×

ก้าวไกลเตรียมยื่นอภิปรายทั่วไปรัฐบาลประยุทธ์ ชี้มีหลายปัญหาต้องแนะและขอคำตอบ บอกเปิดประเทศแบบขายผ้าเอาหน้ารอด

โดย THE STANDARD TEAM
27.10.2021
  • LOADING...
วาโย อัศวรุ่งเรือง

วันนี้ (27 ตุลาคม) เวลา 10.00 น. ห้องนวมทอง ไพรวัลย์ อาคารอนาคตใหม่ ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล, ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล และ นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ร่วมกันแถลงข่าวการเข้าชื่อเพื่อเตรียมเสนอญัตติเปิดอภิปรายทั่วไป ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ทันทีที่มีการเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร

 

นพ.วาโยกล่าวว่า ต่อกรณีที่จะมีการเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ มี 3 ข้อกังวล และ 3 ข้อเสนอต่อรัฐบาล ข้อกังวัลแรกคือ ปริมาณผู้ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ตัวเลขอยู่ที่ประมาณร้อยละ 40 ของประชากร แต่สิ่งที่ต้องนำมาพิจารณาคือ เป็นตัวเลขจริงและเพียงพอต่อการเปิดประเทศหรือไม่ เพราะจำนวนผู้ได้รับวัคซีนร้อยละ 40 ได้นับรวมผู้ฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตายทั้ง 2 เข็มไปด้วย แต่มีหลักฐานจำนวนมากที่บ่งชี้ถึงประสิทธิภาพของวัคซีนชนิดนี้ว่าอาจไม่เพียงพอต่อการต่อกรกับเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาที่กำลังระบาด อาจารย์หมอ นักวิชาการ และรัฐบาลก็เห็นพ้องตรงกัน นั่นจึงเป็นที่มาของการเกิดการฉีดวัคซีนแบบสูตรไขว้ ดังนั้น ตัวเลขร้อยละ 40 จึงมีผู้ได้รับวัคซีนเชื้อตาย 2 เข็มอยู่ด้วย ขณะเดียวกัน ในกรณีของการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ก็ยังไม่ปรากฏหลักฐานเชิงประจักษ์ที่หนักแน่นเพียงพอว่าใช้ได้จริง นับจากที่ตนอภิปรายในสภามาจนถึงปัจจุบัน ปรากฏแค่หลักฐานจากโรงเรียนแพทย์บางแห่งเป็น 4-5 แผ่นเท่านั้น ดังนั้น ตัวเลขของประชากรที่มีภูมิคุ้มกันจึงอาจยังไม่ถึงร้อยละ 40 และยังมีคำถามว่าตัวเลขเพียงเท่านี้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่แล้วหรือไม่

 

ประเด็นที่สอง นักท่องเที่ยวที่เข้ามา แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ประเทศกลุ่มแรกเข้าไปพื้นที่ใดก็ได้ ส่วนกลุ่มที่ 2 คือประเทศที่เข้ามาได้เฉพาะ 17 จังหวัดแซนด์บ็อกซ์ที่ลดระยะเวลาการกักตัวจาก 14 เหลือ 7 วัน โมเดลนี้ แม้รัฐพยายามจะป้องกันเต็มที่ด้วยการให้ตรวจ RT-PCR ทั้งก่อนเดินทางและเมื่อมาถึงไทย แต่ยังมีความเสี่ยงแน่นอน เพราะการที่ผลตรวจจะขึ้นต้องใช้เวลาอย่างน้อยต้อง 3 วัน ซึ่งความเสี่ยงครั้งนี้ก็คือชีวิตและอนามัยของคนไทยทุกคน

 

ประเด็นที่สาม รัฐบาลอิงตัวอย่างจาก Phuket Sandboox เป็นเหตุผลในการเปิดประเทศ แต่ผลประกอบการของ Phuket Sandboox ก็ไม่ได้สำเร็จถึงเป้าหมายเท่าที่ควร จากคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยว 100,000 ราย ตอนนี้ได้แค่ประมาณ 40,000 ราย ปัญหาก็คือ กระทั่งในยอดนี้ยังมีคำถามว่าเป็นตัวเลขจริงหรือไม่ เพราะท้ายที่สุดมีจำนวนมากเป็นคนไทยที่กลับเข้ามา แต่ไม่ต้องการเข้ากักตัวที่ State Quarantine เลยมาลงที่ภูเก็ตแทน จึงไม่ใช่มรรคผลในการดึงต่างชาติเข้ามา

 

“เมื่อนำโมเดล Phuket Sandboox มาใช้ในสถานการณ์ที่การฉีดวัคซีนยังไม่ถึงไหน ผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังอยู่ที่ 7,000-8,000 รายต่อวัน ซึ่งยังไม่ใช่สถานการณ์ที่ปกติ และจะต้องไม่ทำให้ภาวะที่ยังเป็นวิกฤตกลายเป็นความเฉยชา ซึ่งตัวเลขนี้ยังไม่ใช่ตัวเลขจริง ยังมีตัวเลขจากการตรวจ ATK ที่ไม่ถูกรวมอีกหลายพันรายต่อวัน ซึ่งในบางจังหวัดยังพบการติดเชื้อแบบพุ่งสูงที่สุดเท่าที่มีมา เป้าหมายของรัฐบาลคือการเปิดประเทศให้ได้เป็นเรื่องถูกต้อง แต่สถานการณ์ตอนนี้อาจสวนทางกับหลักการเปิดประเทศอย่างรัดกุม และยังน่ากังวลอย่างมากที่รัฐบาลจะเปิดประเทศด้วยเหตุผลเพียงเพื่อแค่ปกป้องบางคนที่ลั่นวาจาว่าจะเปิดใน 120 วัน นี่จึงเป็นการเอาชีวิตและอนามัยของประชาชนมาเสี่ยงเพื่อศักดิ์ศรีใครบางคนหรือไม่” นพ.วาโยกล่าว

 

สำหรับข้อแนะนำ นพ.วาโยกล่าวว่า เนื่องจากเชื่อว่าไม่ว่าอย่างไรรัฐบาลก็จะเปิดประเทศอยู่ดี และเราไม่ได้คัดค้านการเปิดประเทศ จึงมีข้อแนะนำก่อนการเปิดประเทศคือ หลังจากนี้จะต้องเร่งฉีดวัคซีนให้ได้อย่างน้อยวันละ 1,000,000 โดส เพื่อให้ทันภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ เพราะหลังจากนั้นทราบว่าจะเริ่มเปิดพรมแดนทางเท้า จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาบ้างแล้ว จะต้องสู้ด้วยการเร่งฉีดวัคซีน ต้องเลิกทำงานแบบเช้าชามเย็นชามหรือทำแบบรัฐราชการได้แล้ว เราเคยผ่านช่วงเวลาที่เลวร้ายมาแล้วช่วงหนึ่ง จำนวนคนไข้เต็ม ICU เครื่องช่วยหายใจและบุคลากรการแพทย์ทำงานกันแน่นไปหมด ต้องใช้ข้อมูลเหล่านี้มาศึกษาและต้องคิดถึงกรณีที่เลวร้ายที่สุด เพื่อเตรียมความพร้อมทุกอย่างที่อาจเกิดขึ้นได้ และต้องเลิกมองสถานพยาบาลเอกชนเป็นศัตรูของรัฐ ในภาวะวิกฤตจะต้องดึงมาประกบพันธกิจของรัฐด้วย

 

“สุดท้ายคือตัวนายกรัฐมนตรีที่ต้องแก้ไขตัวเอง เพื่อให้ประชาชน ผู้ประกอบการ และชาวต่างชาติเห็นถึงความหนักแน่น จริงจัง ไม่เช้าชามเย็นชาม ลักปิดลักเปิด เพราะผู้ประกอบการมีความกังวล เนื่องจากการเปิดธุรกิจต้องลงทุน ต้องสต๊อกของ ต้องจ้างคน ต้องทำสัญญา แต่ถ้าท่านบอกว่าเปิดแล้วมีปัญหาก็ปิด มันก็แค่ขายผ้าเอาหน้ารอดจากที่ลั่นวาจาไว้หรือเพื่อกู้ศักดิ์ศรีตัวเองเท่านั้น แต่ไม่ส่งผลให้กระตุ้นเศรษฐกิจได้ เพราะเขาไม่กล้าเปิด ท่านต้องเปลี่ยนตัวเองให้หนักแน่น และดำเนินนโยบายอย่างรัดกุมที่สุด” นพ.วาโยระบุ

 

ด้านศิริกัญญากล่าวว่า ได้เก็บข้อมูลความเดือดร้อนของประชาชนจากการลงพื้นที่ตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา พบว่ามีความเดือดร้อนประชาชนทุกหย่อมหญ้า ตั้งแต่รากหญ้าไปบนสุด พี่น้องเกษตรกรพบปัญหาต้นทุนที่พุ่งสูงจากราคาปุ๋ย ราคายา ราคาน้ำมัน สวนทางกับราคาข้าวที่ตกต่ำเนื่องมาจากการส่งออกที่ลดลง ขณะเดียวกัน มาตรการของรัฐเรื่องการประกันรายได้ ซึ่งต้องจ่ายงวดแรกวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา แต่จนถึงปัจจุบันพบว่าวงเงินที่อนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังน้อยกว่าที่ควรจะเป็น นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบจากน้ำท่วมที่ยังต้องรอเรื่องเงินเยียวยากันต่อไป

 

สำหรับคนในเมือง มีปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นมาก ทั้งค่าน้ำมัน ค่าตั๋วบีทีเอส ค่าไฟฟ้า ค่าทางด่วน ที่ขึ้นราคาพร้อมๆ กันแบบไม่เกรงใจประชาชนที่กำลังดิ้นรนปากกัดตีนถีบจากสถานการณ์โควิด หรือในภาคการส่งออกที่เหมือนกำลังดีขึ้น ก็เจออุปสรรคก้อนใหญจากต้นทุนค่าระวางเรือและความขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ยังไม่แก้ไข และปัญหาชิปที่ขาดแคลน ซึ่งอาจกระทบการส่งออกรถยนต์หรือคอมพิวเตอร์ได้

 

สำหรับปัญหาชั้นบนสุด คือการเอื้อกลุ่มทุนด้วยข้ออ้างจากโควิดในกรณีสัญญาสัมปทานรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินและแอร์พอร์ตลิงก์ ที่เอื้อประโยชน์กลุ่มทุนใหญ่โดยไม่เกรงใจประชาชนที่กำลังเดือดร้อน

 

ศิริกัญญายังได้กล่าวถึงรายละเอียดปัญหาราคาข้าวตกต่ำว่า ปีนี้อาจส่งออกข้าวได้ไม่ถึง 5 ล้านตัน จากเดิมที่เคยส่งออกได้ 9-10 ล้านตัน เมื่อส่งออกไม่ได้จึงส่งผลให้ราคาข้าวตกต่ำ สิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำคือจ่ายเงินตามการประกันรายได้และจำนำยุ้งฉาง ทั้งนี้ จากการประมาณการของคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ คาดว่าต้องใช้เงินอัดฉีดประมาณ 150,000 ล้านบาท แต่พบว่ามติ ครม. อนุมัติจ่ายแค่ 18,000 ล้านบาท หรือแค่ร้อยละ 12 เท่านั้น

 

“ถ้าจะทวงสัญญารัฐบาล เราอาจทำได้แค่การปรึกษาหารือ แต่คำถามของพวกเราในฐานะผู้แทนราษฎรคือ งบประมาณเพื่อช่วยเหลือชาวนาที่ไม่เป็นไปตามนัดนั้น เป็นเพราะรัฐบาลกำลังมีปัญหากรอบวินัยการเงินการคลังอื่นหรือไม่ เพราะได้ก่อหนี้กับ ธ.ก.ส. และหน่วยงานรัฐอื่น เหมือนรูดบัตรเครดิตจนเต็มวงเงินแล้ว จึงไม่เหลือเงินมากพอช่วยเหลือชาวนาได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เป็นปมมาจากมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ที่กำหนดให้รัฐบาลก่อหนี้กับหน่วยงานอื่นของรัฐ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจได้แค่ร้อยละ 30 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งเดือนกันยายน ปี 2564 ได้ใช้ไปจนเต็มวงเงินแล้ว พอขึ้นปีงบประมาณใหม่ ถ้าจำกันได้คืองบประมาณลดลง หากคิดคำนวณ ร้อยละ 30 ของปี 2565 จะอยู่ที่ประมาณ 920,000 ล้านบาท แต่เดือนกันยายน ปี 2564 ก่อหนี้ไปแล้ว 980,000 ล้านบาท” ศิริกัญญากล่าว

 

ศิริกัญญากล่าวต่อไปว่า ถึงแม้จะมีการใช้หนี้ไปบางส่วนแล้วก็กระทบวงเงินนี้อยู่ดี จึงเป็นคำถามต่อไปว่ากรอบนี้จะขยายหรือไม่ หรือแก้ไขอย่างไร เพราะนอกจากเกี่ยวกับการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรแล้ว ยังรวมไปถึงการชดเชยดอกเบี้ยผ่านมาตรการรัฐต่างๆ เช่น ธนาคารออมสิน หรือธนาคารอาคารสงเคราะห์ด้วย เรื่องนี้จึงจำเป็นต้องได้รับคำตอบจากรัฐบาลที่จะคุยกันต่อในการอภิปรายต่อไป

 

สำหรับเรื่องราคาปุ๋ย มาจากราคาแม่ปุ๋ยนำเข้าแพงขึ้นถึงร้อยละ 25-40 แต่รัฐบาลทำเพียงแค่ออกมาตรการกดดันให้สมาคมแม่ปุ๋ยนำปุ๋ยออกมาขายแค่ 4.5 ล้านกระสอบ เทียบไม่ได้กับความต้องการของชาวนาและเกษตรกร นายกรัฐมนตรียังพูดถึงการแก้ปัญหาปุ๋ยที่แพงมา 6 เดือนแล้ว ให้ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ 1.3 ล้านไร่ แต่จากที่ตนลงพื้นที่ พบว่าเงินที่เคยสัญญาว่าจะช่วยเหลือเกษตรอินทรีย์ 1 ล้านไร่ ตั้งแต่ปี 2563 ที่ต้องจ่ายงวดสุดท้าย ถึงตอนนี้เกษตรกรก็ยังไม่ได้รับเงินตกเบิกตรงนั้นเลย

 

เรื่องค่าครองชีพ  ศิริกัญญากล่าวว่า แม้จะมีการตรึงราคาน้ำมันดีเซล แต่ราคาน้ำมันเบนซินก็ยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง เช่นเดียวกับค่าไฟ ค่าทางด่วน ค่าตั๋วบีทีเอส ที่ขึ้นราคาพร้อมกัน ทำให้ค่าครองชีพคนเมืองจะเพิ่มทันที สิ่งที่จะตามมาคือเงินเฟ้อของคนเมือง ถามว่ารัฐบาลมีแผนรับมืออย่างไร

 

“ขณะนี้กำลังจะเข้าสู่ภาวะที่เรียกว่าเงินเฟ้อพร้อมเศรษฐกิจตกต่ำ นอกจากความเดือดร้อนเฉพาะหน้าและยังกระทบต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจอีกด้วย สำหรับผู้ส่งออก แม้ตัวเลขเดือนกันยายนจะดีขึ้น แต่ถ้าไม่แก้ปัญหาค่าระวางเรือและความแคลนขาดตู้คอนเทนเนอร์ระดับภูมิภาค เครื่องจักรเศรษฐกิจที่คาดหวังซึ่งก็คือส่งออกอาจไม่เป็นตามเป้า” ศิริกัญญากล่าว

 

อีกหนึ่งประเด็นที่ต้องการคำตอบในการอภิปรายที่จะเกิดขึ้น ศิริกัญญากล่าวว่า ในการให้ความช่วยเหลือ SMEs มีเสียงเรียกร้องมานาน ซึ่งในที่สุดรัฐบาลมีมาตรการจ่ายให้ลูกจ้างรายละ 3,000 บาท ไม่เกิน 200 คน แต่ความช่วยเหลือนี้มาช่วงที่เกิดการเลิกจ้างไปมากแล้ว ไม่ได้ช่วยตอนที่เขาลำบาก แม้ว่ามาช้าดีกว่าไม่มา แต่การพยุงการจ้างงานก็ไม่เกิดขึ้นจริง และกว่าจะได้เขาต้องรอมาเกือบ 2 ปี

 

“แต่ผู้ประกบการรายใหญ่ไม่ต้องรอ แค่ดีดนิ้วก็มา เช่น กรณีกลุ่มเอเชียเอราวัณที่ CP ถือหุ้นใหญ่ ขอชะลอจ่ายค่าสัมปทานรถไฟฟ้าเชื่อมต่อ 3 สนามบิน ก็ตอบรับทันที ทั้งยังมีข่าวว่าจะขอผ่อนจ่ายงวดแรกวงเงิน 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 6 งวดบ้าง 10 งวดบ้าง แต่ประชาชนกลับยังไม่ได้รับข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับการต่อรองเลย ทั้งที่โครงการนี้เป็นการร่วมทุน PPP ระหว่างรัฐกับเอกชน ประชาชนในฐานะที่เป็นเจ้าของประเทศควรที่จะได้รับรู้รายละเอียด ได้ตรวจสอบว่าผลประโยชน์จะตกต่อประชาชนมากขึ้นหรือน้อยลง หรือถ้ายอม ดอกเบี้ยผ่อนชำระต้องเป็นเท่าไร แต่ไม่มีรายละเอียด ปิดเป็นความลับอย่างมาก จึงจำเป็นต้องซักถามข้อเท็จจริงต่อรัฐบาลจากการยื่นญัตตินี้ด้วย” ศิริกัญญาระบุ

 

ในช่วงท้าย ชัยธวัชตอบสื่อมวลชนต่อคำถามกรณีการปรับโครงสร้างพรรคพลังประชารัฐว่า เรื่องนี้มีนัยสำคัญในแง่ที่ว่า อุบัติเหตุทางการเมืองอาจเกิดได้เสมอ และอาจมีการยุบสภาเร็วกว่าที่ พล.อ. ประยุทธ์ต้องการ อย่างที่ตนย้ำเสมอว่า การยุบสภาในประเทศไทย น้อยครั้งมากจะยุบในเวลาที่ต้องการหรือเป็นช่วงที่ได้เปรียบที่สุด แต่ส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุทางการเมืองของรัฐบาลเอง

 

“การเปลี่ยนแปลงภายในพรรคพลังประชารัฐที่กำลังเป็นข่าว สะท้อนปัญหาสำคัญคือเสถียรภาพทางการเมืองของ พล.อ. ประยุทธ์ ถ้าแก้ไม่ได้ อย่างน้อยการผ่านกฎหมายสำคัญในสภามีปัญหาแน่ อาจได้เห็นปรากฏการณ์การเมืองย้อนยุคที่ไม่ได้เห็นมานาน เช่น การโหวตวาระสำคัญต่างๆ ต้องไปแจกเงินในห้องน้ำหรือห้องต่างๆ เป็นปัญหาใหญ่ของรัฐบาล ความไม่มีเสถียรภาพนี้เกิดจากการที่ ส.ส. ของพลังประชารัฐส่วนหนึ่งไม่มั่นใจใน พล.อ. ประยุทธ์ เพราะหลายคนมีความกังวลใจอย่างมากหากต้องหาเสียงกับพี่น้องประชาชนแล้วต้องชู พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง” ชัยธวัชกล่าวในท้ายที่สุด

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising