เมื่อช่วงวันที่ 25 สิงหาคม – 6 กันยายนที่ผ่านมา สถาบัน Sotheby’s จัดการประมูลโปสเตอร์ภาพยนตร์วินเทจฉบับออริจินัล โดยประมาณการไว้ว่าจะทำราคาได้ตั้งแต่ 12,500-1,000,000 บาท และมีหลายรายการที่ทำราคาได้สูงอย่างน่าเหลือเชื่อ แสดงให้เห็นว่าภาพยนตร์ยังมีมนตร์ขลัง แม้ในปัจจุบันเราจะเข้าสู่ยุคสตรีมมิงเกือบจะเต็มตัวแล้วก็ตาม
ความจริงโปสเตอร์ภาพยนตร์เป็นของสะสมที่นิยมในหมู่คนรักภาพยนตร์มาอย่างยาวนาน และสร้างสถิติที่น่าสนใจอยู่หลายๆ ครั้ง อย่างเช่น โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง Mummy จากปี 1932 ขายได้ในราคาสูงถึง 11.8 ล้านบาทในปี 1997 ส่วนโปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง Metropolis จากปี 1927 ผลงานของ Heinz Schulz-Neudamm ศิลปินกราฟิกอาร์ตเดโคชื่อดังก็ขายในราคา 25.1 ล้านบาทในปี 2005 ครองสถิติโปสเตอร์ภาพยนตร์ที่แพงที่สุดจนถึงปัจจุบัน แต่ก็ใช่ว่าโปสเตอร์ภาพยนตร์เก่าทุกใบจะสามารถทำกำไรได้ เพราะบางชิ้นก็อาจจะมีราคา 1,000 บาทเลยด้วยซ้ำ
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ‘6 คนดัง’ กับคอลเล็กชันของสะสมส่วนตัวที่ราคาไม่ธรรมดา
- ‘4 อุปนิสัย’ ที่ทำให้คนรวย ‘รวยยิ่งขึ้น!’ บทสรุปจากการสัมภาษณ์เศรษฐี 225 คน
- เงินเฟ้อพุ่ง-ตลาดหุ้นซบเซา เอาเงินไปเก็บใน ของสะสม ชนิดไหนดี?
องค์ประกอบที่จะทำให้โปสเตอร์ภาพยนตร์เก่ามีราคาขึ้นมาได้คล้ายกับของสะสมอย่างการ์ด กีฬา การ์ดเกม หรือแสตมป์ คือสภาพ อายุ ความหายาก คุณค่าทางศิลปะ และแน่นอนว่าต้องเป็นของแท้เท่านั้น ยิ่งถ้าเป็นโปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่องแรกในภาพยนตร์แฟรนไชส์คลาสสิกยิ่งทำให้มีราคาสูงขึ้นไปอีก อย่างเช่น โปสเตอร์ James Bond 007 ยุคแรกๆ ที่มีสภาพดี อาจขายได้ 100,000 บาทเลยทีเดียว นอกจากนี้ผลงานของดาราคลาสสิกอย่าง Marilyn Monroe หรือ Audrey Hepburn ก็มักเป็นที่ต้องการของนักสะสม
โปสเตอร์ Breakfast at Tiffany’s จากปี 1961 ราคาประมาณ 316,000 บาท
นี่คือโปสเตอร์ขนาด 206 x 206 เซนติเมตร ไซส์ใหญ่ยักษ์ที่ใช้แปะลงบนบิลบอร์ด ทำให้โปสเตอร์ไซส์นี้เหลืออยู่ไม่มากในยุคปัจจุบัน อีกทั้งผลงานของ Audrey Hepburn ก็เป็นที่ต้องการของนักสะสมอยู่แล้ว ยิ่งบทบาทที่เธอได้รับในภาพยนตร์เรื่องนี้เรียกได้ว่าเป็นบทคลาสสิกมากๆ อยู่แล้วด้วย ยิ่งช่วยดันราคาให้สูงขึ้นเกือบครึ่งล้านบาท
โปสเตอร์ Snow White and the Seven Dwarfs จากปี 1937 ราคาประมาณ 379,000 บาท
โปสเตอร์ที่ทรงคุณค่าแบบสุดๆ เพราะนี่คือผลงานภาพยนตร์แอนิเมชันขนาดยาวเรื่องแรกจาก Walt Disney โดยประมาณการทุนสร้างอยู่ที่ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าแอนิเมชันขนาดสั้นถึง 10 เท่า แต่ปรากฏว่าใช้ทุนสร้างจริงๆ สูงถึง 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ วอลต์ ดิสนีย์ ถึงขั้นต้องจำนองบ้านเพื่อเอาเงินมาสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ โชคยังดีที่ Snow White and the Seven Dwarfs หรือ สโนว์ไวท์กับคนแคระทั้งเจ็ด ทำเงินไปได้สูงถึง 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เซ็ตโปสเตอร์ Help! จากปี 1965 ราคาประมาณ 379,000 บาท
โปสเตอร์จำนวน 4 ชิ้นเท่ากับสมาชิกของวงในตำนานอย่าง The Beatle ขนาด 152 x 50.8 เซนติเมตร เป็นหนึ่งในโปสเตอร์ที่หายากที่สุด เพราะไม่ใช่โปสเตอร์หลัก และจำหน่ายให้กับโรงภาพยนตร์ในอเมริกาเพียงไม่กี่แห่ง ดังนั้นมันจึงปรากฏอยู่เฉพาะในโรงภาพยนตร์หลักๆ เท่านั้น โดยภาพยนตร์คอเมดี้เรื่องนี้มี The Beatle เป็นดาวเด่นของเรื่อง และหลังจากฉายรอบปฐมทัศน์เพียง 1 สัปดาห์ เพลงประกอบภาพยนตร์ก็ออกเป็นอัลบั้มเพลงที่ยังคลาสสิกถึงปัจจุบัน
โปสเตอร์ Star Wars เวอร์ชันออกฉายในอังกฤษจากปี 1977 พร้อมลายเซ็นนักแสดง ราคาประมาณ 400,000 บาท
โปสเตอร์ของมหากาพย์ภาพยนตร์เรื่อง Star Wars ขนาด 76 x 102 เซนติเมตร ลำพังแค่ตัวโปสเตอร์ในเวอร์ชันแรกก็หายากอยู่แล้ว ยิ่งมาพร้อมกับลายเซ็นของนักแสดงในเรื่องทั้ง Carrie Fisher (เจ้าหญิง Leia), Dave Prowse (Darth Vader), Kenny Baker (R2-D2) และ Peter Mayhew (Chewbacca) ยิ่งทำให้โปสเตอร์ชิ้นนี้มีค่ามากสำหรับนักสะสม เพราะโดยปกติแล้วนักแสดงมักฝากลายเซ็นไว้กับของที่ระลึกอย่างอื่นเช่นภาพถ่าย หรือวิดีโอ/ดีวีดี เสียมากกว่า ทำให้ถูกประมูลไปด้วยราคาเกือบ 400,000 บาท
โปสเตอร์ Superman จากปี 1941 ราคาประมาณ 505,000 บาท
โปสเตอร์นี้ออกแบบมาเพื่อภาพยนตร์สั้นเรื่อง Superman จำนวน 17 เรื่อง โดยพื้นที่ว่างด้านล่างเป็นที่ที่โรงภาพยนตร์จะใส่ชื่อเรื่องสั้นแต่ละเรื่องลงไป นับเป็นชิ้นงานที่สำคัญและหายากมาก Superman สร้างโดย Jerry Siegel และ Joe Shuster ปรากฏตัวครั้งแรกใน DC Comic ในเดือนมิถุนายน 1938 และสร้างเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันสั้นชุดปี 1941 ผลิตโดย Fleischer Studios
โปสเตอร์ The Empire Strikes Back จากปี 1980 เวอร์ชันอังกฤษสไตล์ A ราคาประมาณ 547,000 บาท
โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่องที่สองของมหากาพย์ Star Wars ในเวอร์ชันอังกฤษที่แตกต่างจากของอเมริกา โดดเด่นด้วยภาพของ Han Solo และเจ้าหญิง Leia ที่เลียนแบบภาพตัวละครในภาพยนตร์เรื่อง Gone with the Wind โดยโปสเตอร์สไตล์ A ถูกใช้ในช่วงต้นของการโฆษณาภาพยนตร์รอบปฐมทัศน์บนขบวนรถไฟใต้ดินลอนดอน ก่อนจะใช้เวอร์ชัน B โปรโมตไปทั่วอังกฤษ ซึ่งเมื่อใช้กับรถไฟใต้ดินโปสเตอร์สไตล์ A จะต้องถูกตัดแต่งให้ขนาดพอดี ส่วนชิ้นที่นำมาประมูลเป็นชิ้นที่ไม่ถูกตัดแต่ง เรียกได้ว่าเป็นแบบออริจินัลแท้ๆ เลยทีเดียว
อ้างอิง:
- https://www.sothebys.com/en/digital-catalogues/original-film-posters-2?locale=en
- https://www.theguardian.com/money/2008/feb/16/moneyinvestments.alternativeinvestments
- https://investmentu.com/vintage-movie-posters/
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP