×

ศิริกัญญา ก้าวไกล ชี้รัฐบาลโอนงบฯ หลุดเป้า ได้ต่ำกว่าแสนล้าน เหตุไม่เกลี่ยก่อนกู้ หน่วยงานไม่พยายาม

โดย THE STANDARD TEAM
13.05.2020
  • LOADING...

วันนี้ (13 พฤษภาคม) ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวว่า จากกรณีที่มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวานนี้ (12 พฤษภาคม) หลังจากที่มีการนำร่าง พ.ร.บ. โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ไปรับฟังความคิดเห็น สำนักงบประมาณได้แจ้งว่ามีการปรับปรุงข้อเสนอการโอนงบฯ ลงจำนวน 11,942 ล้านบาท จากผลการพิจารณาตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 21 เมษายน จำนวน 100,395 ล้านบาท เป็นจำนวน 88,452 ล้านบาท เท่ากับว่าโอนงบที่ยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้ของปีงบประมาณนี้ได้ไม่ถึงแสนล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่าหน่วยงานต่างๆ ไม่มีความพยายามโอนงบเลย ถ้าไม่นับเงินชำระหนี้ เท่ากับโอนกลับมาได้แค่ 50,000 ล้านบาท ทั้งที่มีมติ ครม. ให้เริ่มทำการจัดงบประมาณใหม่ของปี 2563 มาตั้งแต่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา 2 เดือนก็ยังไม่เสร็จสิ้น ส่วนการเบิกจ่ายงบปี 2563 ก็ยังไม่ไปถึงไหน โดยเฉพาะในส่วนของรายจ่ายลงทุนที่เบิกจ่ายไปได้เพียง 12% เพราะเพิ่งจะเริ่มเบิกจ่ายได้หลังจากที่ผ่านร่าง พ.ร.บ. งบประมาณไปเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ กลับตัดลดงบประมาณไปได้ไม่มากเท่าที่ควร

 

ศิริกัญญากล่าวต่ออีกว่า สรุปแล้วรัฐบาลตั้งเป้าว่าจะต้องใช้งบกลางเพิ่มเท่าไร ถ้าไม่ได้ตามเป้าก็ควรจะไปรีดไขมันที่ยังเหลืออยู่ในหน่วยงานต่างๆ เพิ่มอีก ถ้ามีงบกลางไม่เพียงพอจะทำอย่างไร น่าเสียดายโอกาสในการโอนงบครั้งนี้ ที่ควรจะเป็นประโยชน์ในการโอนงบครั้งนี้ให้ได้งบประมาณมากที่สุดและเร็วที่สุด อย่างที่เราทราบกันดีว่างบกลาง เงินสำรองฉุกเฉินของประเทศนั้นหมดเกลี้ยงแล้ว ถ้ากระบวนการนี้เสร็จสิ้นเร็ว ก็จะมีเงินที่มาใช้ในการเยียวยาได้เร็วขึ้น เพราะการกู้เงินก็ยังทำกันแบบกะปริดกะปรอยเพียงแค่ให้พอจ่ายเป็นเดือนๆ ไป

 

“พรรคก้าวไกลได้เสนอแนะมาตลอดให้เกลี่ยงบ 2563 ก่อนจะเริ่มกู้เงิน ซึ่งประเมินไว้ว่าจะได้อย่างต่ำ 100,000 ล้านบาท ถ้ารวมการตัดเงินชำระคืนหนี้ ก็ควรจะได้ 130,000 ล้านบาทขึ้นไป หากเกลี่ยงบตามที่พรรคก้าวไกลเสนอ และหากยอมให้เปิดสภาวิสามัญได้ จะทำให้มีเม็ดเงินมาเยียวยาประชาชนได้ทันสถานการณ์ และการโอนงบก็จะดีกว่านี้”

 

ศิริกัญญกล่าวด้วยว่า สำหรับรายละเอียดการกู้เงินตาม พ.ร.ก. ที่เปิดเผยต่อสาธารณะ มีการกู้ไปทั้งสิ้น 170,000 ล้านบาท เป็นการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน 2 ครั้งรวมวงเงิน 120,000 ล้านบาท ยังไม่เปิดเผยอัตราดอกเบี้ย ส่วนที่เหลือคือพันธบัตรออมทรัพย์จ่ายดอกเบี้ยเฉลี่ย 2.4% สำหรับพันธบัตร 5 ปี และ 3% สำหรับพันธบัตร 10 ปี ซึ่งสูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในปัจจุบันเกือบสามเท่า เท่ากับว่ารัฐบาลจ่ายต้นทุนในการกู้เงินครั้งนี้สูงมาก

 

ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising