วันนี้ (20 พฤศจิกายน) ที่อาคารรัฐสภา กฤช เอื้อวงศ์ สว. พร้อมด้วย วุฒิชาติ กัลยาณมิตร สว. ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ แถลงผลการประชุมครั้งที่ 3 เพื่อหาข้อยุติในมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ปี 2564 ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภาเห็นแย้งกัน โดยวุฒิสภาเสนอให้แก้ไขเป็นหลักเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น นำมาสู่การตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อหาข้อยุติดังกล่าว
กฤชระบุว่า วันนี้น่าจะเป็นการประชุมก่อนครั้งสุดท้าย โดยผลลงมติเสียงส่วนใหญ่ให้คงไว้ตามที่วุฒิสภาแก้ไข 13 เสียง และ 9 เสียง ลงมติให้แก้ไขเพิ่มเติมตามที่สภาผู้แทนราษฎรเสนอ และงดออกเสียง 3 คน จากองค์ประชุมทั้งหมด 25 คน
หลังจากนี้จะนำร่างกฎหมายกลับเข้าสู่แต่ละสภาเพื่อพิจารณาความเห็น หากสภาใดไม่เห็นชอบ สามารถลงมติยับยั้งร่างกฎหมายและเสนอกลับเข้ามาใหม่ ทั้งนี้ เชื่อว่า สส. คงไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขของ สว. โดยต้องพักร่างกฎหมายดังกล่าวไว้ 180 วัน แล้วจึงจะเสนอเข้ามาใหม่ได้
กฤชกล่าวต่อว่า การประชุมคณะกรรมาธิการครั้งต่อไปคือวันพุธที่ 4 ธันวาคม 2567 เพื่อรับรองรายงานการประชุม จากนั้นวันที่ 6 ธันวาคม จะยื่นร่างกฎหมายเข้าสู่แต่ละสภา โดยหลังจากเปิดสมัยประชุมแล้ว คาดว่าวันที่ 16 ธันวาคม จะเข้าสู่วาระการประชุมวุฒิสภา และวันที่ 18 ธันวาคม จะเข้าสู่วาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
สำหรับกรรมาธิการที่งดออกเสียง 3 คน ประกอบด้วย พล.ต.ต. ฉัตรวรรษ แสงเพชร สว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ และกรรมาธิการในสัดส่วนพรรคภูมิใจไทย ทั้งสองคนคือ ไชยชนก ชิดชอบ สส. บุรีรัมย์ และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย และ กรวีร์ ปริศนานันทกุล สส. อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย
ด้านวุฒิชาติกล่าวว่า ขอเชิญชวนประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกเสียงประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยตัวท่านเอง และประโยชน์จะตกเป็นของประชาชนโดยตรง
ขณะที่ พิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว. ในฐานะกรรมาธิการ กล่าวว่า ในการประชุมวันนี้ได้เชิญตัวแทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด มาชี้แจงต่อกรรมาธิการถึงความพร้อมในการทำประชามติผ่านทางไปรษณีย์ ซึ่งผู้บริหารไปรษณีย์ไทยยืนยันว่ามีความพร้อมในการทำประชามติผ่านทางไปรษณีย์ โดยใช้วิธีให้ประชาชนมายืนยันตัวที่ไปรษณีย์ในเขตนั้นๆ ดูแล้วเป็นช่องทางที่สามารถป้องกันการลงคะแนนแทนกันได้ เพราะต้องใช้บัตรประชาชนมายืนยันตัวตนก่อน ส่วนค่าใช้จ่ายในการทำประชามติผ่านไปรษณีย์ทราบว่าอยู่ที่ประมาณ 1 พันกว่าล้านบาท แม้จะไม่ได้ถูก แต่ก็ช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่มาทำงานต่างภูมิลำเนาไม่ต้องเดินทาง
อย่างไรก็ตาม ตัวแทนฝ่าย กกต. ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าจะมีการทำประชามติผ่านทางไปรษณีย์หรือไม่ แค่กล่าวว่าจะรับไปพิจารณารายละเอียดอีกครั้งว่าจะดำเนินการหรือไม่