ตลอดระยะเวลากว่า 3 เดือนที่ผ่านมา ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ก่อให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างในหลายระบบของประเทศ ซึ่งนั่นได้รวมถึงปัญหาปากท้องของประชาชนคนไทยที่เป็นผลพวงมาจากการถูกลดเงินเดือน ลดเวลาทำงาน หรือเลวร้ายที่สุดคือการถูกเลิกจ้างงานในวิกฤตของโควิด-19
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสารพัดปัญหาในวิกฤตแบบนี้ยังคงมีภาพการช่วยเหลือจากคนไทยด้วยกันที่ปรากฏให้เห็นในวงกว้าง โดยเฉพาะความช่วยเหลือจากภาคเอกชนที่ร่วมแรงร่วมใจกันแสดงสปิริตช่วยเหลือคนไทยในรูปแบบของการให้ที่แตกต่างกัน
หนึ่งในโมเดลการช่วยเหลือที่น่าสนใจอย่างมากในเวลานี้คือ ‘Forest for Life สร้างป่าสร้างชีวิต’ จากโครงการอสังหาริมทรัพย์อย่าง The Forestias by MQDC ที่มีแนวคิด ‘สร้างเมืองคู่ป่า’ ที่เล็งเห็นโอกาสในการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-19 โดยประสานกับชุมชนผ่านมูลนิธิพุทธรักษา และเครือข่ายผู้ให้ The Givers Network ด้วยการทุ่มงบประมาณสูงกว่า 25 ล้านบาท เพื่อมอบเงินช่วยผู้ประสบปัญหาโควิด-19 จำนวน 1,000 ครอบครัว แบ่งเป็นครอบครัวละ 15,000 บาท โดยมีข้อแลกเปลี่ยนเล็กๆ น้อยๆ ว่าผู้ได้รับความช่วยเหลือต้องดูแลกล้าไม้ 1.2 ล้านต้น ในระยะเวลา 3 เดือน โดยมีกรมป่าไม้ให้ความรู้และเชื่อมโยงเครือข่ายชุมชนเพาะกล้า
‘Forest for Life สร้างป่าสร้างชีวิต’ เพิ่มพื้นที่สีเขียว เยียวยาชุมชน
คีรินทร์ ชูธรรมสถิตย์ ประธานผู้อำนวยการ กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และบริการ บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) อธิบายถึงความเป็นมาของโครงการ พร้อมเล่าถึงรายละเอียดว่าโครงการ The Forestias by MQDC ได้เล็งเห็นว่าผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้นได้กระจายผลกระทบเป็นวงกว้าง ทำให้ผู้มีรายได้น้อยได้รับความลำบากมากขึ้น รวมถึงมีผู้ตกงานหรือผู้ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจมากมาย
The Forestias by MQDC จึงได้จัดโครงการ ‘Forest for Life สร้างป่าสร้างชีวิต’ โดยจะนำกล้าไม้จากชุมชนไปให้ครอบครัวที่เข้าร่วมเป็นเครือข่ายตามที่กำหนด เพื่อนำไปดูแลอนุบาลให้เติบโตขึ้นเป็นระยะเวลา 90 วัน หรือ 3 เดือนโดยประมาณ โดยจะมีเงินช่วยเหลือให้ 5,000 บาทต่อครอบครัว แบ่งจ่ายเป็น 3 งวด รวม 15,000 บาท ตั้งเป้าหมายในการช่วยเหลือ 1,000 ครอบครัว
โครงการดังกล่าวจะมีการแบ่งเป็น 2 เฟส โดยที่แต่ละเฟสจะมีกล้าไม้จำนวน 6 แสนต้น แบ่งให้ผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือคราวละจำนวน 500 ครอบครัว
ส่วนกล้าไม้ที่เป็นผลลัพธ์จากโครงการจะถูกนำไปแจกจ่ายให้กับหน่วยงานราชการ เช่น กองสาธารณะ กรุงเทพมหานคร สำหรับสร้างเสริมพื้นที่สีเขียว หรือนำไปร่วมโครงการแจกกล้าไม้คนเมือง ขณะที่บางส่วนนำมาใช้กับโครงการของ The Forestias รวมถึงแจกจ่ายประชาชนทั่วไป หรือชุมชนที่รับต้นกล้าไปดูแลที่ต้องการพื้นที่สีเขียวก็จะมอบให้ เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในหลากหลายพื้นที่
“ปัจจุบันนี้เราต่างเห็นผลลัพธ์ว่าปัญหาผืนป่าหรือต้นไม้ที่ลดลงทำให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของพวกเราทุกคน เช่น เรื่องอากาศที่มีอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้สภาพแวดล้อมในประเทศไทยซึ่งตั้งอยู่ในเขตศูนย์สูตรที่มีอากาศร้อนอยู่แล้วก็ยิ่งมีอากาศร้อนมากขึ้น มีฝุ่นพิษมากขึ้น ทำให้มีปัญหาด้านสุขภาพตามมา
“โครงการสร้างป่าสร้างชีวิตนี้จึงตอบโจทย์ในการช่วยแก้ปัญหาสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี ประกอบกับในช่วงที่ชุมชนมีผู้ว่างงานจากสภาวะวิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้ ทางโครงการจึงขอมีส่วนช่วยในการให้ทุนเพื่อการดำเนินชีวิตเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับครอบครัวผ่านการให้ชาวชุมชนช่วยดูแลกล้าไม้” คีรินทร์กล่าว
สร้างระบบนิเวศคืนสู่สังคม
กิตติพันธุ์ อุยยามะพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส โครงการ The Forestias by MQDC บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) กล่าวเสริมว่า จุดเด่นของโครงการที่สำคัญคือการมอบพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ประมาณ 30 ไร่เป็นผืนป่าใจกลางโครงการ โดยจะเป็นป่าที่แท้จริงเพื่อสร้างระบบนิเวศที่สมดุลให้คืนกลับมาใหม่
การเปิดโครงการ ‘Forest For Life สร้างป่าสร้างชีวิต’ ในครั้งนี้นับว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ขยายแนวคิดในการสร้างพื้นที่สีเขียวนี้ออกไปสู่สาธารณะมากขึ้น ต้นไม้จากโครงการนี้บางส่วนจะนำมาปลูกต่อไปในป่าของโครงการ The Forestias by MQDC ที่ตั้งอยู่ที่บางนา กิโลเมตรที่ 7 ซึ่งถือว่าเป็นป่าที่แท้จริงใจกลางเมือง
“เราหวังว่าโครงการนี้จะได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง และอยากให้ทุกคนในชุมชนได้ร่วมกันส่งต่อขยายผลให้งอกเงยออกไปในวงกว้างให้มากที่สุด เพราะหากชุมชนมองเห็นโอกาสจากการสร้างป่าสร้างชีวิตแล้ว แน่นอนว่าผลดีย่อมตกกับชุมชน หากชุมชนช่วยเหลือตัวเองได้ มีรายได้เพียงพอ ไม่เดือดร้อน สังคมจะมีความสุข และจะส่งผลดีต่อประเทศชาติในที่สุด” กิตติพันธุ์กล่าว
เปิดรายละเอียดโมเดลสร้างป่าสร้างชีวิต
สำหรับโครงการ ‘Forest for Life สร้างป่าสร้างชีวิต’ ทาง The Forestias ได้ร่วมมือกับทางมูลนิธิพุทธรักษา และเครือข่ายผู้ให้ The Givers Network ในการที่จะสรรหาและคัดเลือกชุมชนที่เข้าร่วมกับโครงการ เนื่องจากข้อจำกัดด้านการขนส่งกล้าไม้ โครงการจึงมีความจำเป็นในการจำกัดชุมชนเข้าร่วมโครงการให้อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลและพื้นที่ใกล้เคียง โดยมีหลักเกณฑ์ของผู้ที่จะได้รับความช่วยเหลือ 4 ข้อ ประกอบด้วย
- การสมัครเข้ามาเป็นชุมชนในบริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑลและพื้นที่ใกล้เคียง
- ชุมชนจะต้องมีสมาชิกที่จะผ่านตามหลักเกณฑ์ไม่ต่ำกว่า 20 ครัวเรือน โดยจะพิจารณาจากชุมชนที่เดือดร้อนที่สุดก่อน สมาชิกของชุมชนมาในลักษณะครัวเรือน โดยแต่ละครัวเรือนที่สมัครและผ่านการคัดเลือกต้องเป็นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 และไม่มีสมาชิกในครัวเรือนที่ได้รับความช่วยเหลือจากโครงการของรัฐบาลแล้ว เพื่อเป็นการแบ่งเบาบรรเทาทุกข์ให้ทั่วถึง
- ครัวเรือนที่สมัครจะต้องมีพื้นที่เพื่อวางกล้าไม้อย่างน้อย 20 ตารางเมตร หรือถ้าชุมชนจะจัดหาที่ส่วนกลาง เช่น วัด โรงเรียน ก็สามารถทำได้ โดยทางโครงการจะช่วยเหลือค่าน้ำตามสมควรให้กับพื้นที่สาธารณะที่ให้พื้นที่กับโครงการนี้
- แต่ละครัวเรือนจะรับกล้าไม้ไปดูแล 1,200 ต้น โดย 1,000 ต้นจะเป็นกล้าไม้กลุ่มป่าไม้และไม้พุ่ม รวมถึงไม้มีค่าต่างๆ และอีก 200 ต้นจะเป็นกลุ่มพืชสวนครัว
เสียงตอบรับจากชุมชนนำร่อง
สำหรับชุมชนที่มีการนำร่องโครงการนี้ไปแล้วคือชุมชนวัดทุ่งเหียง ที่ได้รับต้นกล้าไม้ไปดูแลจำนวน 26 ครัวเรือน และจากข้อมูลทำให้พบว่าบางครอบครัวในชุมชนแห่งนี้กำลังประสบปัญหาขาดรายได้ทั้งครอบครัว เพราะสมาชิกในบ้านจำนวน 4-5 คนต้องตกงานทุกคน ทำให้ไม่มีเงินเลี้ยงชีพ
การเข้ามาร่วมโครงการนี้จึงช่วยทำให้ชุมชนมีรายได้พอเลี้ยงชีพในช่วงเวลา 3 เดือน ชุมชนวัดทุ่งเหียง ตำบลหมอนนาง อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี มีความใกล้ชิดกันระหว่างวัดและชุมชน และยินดีที่จะให้พื้นที่ของวัดและบริเวณชุมชนโดยรอบนำพื้นที่ส่วนกลางมาร่วมโครงการ
โดย พระครูศรวิชัย มหาวีโร รองเจ้าอาวาสวัดทุ่งเหียง ตัวแทนชุมชนวัดทุ่งเหียง กล่าวว่ารู้สึกยินดีและขอบคุณทุกหน่วยงานที่เปิดโอกาสให้ชุมชนได้เข้าร่วมโครงการนี้ เพราะช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนด้านปากท้องของชุมชนในเบื้องต้น และชุมชนก็ได้มีโอกาสเรียนรู้วิธีการดูแลกล้าไม้จากทางกรมป่าไม้ในอนาคตหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น
และคาดหวังว่าสมาชิกชุมชนวัดทุ่งเหียงจะมีรายได้มากพอที่จะดูแลตนเองและคนในครอบครัวได้ในที่สุด นอกจากนี้ทางวัดยังดีใจที่ได้เห็นความร่วมมือระหว่างชุมชนกับวัด โดยทางวัดได้เปิดพื้นที่ให้ชุมชนได้มาใช้ในการดูแลกล้าไม้เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้กับผู้ที่เดือดร้อน
ซึ่งนอกจากชุมชนวัดทุ่งเหียงที่จะร่วมโครงการช่วงแรกประมาณ 26 ครัวเรือน ยังมีชุมชนที่แจ้งความจำนงเข้าร่วมโครงการคือชุมชนบ้านอำเภอ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมอีกจำนวน 120 ครัวเรือน และโครงการยังเตรียมขยายไปยังพื้นที่ชุมชนอื่นๆ ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอีกด้วย ซึ่ง ณ ปัจจุบันได้ประสานกับทางสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ดำเนินการจัดหาชุมชนและกลุ่มคนไร้บ้านเพื่อเข้าร่วมโครงการอีกด้วย
สร้างป่า สร้างชีวิต สร้างรายได้
อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่ากรมป่าไม้ได้ร่วมให้การสนับสนุนโครงการนี้ เพราะมีวัตถุประสงค์ที่ตรงกับแนวทางของกรมป่าไม้ โดยเฉพาะเรื่องของการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและพื้นที่ป่าไม้ ในความร่วมมือนั้นทางกรมป่าไม้ได้แนะนำชุมชนที่มีอาชีพเพาะกล้าไม้เพื่อจำหน่าย
โดยทางโครงการ Forest for Life สร้างป่าสร้างชีวิต จะซื้อกล้าไม้โดยตรงจากชุมชนเหล่านั้น นอกจากนี้กรมป่าไม้ยังได้ให้เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการดูแลกล้าไม้มาช่วยแนะนำวิธีการดูแล
ในปัจจุบันการเพาะกล้าไม้ได้กลายเป็นหนึ่งอาชีพที่ทำให้ผู้เพาะเลี้ยงกล้าไม้สร้างรายได้ จากการที่ผู้ที่ปลูกไม้มีค่าในพื้นที่ของตนเองสามารถปลูกและตัดขายได้ภายใต้ พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ. 2562 ทำให้กล้าไม้โดยเฉพาะไม้มีค่าพวกไม้สัก ไม้ยาง ไม้พะยูง ได้รับความนิยมมากขึ้น
ซึ่งกรมป่าไม้เล็งเห็นว่าการส่งเสริมให้ครอบครัวในชุมชนได้นำกล้าไม้ไปดูแลระยะหนึ่งจะสร้างความผูกพันระหว่างคนกับต้นไม้ได้ และอาจถึงขั้นที่ชุมชนนั้นๆ จะใช้เป็นช่องทางในการนำไปทำเป็นอาชีพเพาะและเลี้ยงดูกล้าไม้ต่อไป ซึ่งเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศตามเจตนารมณ์และภารกิจของกรมป่าไม้
สำหรับชุมชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ Facebook: MQDC – The Forestias
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์