×

กนง. จะลดดอกเบี้ยอีกครั้งเมื่อไร จะช่วยบรรเทาปัญหาหนี้ครัวเรือนได้แค่ไหน

17.10.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 2.25% ถือเป็นการปรับดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี
  • SCB EIC ประเมินว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ไปสู่ระดับ 2% ภายในไตรมาส 1 ปีหน้า

  • Krungthai COMPASS ประเมินว่ายังคงมีความเป็นไปได้ที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไปในระยะข้างหน้า เหตุโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง และโลกอยู่ในวัฏจักรดอกเบี้ยขาลง ส่งผลต่อความผันผวนในตลาดการเงินโดยเฉพาะค่าเงินบาท ซึ่งอาจกดดันต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ
  • KResearch มองว่า กนง. อาจลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งหน้า หากยังกังวลต่อสถานการณ์หนี้ต่อเนื่อง แต่หากแบงก์พาณิชย์ลดดอกเบี้ยตามแล้วแนวโน้มเศรษฐกิจ-เงินเฟ้อเป็นไปตามคาดก็มีโอกาสที่ กนง. อาจคงดอกเบี้ยเช่นกัน
  • CIMB Thai มองว่า อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงซึ่งจะช่วยให้สถานะของลูกหนี้ดีขึ้นก็เป็นผลดีต่อธนาคารพาณิชย์เช่นกัน แม้ว่าดัชนีหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ลดลงมาบ้าง เนื่องจากในช่วงอัตราดอกเบี้ยขาลง ดอกเบี้ยของเงินกู้จะลดลงเร็วกว่าดอกเบี้ยของเงินฝาก

วานนี้ (16 ตุลาคม) คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 2.25% ถือเป็นการปรับดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี!

 

โดยคณะกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ได้บ้าง โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลงนี้จะไม่ได้ฉุดรั้งกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ (Debt Deleveraging) ท่ามกลางภาวะสินเชื่อมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง

 

EIC คาดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะไปอยู่ที่ 2% ภายในไตรมาส 1 ปีหน้า

 

SCB EIC มองว่า การสื่อสารของ กนง. ไม่ได้ Dovish ลงจากการประชุมครั้งก่อนมากนัก เพราะยังให้ความสำคัญกับเสถียรภาพระบบการเงิน การรักษา Policy Space ของนโยบายการเงิน และมุมมองอัตราดอกเบี้ยไม่ควรต่ำเกินไปจนเป็นการสะสมความเสี่ยงในระยะยาว 

 

“การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้เป็นการปรับลดเพื่อผ่อนคลายภาวะการเงิน ท่ามกลางภาวะสินเชื่อที่เติบโตชะลอลงและคุณภาพสินเชื่อทยอยปรับด้อยลง เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่ภาวะการเงินตึงตัวจะส่งผลกดดันเศรษฐกิจมากขึ้นในระยะต่อไป ซึ่งสะท้อนในการสื่อสารของ กนง. รอบนี้ว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยพยายามรักษาสถานะความเป็นกลาง (Neutral Stance) ของนโยบายการเงินไว้ตามแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ กนง. ประเมินว่ายังใกล้เคียงกับการประชุมครั้งก่อน และยังให้ความสำคัญปัจจัยเสถียรภาพระบบการเงินเช่นเดียวกับการประชุมครั้งก่อนๆ” SCB EIC ระบุ



 

SCB EIC ยังประเมินว่าจะเห็น กนง. ปรับลดดอกเบี้ยอีกครั้งภายในไตรมาส 1/25 เพื่อผ่อนคลายภาวะการเงินเพิ่มเติม โดยภาพเศรษฐกิจและภาวะสินเชื่อชะลอตัวจะยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง ความน่ากังวลของสถานการณ์จะเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า แต่จะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่ภาวะการเงินโลกจะเริ่มผ่อนคลายลง 


 

ส่วนมุมมองต่อสถานการณ์สินเชื่อ SCB EIC ประเมินว่า นอกจากความกังวลของ กนง. เกี่ยวกับสินเชื่อธุรกิจ SMEs แล้ว การขยายตัวของสินเชื่อภาคครัวเรือนจะเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติม จากมาตรฐานการให้สินเชื่อครัวเรือนของสถาบันการเงินซึ่งจะยังมีแนวโน้มเข้มงวดขึ้น สอดคล้องกับคุณภาพสินเชื่อครัวเรือนที่ปรับด้อยลงอย่างต่อเนื่อง 

 

สำหรับมุมมองต่อความเสี่ยงเศรษฐกิจไทย SCB EIC ประเมินว่า ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยปีหน้าจะปรับสูงขึ้นตามความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่ปรับเพิ่มขึ้น ทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ หลังการเลือกตั้งในปีนี้ ซึ่งอาจเป็นแรงกดดันต่อภาคการส่งออกสินค้าไทยได้ แม้ปัจจุบันการส่งออกจะกลับมาเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยท่ามกลางอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอลง

 

มุมมองต่อภาวะการเงินโลก SCB EIC ประเมินว่าจะผ่อนคลายลงต่อเนื่อง ตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางหลัก สภาพแวดล้อมทางการเงินโลกจะเอื้อต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมากขึ้น

 

กรุงไทยมอง กนง. จ่อลดดอกเบี้ยอีก เหตุโมเมนตัมแผ่ว ดอกเบี้ยโลกขาลง

 

วันนี้ (17 ตุลาคม) Krungthai COMPASS ประเมินว่ายังคงมีความเป็นไปได้ที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไปในระยะข้างหน้า สะท้อนจากมุมมองของ กนง. ต่อโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 

 

โดยคาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโต 1.0%QoQ SA (เทียบกับ 1.2% ใน 1H67) ตามด้วยแรงส่งที่แผ่วลงต่อเนื่องสู่ 0.6%QoQ SA ในปี 2568 ปัจจัยหลักจากการชะลอตัวของการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกในปีหน้า ขณะที่แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงที่เหลือของปีรวมถึงตัวเลขคาดการณ์ในปี 2568 ที่ 1.2% ยังต่ำกว่าค่ากลางของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ

 

นอกจากนี้เศรษฐกิจไทยอาจเผชิญความไม่แน่นอนที่จะส่งผลกระทบต่อภาวะทางการเงิน (Financial Conditions) จากปัจจัยต่างๆ ดังนี้

 

  1. การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางหลักฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะ Fed ซึ่งอยู่ในช่วงวัฏจักรดอกเบี้ยขาลง ส่งผลต่อความผันผวนในตลาดการเงินโดยเฉพาะค่าเงินบาท ซึ่งอาจกดดันต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ
  2. เศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวช้ากระทบต่อการขยายตัวของสินเชื่อมากกว่าที่ กนง. คาด มองไปข้างหน้า ปัจจัยเหล่านี้จะเพิ่มความเสี่ยงด้านต่ำต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ และอาจเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมได้

 

กสิกรมอง กนง. อาจคงดอกเบี้ย หากแบงก์ลดตาม และเศรษฐกิจ-เงินเฟ้อตามคาด

 

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch) ระบุเมื่อวันที่ 16 ตุลาคมว่า ในการประชุมครั้งหน้าในเดือนธันวาคม 2567 แนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งคงขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในระยะข้างหน้าเป็นสำคัญ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่ามีโอกาสที่ กนง. อาจปรับลดดอกเบี้ยต่อเนื่องในการประชุมครั้งหน้า หากความกังวลของ กนง. เกี่ยวกับสถานการณ์หนี้ยังไม่คลี่คลายลง

 

อย่างไรก็ดี หากธนาคารพาณิชย์ปรับลดดอกเบี้ยตาม รวมถึงหากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเป็นไปตามคาด มีโอกาสที่ กนง. อาจคงดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งหน้า ซึ่ง กนง. คงพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากข้อมูลที่ออกมาระหว่างทางเป็นสำคัญ รวมถึงคงต้องติดตามมาตรการทางการคลังที่อาจออกมาเพิ่มเติม

 

CIMB มอง อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงจะช่วยให้สถานะของลูกหนี้ดีขึ้น

 

ตลาดการเงินในประเทศตอบรับการลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ไปในทางบวก โดยดัชนีตลาดหุ้นไทยสูงขึ้นในเกือบทุกกลุ่ม ขณะที่ดัชนีหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ลดลงมาบ้าง เนื่องจากในช่วงอัตราดอกเบี้ยขาลง ดอกเบี้ยของเงินกู้จะลดลงเร็วกว่าดอกเบี้ยของเงินฝาก

 

อย่างไรก็ดี อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงซึ่งจะช่วยให้สถานะของลูกหนี้ดีขึ้น ก็มองได้ว่าเป็นผลดีต่อธนาคารพาณิชย์เช่นกัน ส่วนทางด้านอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลในตลาดตราสารหนี้ของไทยก็ลดลงมาบ้าง แต่ลดลงมาไม่มาก เนื่องจากนักลงทุนมองว่าการลดอัตราดอกเบี้ยของไทยจะดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป

 

ด้านค่าเงินบาทวานนี้แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่า กนง. ลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ก็ตาม ซึ่งการแข็งค่าของเงินบาทสอดคล้องกับค่าเงินเอเชียส่วนใหญ่ที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเช่นกัน เนื่องจากการลดลงของอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 

 

โดยแนวโน้มของค่าเงินบาทนั้น การลดอัตราดอกเบี้ยของ กนง. คาดว่าจะไม่ส่งผลมากนัก เนื่องจากแนวโน้มตลาดอัตราแลกเปลี่ยนจะเปลี่ยนแปลงตามปัจจัยการคาดการณ์แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ เป็นหลัก ซึ่งที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ก็สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยมากอยู่แล้ว ดังนั้นจึงมองว่าการที่เงินบาทจะแข็งค่าบ้างเล็กน้อยในบางช่วงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเป็นภาวะที่อาจเกิดขึ้นชั่วคราวและค่อนข้างจะจำกัด

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising