×

คุยกับคนทำหนัง เมื่อ ‘กรุงเทพกลางแปลง’ ไม่ใช่แค่การฉายหนัง แต่คือการเรียกคืนศรัทธาของหนังไทย

โดย THE STANDARD TEAM
14.07.2022
  • LOADING...
อนุชา บุญยวรรธนะ

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา อนุชา บุญยวรรธนะ นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษผ่านรายการ THE STANDARD NOW ดำเนินรายการโดย ชัยนนท์ หาญคีรีรัตน์ ถึงความเป็นมาและกระแสตอบรับของกิจกรรม ‘กรุงเทพกลางแปลง’ กิจกรรมที่เกิดจากความร่วมมือของกรุงเทพมหานคร (กทม.) กับภาคเอกชน

 

อนุชากล่าวว่า ส่วนตัวรู้สึกดีใจสำหรับกระแสตอบรับ โดยเฉพาะวันแรกที่จัดงาน ประชาชนมาเยอะกว่าที่คาดหมายไว้มาก ส่วนวันที่สองคนก็ยังเยอะ แม้สภาพอากาศจะไม่ค่อยเอื้ออำนวย จากสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ สิ่งที่ทีมผู้จัดงานต้องทำต่อไปคือ การวางแผนเพื่อจะอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน อาจต้องจัดเต็นท์เพิ่มขึ้น และทำโจทย์ที่ได้รับจาก กทม. ที่ต้องการให้งานนี้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและกระจายไปสู่ชุมชนด้วย

 

ส่วนการเลือกจัดกิจกรรมช่วงฤดูฝน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ท้วงติงกลับไปทาง กทม. เช่นกันว่า ถ้าปีหน้าหากต้องการจะจัดกิจกรรมกลางแปลงอีก ขอให้กำหนดเป็นช่วงฤดูหนาวน่าจะเหมาะสม แต่ปีนี้โจทย์คือการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จำเป็นต้องทำเร่งด่วน จึงเลือกทำเลยในเดือนนี้ 

 

จุดประสงค์อย่างหนึ่งที่ตั้งไว้คือ การเห็นภาพประชาชนออกมาใช้ชีวิต จับจ่ายใช้สอย การจัดงานในปีนี้ยังถือว่าเป็นการจัดนำร่องเท่านั้น เพราะกิจกรรมนี้ยังไม่ได้ทำมาก่อน อีกทั้งเป็นการร่วมมือกันจากหลายภาคส่วน ต้องดูถึงความเหมาะสม ศึกษาองค์ประกอบ การประสานงาน แก้ปัญหา และเก็บรวมเป็นข้อมูลสำหรับครั้งต่อไป

 

สำหรับประเด็นงบประมาณที่หลายส่วนตั้งคำถามว่า กทม. ต้องใช้งบถึง 8 ล้านบาทในการจัด อนุชากล่าวย้ำอีกครั้งว่า ไม่เป็นความจริง เรื่องนี้ที่ประชุมตั้งแต่ต้นเคยพิจารณาว่า การจะจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติอย่างต่างประเทศ เช่น เมืองปูซานของเกาหลีใต้ ภายใน 2 สัปดาห์ ซึ่งไม่สามารถทำได้อยู่แล้ว เพราะต้องมีกระบวนการตั้งแต่ศึกษารูปแบบการสร้างภาพยนตร์แต่ละชาติ และคัดเลือกภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับคนในประเทศ

 

ที่ประชุมจึงเสนอว่า สิ่งที่ทำได้เลยคือ การจัดเทศกาลภาพยนตร์ขนาดเล็กลงมา และเมื่อรวมกับความต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน อีกทั้ง กทม. มีพื้นที่สาธารณะ จึงตกผลึกเป็นหนังกลางแปลง ทั้งนี้ ทางสมาคมหนังกลางแปลงได้พิจารณาถึงหลายองค์ประกอบ ทั้งสภาพอากาศ สถานที่ และอันตรายที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเมื่องานผ่านการจัดไปเรื่อยๆ และงานได้รับความสนใจมากขึ้น คนเลยอาจคิดว่างานที่ใหญ่ขนาดนี้จะใช้งบประมาณมาก แต่ความจริงแล้วงานนี้คือความร่วมมือกันระหว่างภาคเอกชนกับ กทม. และ กทม. ก็ไม่ได้เสียงบประมาณใดๆ เลย

 

อนุชากล่าวอีกว่า สมาคมผู้กำกับฯ รับหน้าที่ประสานงานกับทางค่ายหนังต่างๆ ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์ให้นำภาพยนตร์มาฉาย ส่วนสมาคมหนังกลางแปลงก็ได้แจ้งว่าไม่คิดค่าเช่าอุปกรณ์ใดๆ คิดเพียงค่าแรงทีมงานและค่าเดินทาง ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการแจงตัวเลขแล้วว่า การฉายภาพยนตร์ทั้ง 25 วัน ใช้งบที่ 150,000 บาท ส่วนการเลือกภาพยนตร์มาจัดฉายในแต่ละสถานที่ เป็นการประสานงานของหอภาพยนตร์แห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรภาครัฐที่มีผู้เชี่ยวชาญในการบูรณะภาพยนตร์ ดูแลภาพยนตร์ที่มีคุณค่าในประเทศ เก็บรวมรายละเอียดข้อมูล และอีกหน้าที่คือการนำภาพยนตร์เหล่านี้มาเผยแพร่ให้ประชาชน 

 

อนุชากล่าวต่อไปว่า การจัดกิจกรรมนี้ในมิติของ กทม. คือการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนฝั่งผู้สร้างภาพยนตร์ ผู้ทำงานเบื้องหลัง คือการได้ร่วมสร้างวัฒนธรรมการรับชมภาพยนตร์ที่หลากหลาย ภาพยนตร์ที่เลือกมาจึงหลากหลาย ทั้งอายุ แนวของภาพยนตร์ เมื่อรวมกับบรรยากาศฉากหลัง สถานที่ที่เกี่ยวโยงกับตัวภาพยนตร์ ผู้ชมจะได้รับความรู้สึกที่เพิ่มขึ้น และสิ่งที่ไม่คาดคิดจากการจัดกิจกรรมครั้งนี้คือ การได้เรียกศรัทธาจากผู้คนต่อภาพยนตร์ไทย ตอกย้ำว่ายังมีภาพยนตร์ไทยอีกมากมายที่มีคุณค่าและมีคุณภาพ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X