วันนี้ (18 กรกฎาคม) มาดามเดียร์-วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ พร้อมด้วย ภาดาท์ วรกานนท์ ส.ส. เขตราชเทวี-พญาไท-จตุจักร และ ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส. เขตดุสิต-บางซื่อ ร่วมพูดคุยเอ็กซ์คลูซีฟทอล์ก สุมหัวคุย เมื่อหนังไทยติดโควิด-19 เพื่อรับฟังปัญหาผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ซึ่งนำโดย วิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จํากัด (มหาชน), สง่า ฉัตรชัยรุ่งเรือง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารค่ายภาพยนตร์ทรานส์ฟอร์เมชั่น ฟิล์ม, ยงยุทธ ทองกองทุน ผู้กํากับภาพยนตร์ฯ, เกียรติกมล เอี่ยมพึ่งพร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น และ พิทยา สิทธิอํานวย ตัวแทนจากสหมงคลฟิล์ม ที่โรงภาพยนตร์เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ รัชโยธิน
วิชากล่าวว่า ปัจจุบันโรงภาพยนตร์ในไทยยังไม่ได้ครึ่งหนึ่งของในเกาหลีใต้ จึงถือว่าอุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ในไทยยังสามารถเติบโตได้อีกมาก และที่ผ่านมา 5 ปีไม่โดน Disruption และยังมีอัตราการเติบโตที่ดี แต่เมื่อต้นปีที่ผ่านมาได้ประสบกับวิกฤตโควิด-19 แต่ก็คิดว่าช่วงนี้ถือว่าเป็นโอกาสของหนังไทย เนื่องจากหนังฮอลลีวูดอาจจะมีข้อจำกัดในการเข้ามา และการจะเติบโตจากนี้ไป เชื่อว่าจากนี้อุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ไทยจะต้องพึ่งพาตัวเอง โดยเฉพาะหนังไทย แต่ทั้งนี้ลำพังภาคเอกชนทำหนังกันเองจะเติบโตได้แค่ระดับหนึ่ง ซึ่งในอดีตภาครัฐก็ได้เข้ามาช่วยสนับสนุนอยู่บ้าง เช่น สุริโยไท ซึ่งหนังไทยถือว่าคุณภาพก็ไม่แพ้ประเทศใดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงต้องการให้ภาครัฐได้มองว่าจะทำอย่างไรในการใช้อุตสาหกรรมภาพยนตร์เป็นตัวทำเงินเข้าสู่ประเทศได้ ซึ่งหากภาครัฐสามารถช่วยให้หนังไทยไปสู่ประเทศจีนได้ปีละ 2-3 เรื่อง เชื่อว่าจะสามารถทำเงินได้จำนวนมาก และเชื่อว่าศักยภาพของเรามีเพียงพอ
ด้าน วทันยา กล่าวว่า ในฐานะ ส.ส. สิ่งที่ตนเน้นย้ำมาตลอดคือการช่วยเหลือประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาตนก็เคยประกอบธุรกิจ ก็เข้าใจว่าเมื่อเจอวิกฤตก็ย่อมได้รับผลกระทบจำนวนมาก แต่ในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสอยู่เสมอ ดังนั้นหากภาครัฐได้หันมามองว่าจะทำอย่างไรให้เกิดโอกาสในวิกฤตแบบนี้ก็จะเป็นเรื่องที่ดี โดยวันนี้ต้องยอมรับว่าเรากำลังเจอกับปัญหามากมาย ทั้งนักศึกษาจบใหม่ที่ยังไม่มีงานทำ คนที่กำลังตกงาน และอย่างที่บอกว่าขณะนี้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของเกาหลีไปไกลมาก ซึ่งตนก็เป็นหนึ่งในแฟนคลับของ Netflix ก็ได้เห็นวิวัฒนาการของหนังเกาหลี โดยเฉพาะสิ่งหนึ่งที่เห็นว่าเขาไปได้ไกลมากคือเรื่องของบท ทั้งภาพยนตร์และละคร ตนจึงอยากเห็นประเทศไทยเป็นแบบนี้บ้าง ด้วยการนำ ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ เข้ามาช่วย ซึ่งในเกาหลีมีการนำเอาซอฟต์พาวเวอร์มาช่วยเพื่อการส่งออกวัฒนธรรม จึงทำให้เกิดรายได้เข้าสู่ประเทศจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว แฟชั่น หรือแม้แต่เรื่องความสวยความงาม
และวันนี้ภาครัฐเอง เราก็เพิ่งผ่าน พ.ร.บ. งบประมาณกันไป และยังมี พ.ร.ก. เงินกู้ แต่อย่างที่เข้าใจว่า ในกฎหมายเหล่านั้นมีรายละเอียดของการใช้เงินกำกับอยู่จำนวนมาก แต่ก็ยังมีเงินนอกงบประมาณอีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ได้ถูกหยิบออกมา เช่น เงินจากกองทุนสื่อสร้างสรรค์ โดยมองว่าวันนี้ ในช่วงที่เกิดวิกฤต ดังนั้นรัฐจะต้องเข้ามาช่วยเหลือ การจะหยิบเม็ดเงินมาสนับสนุนนั้นถือว่าจะต้องมีการใช้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด ตนจึงอยากจะเรียกร้อง และเป็นสิ่งจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องคำนึงถึงเรื่องนี้
ด้าน ธณิกานต์ กล่าวว่า ภาครัฐควรจะต้องมีนโยบายเข้ามาสนับสนุนในส่วนนี้ด้วย โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่อัตราการว่างงานกำลังสูงขึ้น และยังมีพัฒนาการของ AI ซึ่งก็จะเข้ามาแทนที่คน ดังนั้นเราจะทำอย่างไรเพื่อที่จะรองรับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นเหล่านี้ได้
ขณะที่ ภาดาท์ บอกว่า ส่วนตัวเชื่อมั่นในคำว่าซอฟต์พาวเวอร์ คือการสร้างแรงดึงดูดให้คนเชื่อในสิ่งเดียวกันโดยที่ไม่ต้องบังคับ และสุดท้ายก็จะนำไปสู่การสร้างรายได้ให้กับประเทศ อย่างอุตสาหกรรมหนังในเกาหลีใต้ที่ประสบความสำเร็จ อย่างเช่นที่ผ่านมาหนังเกาหลีได้รับรางวัลจากเวทีออสการ์ ซึ่งมองว่าไม่ใช่เพียงแค่คนเกาหลีที่จะดีใจ แต่เชื่อว่าทุกคนในเอเชียก็มีความหวังว่าเราก็จะสามารถแข่งขันได้ และส่วนตัวรู้สึกว่าสิ่งที่เกาหลีใต้มีวันนี้ หรือประสบความสำเร็จได้ ไม่ใช่ความบังเอิญ แต่เพราะเกิดจากความร่วมมือของทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งการมาพูดคุยกันวันนี้ก็ถือว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะสะท้อนเสียงไปยังรัฐบาล เพื่อให้การสนับสนุน ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าเรามีคุณภาพ แต่เรารอแค่โอกาสที่จะมีคนช่วยเรา ซึ่งถือว่าวันนี้เป็นโอกาสดีในการเริ่มต้น
วทันยา กล่าวถึงการปรับคณะรัฐมนตรีที่กำลังจะมีขึ้นเร็วๆ นี้ว่า เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ตนเน้นย้ำมาเสมอ ช่วงที่ผ่านมาก็ถือเป็นความท้าทายของกระทรวงสาธารณสุข และในตอนนี้ก็คือเรื่องของเศรษฐกิจ ที่ประชาชนและภาคเอกชนก็คงจะจับตามองเป็นพิเศษ เท่าที่ตนทราบ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้นำและหัวหน้าในคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องกอบกู้เศรษฐกิจของประเทศจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ต้องมีการบูรณาการจากทุกฝ่าย เพราะฉะนั้นบุคคลที่จะมาทำหน้าที่ต้องเป็นบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ซึ่งพวกเราขอสนับสนุนให้นายกรัฐมนตรีมองถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก บุคลากรที่จะเข้ามาขับเคลื่อนจะต้องเป็นที่ยอมรับของภาคเอกชน และเมื่อเข้ารับตำแหน่งจะต้องขับเคลื่อนงานได้เลยทันที
เมื่อถามถึงกรณีมีชื่อ ฐากร ตัณฑสิทธิ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีกระแสข่าวจะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) วทันยา กล่าวว่า ทุกๆ รายชื่อแคนดิเดตรัฐมนตรีในขณะนี้ ตนก็เห็นว่าแต่ละท่านมีความรู้ความสามารถ ฐากรก็เป็นผู้เชี่ยวชาญ เป็นผู้บริหาร กสทช. มายาวนาน จึงมีความรู้ความเข้าใจ และภาคเอกชนก็น่าจะมีความเชื่อมั่น แต่ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีจะตัดสินใจทั้งสิ้น
เมื่อถามว่ากลุ่ม ส.ส. ดาวฤกษ์ จะมีรายชื่อเป็นรัฐมนตรีหรือไม่ วทันยากล่าวว่า อย่างที่ตนเน้นย้ำมาตลอด ปัญหาของประชาชนวันนี้มีมากมาย เราต้องการเข้ามาแก้ไข ตนเคยพูดแล้วว่า ถึงแม้จะมีการเสนอตำแหน่งใดๆ ให้ พวกเราก็จะไม่ขอรับ แต่จะขอทำหน้าที่ ส.ส. ในวันนี้ให้ดีที่สุด ซึ่งสิ่งที่ ส.ส. พรรคทำได้ในตอนนี้คือการสนับสนุนให้กำลังใจนายกรัฐมนตรีให้สรรหาบุคลากรที่จะสามารถมาช่วยผ่านวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้ให้ได้
เมื่อถามถึงการตั้งพรรคกับกลุ่มสี่กุมาร วทันยากล่าวว่า ตนยังไม่ได้มองไปถึงตรงนั้น และยังไม่ได้มีการพูดคุยใดๆ ในเรื่องนี้ เพราะวันนี้เรายังตั้งใจทำงานในฐานะ ส.ส. เพื่อทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า