×

วิบากกรรมโรงหนัง ฤามนต์ขลังจะเสื่อมสลาย

08.05.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ในห้วงเวลาที่การเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย หนังเป็นเสมือนสิ่งที่สำคัญที่สุดในบรรดาสิ่งที่แทบไม่มีความสำคัญ สำหรับหลายคนที่ปัจจัยพื้นฐานในการใช้ชีวิตของพวกเขาขาดตกบกพร่อง หนังก็เป็นของฟุ่มเฟือยไปโดยปริยาย 
  • แต่ครั้นจะบอกว่าหนังเป็นเรื่องผิวเผิน ปลีกย่อย และสามารถตัดออกจากชีวิตประจำวันได้ เราจะอธิบายอย่างไรกับปรากฏการณ์ที่จู่ๆ ผู้คนก็แห่กันสมัครบริการสตรีมมิงอย่างล้นหลามในช่วงที่ทั่วโลกอยู่ในภาวะล็อกดาวน์ และเหล่าผู้ให้บริการตั้งแต่ Netflix, Hulu, Prime Video, Apple TV+, Disney+ ฯลฯ ล้วนแต่ได้รับอานิสงส์อย่างพร้อมเพรียง 
  • ประเด็นที่น่าครุ่นคิดจริงๆ ก็คือถ้าหากหนังเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในท่ามกลางสิ่งที่ไม่ค่อยจะมีความสำคัญ แล้วการดูหนังในโรงหนังยังนับเป็นแก่นสารได้อีกหรือไม่ เพราะโรคระบาดอาจจะทำให้โรงมหรสพน้อยใหญ่ต้องหยุดกิจการชั่วคราว หรือบางแห่งก็รูดม่านปิดฉากไปเลย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคนทั่วไปดูหนังกันน้อยลง กลับตรงกันข้ามด้วยซ้ำ

 

 

ถ้าใช้สำนวนวัยรุ่นก็คงต้องบอกว่า ดูทรงแล้ววี่แววที่โรงหนังบ้านเราจะกลับมาเปิดฉายได้ตามปกติก็น่าจะอีกพักใหญ่ๆ ทีเดียว เพราะโรงหนังถูกจัดอยู่ในกลุ่มกิจการที่มีความเสี่ยงสูงสุดหรือระดับสีแดง จากคำอธิบายของทางการที่บอกว่าเป็นสถานที่ปิดและผู้ใช้บริการต้องอยู่ด้วยกันนานเป็นชั่วโมง ทั้งๆ ที่ถ้าหากนับจนถึงปัจจุบัน (ต้นเดือนพฤษภาคม) ระยะเวลาที่แสงไฟจากเครื่องฉายหยุดทำงานก็ใกล้ๆ จะ 2 เดือนเข้าไปแล้ว

 

แต่ไม่ว่าอีกนานแค่ไหนที่โรงหนังจะหวนกลับมาให้บริการ ความเชื่อมั่นของผู้ชมก็น่าจะใช้เวลามากกว่านั้นขึ้นไปอีก ไม่มีใครบอกได้อย่างแน่ชัดว่าสถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นเป็นเพียงแค่การสะดุดหรือสะอึกชั่วครู่ยาม และทุกอย่างจะหวนกลับไปเหมือนเดิม หรือเป็นจุดเปลี่ยนที่นำพาให้รูปแบบการดูหนังที่พวกเรารู้จักคุ้นเคยพลิกผันไปอย่างถาวร

 

ไม่ว่าจะอย่างไร คำถามที่อาจผุดขึ้นในห้วงคำนึงของหลายคนก็คือ ในช่วงที่โรคระบาดอาละวาดอยู่ ณ ตอนนี้ และกระทบชีวิตอันเป็นปกติของพวกเราอย่างถ้วนทั่วทุกตัวคน หนังยังคงเป็นสิ่งที่สำคัญหรือจำเป็นอยู่อีกหรือไม่

 

บางทีคนที่ช่วยตอบคำถามที่สุ่มเสี่ยงต่อการพูดเข้าข้างตัวเองได้อย่างรัดกุมที่สุดก็คือ เจอร์เกน คลอปป์ กุนซือของทีมลิเวอร์พูล​ ซึ่งก็อย่างที่แฟนฟุตบอลรับรู้โดยทั่วกันว่าหงส์แดงกำลังจะครองแชมป์พรีเมียร์ลีกครั้งแรกของสโมสรอยู่รอมร่อ ในตอนที่ฝ่ายจัดการแข่งขันของพรีเมียร์ลีกสั่งเลื่อนเตะแมตช์ที่ยังเหลืออยู่ออกไปก่อนเนื่องจากไวรัส (ซึ่งบรรดากองแช่งล้วนภาวนาให้ฤดูกาลนี้เป็นโมฆะ) แล้วคลอปป์ก็ส่งสารที่สนับสนุนการตัดสินใจของฝ่ายจัดการแข่งขันไปถึงเหล่าสาวกเดอะค็อป ประโยคหนึ่งที่เขาใช้อธิบายความสำคัญของเกมการฟาดแข้งก็คือ “ฟุตบอลดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุดในบรรดาสิ่งที่สำคัญน้อยที่สุด (Football always seems the most important of the least important things.) และในสถานการณ์ตอนนี้ การแข่งขันฟุตบอลไม่มีความสำคัญเอาเสียเลย”

 

ว่าไปแล้วตรรกะของคลอปป์เรื่องฟุตบอลสามารถประยุกต์ใช้กับหนังด้วยเช่นกัน ในห้วงเวลาที่ความเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย หนังก็เป็นเสมือนสิ่งที่สำคัญที่สุดในบรรดาสิ่งที่แทบไม่มีความสำคัญ สำหรับหลายคนที่ปัจจัยพื้นฐานในการใช้ชีวิตของพวกเขาขาดตกบกพร่อง หนังก็เป็นของฟุ่มเฟือยไปโดยปริยาย 

 

แต่ครั้นจะบอกว่าหนังเป็นเรื่องผิวเผิน ปลีกย่อย และสามารถตัดออกจากชีวิตประจำวันได้ เราจะอธิบายอย่างไรกับปรากฏการณ์ที่จู่ๆ ผู้คนก็แห่กันสมัครบริการสตรีมมิงอย่างล้นหลามในช่วงที่ทั่วโลกอยู่ในภาวะล็อกดาวน์ และเหล่าผู้ให้บริการตั้งแต่ Netflix, Hulu, Prime Video, Apple TV+, Disney+ ฯลฯ ล้วนแต่ได้รับอานิสงส์อย่างพร้อมเพรียง นั่นยังไม่รวมถึงของฟรีทางโทรทัศน์และช่องยูทูบที่น่าเชื่อว่าจำนวนผู้ชมน่าจะเพิ่มขึ้นอย่างอุ่นหนาฝาคั่งเช่นเดียวกัน

 

 

ประเด็นที่น่าครุ่นคิดจริงๆ ก็คือถ้าหากหนังเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในท่ามกลางสิ่งที่ไม่ค่อยจะมีความสำคัญ แล้วการดูหนังในโรงหนังยังนับเป็นแก่นสารได้อีกหรือไม่ เพราะโรคระบาดอาจจะทำให้โรงมหรสพน้อยใหญ่ต้องหยุดกิจการชั่วคราว หรือบางแห่งก็รูดม่านปิดฉากไปเลย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคนทั่วไปดูหนังกันน้อยลง กลับตรงกันข้ามด้วยซ้ำ เพราะดูเหมือนพวกเรามีเวลามากขึ้น และการเข้าถึงกรุหนังทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ก็เป็นเรื่องง่ายดาย                             

 

หรือว่ากันตามจริง คนจำนวนไม่น้อยก็ดูหนังตามความพึงพอใจของแต่ละคนผ่านจอส่วนตัวอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนโรคระบาดจะมาเยือน และ ‘โควิด-19’ เหมือนกับจะช่วยทำให้ข้อสงสัยที่ว่า บรรดามัลติเพล็กซ์และสแตนด์อโลนไปจนถึงโรงอาร์ตเฮาส์ทั้งหลายยังคงเป็น ‘ผู้เล่น’ ที่มีความหมายอยู่อีกหรือไม่ กลายเป็นเครื่องหมายคำถามที่ใหญ่โตขึ้น

 

แต่ก่อนที่จะพยายามหาทางไขความกระจ่างจากปุจฉาข้างต้น หากใครลองสำรวจความเป็นมาเป็นไปแต่หนหลังก็คงจะพบว่ากิจการโรงหนังในภาพรวมเผชิญกับความท้าทายมานับครั้งไม่ถ้วน และว่าไปแล้วก็สามารถฝ่าฟันตลอดจนก้าวผ่านข้ามพ้นความยุ่งยากมาได้นับครั้งไม่ถ้วนเช่นกัน แม้ว่าข้อเท็จจริงที่ไม่อาจจะโต้แย้งได้ก็คือการระบาดของเชื้อไวรัสงวดนี้จะสร้างแรงกระเพื่อมอย่างหนักหน่วงรุนแรงชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์

 

ว่าไปแล้ว มุมมองที่ว่าโรงหนังเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคไม่ได้เป็นเรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด ย้อนกลับไปในช่วงเวลาที่กิจการโรงหนังเพิ่งจะเริ่มต้นเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว นี่เป็นหนึ่งในหลายเหตุผลที่บรรดาผู้ที่เคร่งครัดในกรอบศาสนาทั้งในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และออสเตรเลีย ใช้เป็นข้ออ้างในการเข้าไปควบคุม (ซึ่งก็คงจะมีมูล)

 

กระนั้นก็ตาม ตื้นลึกหนาบางจริงๆ เกี่ยวข้องกับความพยายามจะเซนเซอร์หนัง ข้อมูลหลายแหล่งระบุตรงกันว่าโรงหนังยุคบุกเบิกเป็นสถานที่อโคจร หรืออีกนัยหนึ่ง แหล่งมั่วสุมของคนไม่มีการศึกษาหรือคนใช้แรงงาน และนักอนุรักษนิยมเชื่อว่าหนังไม่เพียงแค่เป็นภัยต่อคนดูและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสามารถในการนำเสนอเรื่องเพศและความรุนแรงได้อย่างโจ่งครึ่ม ความมืดมิดภายในโรงหนังก็ยังเอื้ออำนวยให้ผู้คนละเมิดศีลธรรม

 

เรื่องที่ชวนขำขื่นก็คือสภาท้องถิ่นของกรุงลอนดอนเคยออกกฎให้โรงหนังฉายหนังได้แค่ 6 วัน และหยุดวันอาทิตย์ นัยว่าเพื่อให้ผู้คนเข้าโบสถ์และชำระล้างจิตใจ (จากความผิดบาปของการเข้าโรงหนัง)

 

แต่ก็นั่นแหละ กาลเวลาผ่านพ้นมาเนิ่นนานเพียงพอที่จะพิสูจน์ว่าการดูหนังในโรงหนังยังคงเป็น ‘วัตรปฏิบัติ’ ของผู้ชมมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ตัวเลขล่าสุดของสมาคมภาพยนตร์แห่งอเมริกาช่วยยืนยันว่ายอดขายตั๋วหนังทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 4.18 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2018 เป็น 4.22 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2019 และโรงหนังก็ปรับเปลี่ยนตัวเองตามความผันผวนของสังคมและคู่แข่งทางการตลาด (วิทยุ โทรทัศน์ ความบันเทิงภายในบ้าน สตรีมมิง) ด้วยเป้าประสงค์ที่ไม่ได้สลับซับซ้อน นั่นคือการเกลี้ยกล่อม ชักชวน หรือแม้กระทั่งหลอกล่อให้คนออกจากบ้านเพื่อเข้าไปอยู่ในโรงหนัง และทำทุกวิถีทางให้พวกเรารู้สึกว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นเรื่องคุ้มค่า (แน่นอนว่าเราไม่ได้พูดถึงป๊อปคอร์นและน้ำอัดลมที่สนนราคาของมันทำให้หลายคนรู้สึกเหมือนโดนปล้น) ตลอดจนเป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากการดูหนังอยู่ที่บ้าน ซึ่งพูดอย่างแฟร์ๆ มันก็มีข้อเท็จจริงเจือปนอยู่มาก

 

 

 

ด้วยเหตุนี้เองเราจึงได้ (เคย) มีโรงหนังที่ตกแต่งวิลิศมาหราราวกับพระราชวัง กระทั่งเรียกว่า Movie Palace มีโรงหนังที่ติดตั้งระบบเสียงรอบทิศทางและช่วยขยับขยายจินตนาการของผู้ชมให้เตลิดไปแสนไกล มีโรงหนังที่ขายความกว้างขวางและสูงตระหง่านของจอภาพในฟอร์แมตต์ต่างๆ นานา ตั้งแต่ซีเนมาสโคป ซีเนรามา พานาวิชัน ไอแมกซ์ จนถึง ScreenX (โรงหนัง 270 องศา) มีโรงหนังสามมิติทั้งแบบเก่าและแบบใหม่ที่สร้างโลกความเป็นจริงเสมือนได้น่าตื่นตา มีโรงหนังสี่มิติที่พยายามทำให้ผู้ชมรู้สึกสยิวรอบทิศทางด้วยลูกเล่นที่บางครั้งก็ ‘เฟล’ มากๆ

 

ทั้งหลายทั้งปวงยังไม่ต้องเอ่ยถึงลักษณะของโรงหนังทั้งแบบสแตนด์อโลน มินิเธียเตอร์ มัลติเพล็กซ์ เมกาเพล็กซ์ อาร์ตเฮาส์ โรงหนังสำหรับเด็กเล็ก โรงหนังเฟิร์สคลาส โรงหนังชุมชน โรงหนังเคลื่อนที่ ซึ่งล้วนแล้วถูกออกแบบตัดเย็บเพื่อให้สอดคล้องกับจริต รสนิยม ฐานะชนชั้นของผู้ชม ตลอดจนมุ่งเฉลิมฉลองการดูหนังในฐานะกิจกรรมทางสังคม

 

และสุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุดก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องอรรถรสและความครบถ้วนในการชม ซึ่งก็เป็นเรื่องที่พูดกันเยอะแล้ว ทั้งในแง่ภาพ เสียง ความมืด สมาธิ ไปจนถึงการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับคนรอบข้างจากภาพเคลื่อนไหวเบื้องหน้าที่โน้มน้าวชักจูงพวกเราไปในทิศทางเดียวกัน และน่าเชื่อว่าหลายคนคงเห็นพ้องว่ามันทำให้การดูหนังเป็นเรื่องน่าจดจำมากขึ้น

 

 

ไม่นานมานี้ ผมมีเหตุให้ต้องย้อนกลับไปดูหนังเรื่อง Train to Busan อีกครั้งผ่านช่องทางสตรีมมิง แล้วก็อดรู้สึกไม่ได้ว่ามันเหมือนหนังคนละเรื่อง เป็นไปได้ว่าอาจเป็นเพราะเรารู้เรื่องหมดแล้ว แต่การดูผ่านจอคอมพิวเตอร์ก็ลดทอน ‘สุนทรียะ’ ของหนังไปเยอะทีเดียว ฉากที่เคยสร้างความอกสั่นขวัญแขวนก็ไม่ทำงานอย่างครบเครื่องเหมือนเดิม

 

ทีละน้อย มันชวนให้นึกถึงตอนที่ดูหนังเรื่องนี้ในโรงหนังครั้งแรก จำได้แม่นยำว่าผู้ชมรอบนั้น (และน่าเชื่อว่ารอบอื่นก็เช่นเดียวกัน) ไม่เพียงแค่ลุ้นระทึกและเอาใจช่วยกงยูและลูกสาวให้เอาชีวิตรอดจากฝูงซอมบี้ แต่ยิ่งเวลาผ่านพ้นไป คนรอบข้างทั้งซ้ายขวาหน้าหลังเริ่มแสดงปฏิกิริยาตอบสนองกับหนังราวกับพวกเขาเป็นผู้โดยสารในขบวนรถไฟ ทั้งการบิดหรือเอี้ยวตัวในตอนที่สถานการณ์คับขันจวนเจียน ส่งเสียงเชียร์หรือร้องเตือนตัวละครราวกับคนบนจอจะได้ยิน หรือแสดงความโล่งอกและพึงพอใจดังๆ ในตอนที่ทุกอย่างผ่านพ้นไปด้วยดี

 

ฝีไม้ลายมือของคนทำหนังคงจะเป็นกลไกสำคัญที่ดลบันดาลให้ผู้ชมอยู่ในภาวะขาดสติและลืมตัว กระนั้นก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าการดูหนังในโรงหนังก็ต้องถือเป็นส่วนผสมของปฏิกิริยาเคมีสำคัญที่นำพาให้หนังเรื่องหนึ่งๆ ออกฤทธิ์อย่างเต็มประสิทธิภาพของมัน

 

แน่นอนว่าสถานการณ์ตอนนี้อาจจะยังไม่เอื้ออำนวยให้การดูหนังในโรงหนังเป็นไปได้ แต่ถ้าถามว่าในระยะยาวเมื่อทุกอย่างดีขึ้น การสัญจรไปโรงหนังยังจะนับเป็นสาระสำคัญอีกหรือไม่ ส่วนตัวก็ไม่มีคำตอบเป็นอย่างอื่นเลยจริงๆ

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising