอื่นเล็กน้อยที่จะเริ่มมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
  • สถาบันสุขภาพและสวัสดิการแห่งชาติของฟินแลนด์ระบุว่า การศึกษาดังกล่าวจะถูกเผยแพร่ภายในไม่กี่สัปดาห์และข้อมูลเบื้องต้นได้ถูกส่งไปยังองค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (European Medicine Agency: EMA) แล้ว เพื่อการประเมินต่อไป
  • นอกจากนี้ ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 24 กันยายน สถาบันสุขภาพและสวัสดิการแห่งชาติของฟินแลนด์ยังระบุข้อมูลว่า พบว่ามีกรณีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในฟินแลนด์เพิ่มขึ้น แต่กรณีดังกล่าวพบได้ยากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนทั้งหมด (อย่างไรก็ตาม การแถลงในขณะนั้นยังไม่นำไปสู่การปรับคำแนะนำในการได้รับวัคซีนทั้งเข็มแรกและเข็มที่สอง)

 

ฮ่องกง (ไม่ได้มีการใช้งานวัคซีน Moderna อยู่แล้ว)

  • คณะกรรมการวิทยาศาสตร์ว่าด้วยโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน และคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ว่าด้วยโรคอุบัติใหม่และโรคจากสัตว์สู่คน ภายใต้ศูนย์คุ้มครองสุขภาพ กรมอนามัย ประชุมร่วมกับคณะที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญของประธานเจ้าหน้าที่บริหารเมื่อกลางเดือนกันยายน และออกคำแนะนำว่าเด็กอายุ 12-17 ปี ควรได้รับวัคซีนโควิดของ Pfizer-BioNTech เพียงเข็มเดียว ‘เพื่อรักษาสมดุลระหว่างความเสี่ยงและประโยชน์ในท้องถิ่น’ หลังมีรายงานผลข้างเคียงเป็นการอักเสบของหัวใจ
  • ศาสตราจารย์เลา ยู-ลุง ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการวิทยาศาสตร์โรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนระบุกับสถานีโทรทัศน์ RTHK ว่า ผลข้างเคียงนั้นมีแพร่หลายกว่าที่คาดไว้แต่เดิม และการรับวัคซีนเพียงเข็มเดียวก็ดีกว่าสำหรับวัยรุ่น เพื่อที่จะลดโอกาสเกิดการอักเสบของหัวใจได้อย่างมาก สำนักข่าวอย่าง Reuters และ South China Morning Post รายงานความเห็นของผู้เชี่ยวชาญว่าจากความเสี่ยงต่อโควิดที่ต่ำในฮ่องกง ทำให้การรับวัคซีนเพียงเข็มเดียวก็ควรให้การป้องกันที่เพียงพอ

 

สหราชอาณาจักร

  • สหราชอาณาจักรระบุว่าจะฉีดวัคซีนเข็มแรกให้กับเด็กอายุ 12-17 ปีทุกคน ส่วนเข็มที่สองจะได้รับเมื่อใดนั้นจะมีการยืนยันอีกครั้ง (ยกเว้นในกลุ่มเด็กที่มีความเสี่ยงสูง อาทิ กลุ่มที่มีความพิการทางระบบประสาทอย่างรุนแรง, กลุ่มอาการดาวน์, กลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแออย่างมาก, กลุ่มที่มีปัญหาการเรียนรู้อย่างมากและหลากหลาย, กลุ่มที่มีโรคหัวใจ ปอด และตับเรื้อรัง ฯลฯ ซึ่งเด็กอายุ 12-17 ปีในกลุ่มเหล่านี้ จะได้รับวัคซีนสองเข็มห่างกัน 8 สัปดาห์) ทั้งนี้ ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี จะได้รับวัคซีน Pfizer-BioNTech เท่านั้น
  • ส่วนผู้ที่ตั้งครรภ์หรืออายุน้อยกว่า 40 ปี มีการระบุว่า ‘มักจะได้รับ’ นัดให้ไปฉีดวัคซีนของ Pfizer-BioNTech และ Moderna

 

ภาพ: Sebastian Barros / NurPhoto via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X