หลังจากเควิน สเปซีย์ ต้องคดีล่วงละเมิดทางเพศ หนังเรื่อง All the Money in the World (2017) ที่เขานำแสดงก็ได้รับผลกระทบทันที เพราะตัวหนังมีแผนฉายช่วงวันที่ 22 ธันวาคมนี้ ซึ่งทุกอย่างถูกโปรโมตออกไปหมดแล้ว และมีแววว่าโรงหนังจะประท้วงจนไม่ยอมฉายหนังเรื่องนี้ ทางผู้กำกับ ริดลีย์ สก็อตต์ และโปรดิวเซอร์นั้นเห็นด้วยกับมาตรการลงโทษสเปซีย์ พวกเขาคิดว่าถูกต้องแล้วที่หนังเรื่องนี้จะไม่มีสเปซีย์อีกต่อไป แต่พวกเขาก็ต้องรีบหาทางออกใหม่เพื่อรักษาหนังเรื่องนี้เอาไว้ เพราะทั้งคู่เห็นว่าหนังเรื่องนี้จะต้องไม่ล้มตายเพราะคนคนเดียว และมันคือหนังของทีมงานทั้ง 800 ชีวิต ดังนั้นพวกเขาจึงตัดสินใจไปเจรจากับทางสตูดิโอเพื่อขอ reshoot จนสำเร็จและได้งบมา 10 ล้านเหรียญสหรัฐ (ซึ่งคิดเป็น 1/4 ของต้นทุนหนังจำนวน 40 ล้านเหรียญสหรัฐ) พวกเขามีเวลาเพียง 8 สัปดาห์ก่อนหนังฉาย โดยที่ได้คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์ มาแสดงแทนทุกฉากที่เควิน สเปซีย์ เคยแสดงไว้ -แม้จะมีข้อจำกัดสุดโหดทั้งเรื่องงบและเวลาที่มี แต่สุดท้ายพวกเขาก็ทำสำเร็จทันฉาย
การสร้างภาพยนตร์เป็นการชนกันระหว่างคนจำนวนมากมาย คนปะทะกับสถานที่ถ่ายทำ ตัวหนังสือบนแผ่นกระดาษบทภาพยนตร์ปะทะกับความจริงในการถ่ายทำ ว่าง่ายๆ คือคนทำหนังเจอกับสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ตลอดเวลา ก่อนหน้าจะไปออกกองถ่าย ก็ได้เผชิญเพียงจินตนาการในหัวว่ามันน่าจะออกมาเป็นแบบนั้นแบบนี้ แต่หลายๆ ครั้งพอมาอยู่ในกองถ่ายจริง นักแสดงเตรียมแสดงแล้ว บางทีก็ยังพบว่าไม่เป็นเหมือนที่คิดเลย จนกระทั่งถ่ายทำเสร็จ ตัดต่อเสร็จถึงค่อยมานั่งช็อกว่า อ้าว เฮ้ย ไม่เหมือนที่คุยกันไว้นี่นา ตอนเขียนบทนี่ชอบมาก มั่นใจมาก แต่พอถ่ายออกมาเป็นหนัง ทำไมไม่เศร้าเท่าที่คิด ทำไมไม่ฮาเท่าที่คิด, ลุงวู้ดดี้ อัลเลน เคยพูดไว้ว่า การตัดต่อหนังนี่มันคือการเอาตัวรอดจากความฉิบหายของฟุตเทจที่มีอยู่ในมือ บางครั้งหนังไม่ค่อยฮา พอเอาไปตัดต่อใหม่ดีๆ นี่ฮาขึ้น แต่หลายๆ ครั้งการตัดต่อก็ไม่สามารถเซฟชีวิตใครได้ ถ้าไม่มีช็อตใหม่ๆ หรือซีนใหม่ๆ มาเสริม หนังก็จะเป็นอย่างเดิมอยู่วันยังค่ำ
เขาจึงมีกระบวนการ reshoot ขึ้นมาเพื่อให้มนุษย์ได้มีโอกาสแก้ตัวและต่อชีวิต
All the Money in the World (2017)
การ reshoot เป็นวันสำรองถ่ายที่มีเผื่อไว้ตามปกติ จริงๆ น่าจะเป็นกระบวนการกันช็อกสำหรับเจ้าของสตูดิโอ เพราะเจ้าของไม่สามารถลงไปดูด้วยได้ทุกขั้นตอน หรือต่อไปให้ไปออกกองด้วย บางทีก็คิดไม่ออกหรอกว่าหนังจะออกมาเป็นยังไง ดังนั้นวันพวกนี้จะถูกสำรองไว้เผื่อแก้เสมอ ซึ่งการ reshoot อาจจะเป็นการยกกองถ่ายกลับไปถ่ายแก้ไขบางฉากให้สนุกหรือซึ้งขึ้นโดยการถ่ายช็อตเล็กๆ เพิ่มเติม (เช่น หนังยังขาดช็อตพระเอกทำหน้าเจ็บปวดมากๆ เพื่อจะได้ทำให้ฉากนั้นเศร้ากว่าเดิม) หรือถ่ายซีนใหม่ขึ้นมาเพื่อเอากลับไปเสริมหนัง (เช่น หนังยังขาดซีนพระเอกไปหาแม่ เพื่อจะให้คนดูเข้าใจเหตุผลในการกระทำของพระเอกมากขึ้น ก็ต้องเขียนบทและออกไปถ่ายเพิ่ม) หลายๆ ครั้งมันก็มีไว้แก้ปัญหาอันใหญ่หลวง เช่น นักแสดงบาดเจ็บขณะถ่ายทำ หรือนักแสดงเสียชีวิต
แต่บางครั้งการ reshoot ก็ไม่ได้เป็นแค่การซ่อมหนัง แต่มันคือการเปลี่ยนหนังครั้งยิ่งใหญ่ เป็นการต่อสู้ของผู้กำกับและสตูดิโอ ตัวอย่างเช่น ที่ผ่านมาทางดิสนีย์สั่งแก้หนังชุด Rogue One: A Star Wars Story (2016) แบบเละเทะ อาจจะด้วยหนังที่ออกมาไม่ได้เป็นไปตามทิศทางที่สตูดิโอต้องการ (ไม่ใช่เรื่องความต้องการส่วนตัวของผู้กำกับ) จนต้องมีการสั่งถ่ายใหม่แบบยกเครื่อง หรือหนังบางเรื่อง ตอนแรกผู้กำกับอาจจะคุยกับสตูดิโอไว้ว่าหนังมันจะเป็นผีจิตวิทยาช้าๆ ค่อยๆ เล่านะครับ ทุกคนก็เห็นชอบ แต่พอถ่ายเสร็จ สตูดิโอดูแล้วช็อก และอาจนอยด์ว่ามันช้าเกินไปสำหรับหนังสตูดิโอ เลยขอถ่ายใหม่หมดเลย เอาแบบเร็วกว่านี้ ขอผีตูมตามแบบประเพณีนิยมกลับมาอีกครั้งดีกว่า (เจอแบบนี้ก็เซ็งนะ ก็คุยกันแล้วนี่หว่า ไม่ใช่ไม่เคยคุยว่ามันจะช้าๆ)
การซ่อมหนังตามใจสตูดิโอแบบนี้ หลายๆ ครั้งนี่คือการลามไปถึงการถ่ายฉากจบแบบใหม่ การจ้างคนเขียนบทและผู้กำกับคนอื่นมาทำแทนผู้กำกับเดิม หรือการยอมถ่ายย้อนหลังใหม่หมด เพราะเกิดจากการเปลี่ยนนักแสดงกลางคัน เช่น หนังเรื่อง Back to the Future (1985) ที่ตอนแรกนั้นไม่ได้นำแสดงโดยไมเคิล เจ. ฟ็อกซ์ อย่างที่เราเห็นอยู่ แต่เป็นเอริก สโตลท์ซ, ซึ่งหลังจากถ่ายเอริกไป 5 สัปดาห์ถึงค่อยมีการเปลี่ยนตัว ด้วยเหตุผลทางแอ็กติ้งของพี่เอริกที่เครียดเกิน เพราะหนังอยากให้มีมู้ดคอเมดี้ พี่เอริกคงเสียใจไปหลายจำนวน เพราะสุดท้ายออกมาประสบความสำเร็จจนกลายเป็นหนังคลาสสิก
Fantastic Four (2015)
ดังนั้นไม่น่าแปลกที่การ reshoot นั้นมักก่อให้เกิดดราม่าได้ง่ายๆ ผู้กำกับหลายคนออกมาประกาศความไม่พอใจในสื่อไปเลย ตัวอย่างเช่น จอช แทรงก์ ผู้กำกับ Fantastic Four เวอร์ชัน 2015 ที่หนังโดนสตูดิโอแก้เละจนเขาทวีตประกาศก่อนหนังฉายไม่กี่วันเลยว่า น่าเสียดายที่เวอร์ชันที่เขาทำนั้นไม่ได้ฉายสู่สายตาผู้ชม แต่หลายๆ สายข่าวก็บอกว่าตัวจอชนั้นเอาหนังไม่อยู่ เลยออกมาแย่จนสตูดิโอต้องหาทาง reshoot แก้ไข -เอาจริงๆ เรื่องนี้ไม่สามารถสรุปความจริงใดๆ ได้เลย การสร้างหนังเป็นเรื่องที่วัดผลความดีความงามได้ยากมาก อาจจะเป็นที่จอชจริงๆ หรืออาจเป็นที่สตูดิโอก็ได้
แต่อีกเหตุผลสำคัญคือ ที่การทำหนังเรื่องหนึ่งมีราคาแพงและคล้ายการพนันสูงมากเพราะเรามีโอกาสเดียวในการฉาย และจะแก้ไขไม่ได้อีก เราไม่สามารถเข้าฉายแล้วค่อยอัพเดตเฟิร์มแวร์เพื่อปรับปรุงบางฉากให้ดีขึ้น มันฉายแล้วฉายเลย ดีก็ดีเลย เจ๊งก็เจ๊งเลย ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกถ้าเจ้าของสตูดิโอจะขี้นอยด์ เพราะเขาลงเงินไปแล้วหลายสิบหลายร้อยล้าน หนึ่งในเหตุผลของริดลีย์ สก็อตต์ ในการซ่อม All the Money in the World ก็คือเขาไม่อยากให้คนที่ลงทุนไปกับหนังเรื่องนี้เสียเงินฟรี ดังนั้นเขาไปต่อสู้เพื่อให้ได้เงินอีก 10 ล้านเหรียญสหรัฐมากู้ชีวิตหนังเรื่องนี้ขึ้นมาดีกว่า
การทำหนังนั้นจึงไม่มีโอกาสแก้ตัวมากนัก และโชคร้ายที่มันเป็นสื่อที่พัวพันกับคน เวลา สถานที่อย่างมาก มีสิทธิ์ผิดพลาดและไม่เป็นไปตามที่คิดสูงมาก คนทำหนังจึงต้องมีสติพร้อมแก้ไขหนังตลอดเวลา ตัวริดลีย์ สก็อตต์ เองก็ยังพูดว่า ด้วยความที่แต่ก่อนผมทำโฆษณามามาก ในกองถ่ายโฆษณานั้นจะมีปัญหาเกิดขึ้นตลอดเวลา และเวลาปัญหาเกิดขึ้น ผมไม่ได้มานั่งเศร้าหรอก ผมจะคิดต่อไปเลยว่าเราจะทำอย่างไรดี
คิดดีๆ อีกทีก็อาจจะเป็นโชคดีของคนทำหนังเหมือนกัน เพราะนี่คืออาชีพที่ทำให้เราระลึกถึงสติมากที่สุด