วันนี้ (11 มกราคม) ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส. พิษณุโลก พรรคก้าวไกล เดินทางไปยังกรมปศุสัตว์เพื่อยื่นหนังสือต่ออธิบดีกรมปศุสัตว์ ร้องขอให้มีการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ประกอบด้วย
- ข้อมูลจำนวนผลการตรวจยืนยันฟาร์มและจำนวนสุกรที่ติดเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) แยกตามจังหวัด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 จนถึงปัจจุบัน
- ข้อมูลจำนวนผลการตรวจยืนยันฟาร์มและจำนวนสุกรที่ติดเชื้อโรคเพิร์สในสุกร (PRRS) แยกตามจังหวัด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 จนถึงปัจจุบัน
- ข้อมูลรายเดือนการทำลายสุกรพร้อมสาเหตุ ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 จนถึงปัจจุบัน
- ข้อมูลจำนวนเกษตรกร จำนวนเงินชดเชย และสาเหตุของการขอชดเชย ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรขอชดเชยจากกรมปศุสัตว์ทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 จนถึงปัจจุบัน
โดยให้เวลากรมปศุสัตว์ 7 วัน ในการรวบรวมข้อมูลและแจ้งให้ปดิพัทธ์ทราบ ซึ่งในวันนี้ บุญญกฤช ปิ่นประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ เป็นตัวแทนมารับหนังสือ
ปดิพัทธ์กล่าวว่า ค่อนข้างเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าในประเทศไทยเกิดการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรขึ้นจริง ไม่ว่าจะเป็นจากหนังสือที่ถูกเผยแพร่โดยภาคีสัตวแพทย์ 14 มหาวิทยาลัย และเมื่อช่วงเที่ยงที่ผ่านมา ทางกรมปศุสัตว์เองก็ได้ทำการแถลงข่าว หลังจากถูกกดดันให้ทำการตรวจสอบเรื่องนี้ โดยเป็นการสุ่มตรวจตัวอย่างสุกรในโรงฆ่าสัตว์จังหวัดนครปฐมและราชบุรี จาก 300 กว่าตัวอย่าง พบว่าติดเชื้อจริง 1 ตัวอย่าง ซึ่งตนมองว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ที่จะมาพบวันนี้ เพราะการระบาดของโรคได้เกิดขึ้นตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว และได้ระบาดอย่างต่อเนื่องจนทำให้จำนวนสุกรภายในประเทศไทยลดลง 50-60%
ดังนั้นหากกรมปศุสัตว์ยืนยันในเรื่องของความโปร่งใส ตนจึงเดินทางมาขอความชัดเจนในวันนี้ เชื่อว่าเป็นข้อมูลที่อธิบดีกรมปศุสัตว์หรือผู้อำนวยการสำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์จะตอบได้ไม่ยาก แต่หากข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ คำกล่าวอ้างว่าจะทำงานด้วยความโปร่งใสของกรมปศุสัตว์ก็จะสร้างความกังขาต่อไป ซึ่งหากตนได้รับข้อมูลแล้วก็จะทำการรวบรวมและนำไปวิเคราะห์เพื่อศึกษารูปแบบของการระบาด และนำเสนอความคืบหน้าให้สื่อมวลชนทราบต่อไป
ทั้งนี้ ปดิพัทธ์ยังได้ตั้งคำถามว่า หากมีการติดเชื้อเพียง 1 ตัวอย่างที่โรงฆ่าสัตว์จังหวัดนครปฐม ตามที่กรมปศุสัตว์แถลง เหตุใดจึงมีสุกรล้มตายและถูกทำลายเป็นจำนวนมากในหลายพื้นที่ และยังมีการเบิกจ่ายงบประมาณไปใช้กับโรคดังกล่าวอีก ส่วนตัวจึงไม่เชื่อว่าจะพบเพียง 1 ตัวอย่าง เพราะแม้จะเจอเชื้อเพียงเล็กน้อยก็สามารถอนุมานได้เลยว่ามีการติดเชื้อในฟาร์มเกือบทั้งหมด เพราะเชื้อสามารถอยู่ได้นานและกระจายได้เร็ว
“สามปีที่ผ่านมาทำอะไรกันอยู่ เหตุใดจึงไม่เร่งแก้ไข และส่วนตัวมองว่ามีความผิดปกติ เพราะเคยมีการเสนอเรื่องโรคระบาดในสุกรให้เป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 ซึ่งหลังจากนั้นก็ไม่มีการดำเนินการใดๆ แต่กลับพบเอกสารว่ามีการเบิกงบประมาณและมีการทำลายสุกรเป็นจำนวนมาก ซึ่งตนจะทำการตรวจสอบมติ ครม. ย้อนหลัง เพื่อรวบรวมข้อมูลทั้งหมด และหากมีข้อมูลสามารถเอาผิดกับบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ก็จะดำเนินตามช่องทางของกฎหมาย” ปดิพัทธ์กล่าว