×

ก้าวไกลยื่นญัตติด่วน ขอสภาให้ ครม. ทบทวนคำถามประชามติ ย้ำคำถามที่เปิดกว้างจะเพิ่มโอกาสจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่

โดย THE STANDARD TEAM
04.07.2024
  • LOADING...
ก้าวไกล ยื่นญัตติด่วน

วันนี้ (4 กรกฎาคม) ที่รัฐสภา พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ยื่นญัตติด่วนต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเสนอให้รัฐสภาเห็นชอบการทำประชามติเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ด้วยคำถามที่ว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ”

 

พริษฐ์กล่าวว่า สาเหตุที่พรรคก้าวไกลยื่นเสนอญัตตินี้ เนื่องจากย้อนกลับไปวันที่ 23 เมษายน 2567 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแนวทางเกี่ยวกับการทำประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยเห็นว่าควรมีการทำประชามติทั้งหมด 3 ครั้ง และควรให้คำถามประชามติในครั้งที่ 1 เป็นคำถามที่ว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์”

 

พรรคก้าวไกลยืนยันอย่างหนักแน่นว่า เราสนับสนุนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่เรามีความกังวลว่าการตั้งคำถามในลักษณะดังกล่าวอาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สะดุดและไม่ประสบความสำเร็จ ด้วย 3 เหตุผลคือ

 

  1. คำถามประชามติที่คณะรัฐมนตรีเสนอเป็นการถาม 2 ประเด็นใน 1 คำถาม โดยมีการบรรจุเงื่อนไขหรือรายละเอียดปลีกย่อยในตัวคำถาม ซึ่งอาจทำให้ประชาชนบางคนที่เห็นด้วยกับบางส่วนของคำถาม แต่ไม่เห็นด้วยกับอีกบางส่วนของคำถาม 

 

เช่น เห็นด้วยกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไขเรื่องหมวด 1 และหมวด 2 มีความลังเลใจว่าควรจะลงมติเช่นไรที่สะท้อนเจตจำนงหรือจุดยืนของตนเอง ทำให้ในบรรดาคนที่อยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อาจไม่ใช่ทุกคนที่จะลงคะแนน ‘เห็นชอบ’ เหมือนกันอย่างเป็นเอกภาพ

 

  1. คำถามประชามติที่คณะรัฐมนตรีเสนอเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้การยกร่าง รัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ประสบปัญหาในเชิงกฎหมาย เพราะในเมื่อเนื้อหาของรัฐธรรมนูญแต่ละหมวดมีความสัมพันธ์กันโดยธรรมชาติ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อาจมีการยกร่างเนื้อหาบางส่วนในหมวด 3 เป็นต้นไป ที่ทำให้เกิดความจำเป็นทางกฎหมายที่จะต้องแก้ไขบางข้อความในหมวด 1 และหมวด 2 ให้สอดคล้องกันกับหมวดอื่นๆ แต่การแก้ไขดังกล่าวไม่สามารถกระทำได้พร้อมๆ กัน หากไม่เปิดให้มีการแก้ไขข้อความในหมวด 1 และหมวด 2 ในกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

 

  1. คำถามประชามติที่คณะรัฐมนตรีเสนอเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่สามารถแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างทางการเมืองในบริบทปัจจุบันได้ เพราะในเมื่อเป้าหมายสำคัญอย่างหนึ่งของรัฐธรรมนูญคือการออกแบบกติกาการเมืองที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายท่ามกลางความเห็นที่แตกต่าง 

 

การปิดกั้นข้อเสนอจากประชาชนเกี่ยวกับการปรับปรุงเนื้อหาในหมวด 1 และหมวด 2 (ที่ไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองหรือรูปแบบรัฐ) อาจเพิ่มความเสี่ยงที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะไม่ถูกมองว่าสะท้อนฉันทมติใหม่ของประชาชนทุกคนได้อย่างแท้จริง 

 

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ก็ไม่ได้ห้ามเรื่องการแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ไว้ รวมถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทุกครั้งที่ผ่านมา ทั้งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 พ.ศ. 2550 และ พ.ศ. 2560 ก็มีการปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาในหมวด 1 และหมวด 2 มาโดยตลอด

 

ดังนั้น เพื่อเสนอคำถามประชามติที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว พรรคก้าวไกลจึงอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ประชามติ พ.ศ. 2564 มาตรา 9(4) เพื่อเสนอญัตติด่วนให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบ และแจ้งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 

 

ด้วยคำถามว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ” ซึ่งเงื่อนไขเรื่องการไม่เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองและรูปแบบรัฐ เป็นเงื่อนไขที่ถูกล็อกไว้อยู่แล้วในรัฐธรรมนูญมาตรา 255

 

พริษฐ์กล่าวว่า ตนเข้าใจว่ารัฐบาลมีจุดยืนที่ต่างกับพรรคก้าวไกลในเรื่องการล็อกหมวด 1 และหมวด 2 แต่หากรัฐบาลเลือกใช้คำถามประชามติตามที่พรรคก้าวไกลเสนอ และประชามติดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากประชาชน ขั้นตอนถัดไปคือการที่คณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกรัฐสภาจะต้องเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับรายละเอียดการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เช่น จำนวน ที่มา และอำนาจของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ซึ่งในขั้นตอนนี้ หากรัฐบาลประสงค์ รัฐบาลสามารถเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ระบุไว้ได้ว่า สสร. มีอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกหมวด ยกเว้นหมวด 1 และหมวด 2 ซึ่งก็สอดคล้องกับรายละเอียดของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคเพื่อไทยเคยเสนอเข้าสู่รัฐสภา

 

ดังนั้น การเลือกคำถามประชามติที่พรรคก้าวไกลเสนอในวันนี้ จะทำให้รัฐบาลยังคงเลือกที่จะล็อกหมวด 1 และหมวด 2 ได้เช่นเดิมตามจุดยืนของรัฐบาล แต่จะช่วยลดความเสี่ยงที่ประชามติรอบแรกจะไม่ผ่าน

 

พริษฐ์กล่าวต่อไปว่า สาเหตุที่พรรคก้าวไกลต้องเสนอญัตตินี้เป็นญัตติด่วน เพราะหากย้อนกลับไปวันที่ 23 เมษายน 2567 คณะรัฐมนตรีมีมติว่าจะไม่เดินหน้าจัดทำประชามติครั้งแรกและประกาศคำถามประชามติอย่างเป็นทางการ จนกว่าการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ จะแล้วเสร็จ 

 

ทั้งนี้ วานนี้ (3 กรกฎาคม) ในการประชุมนัดแรกของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ทางคณะกรรมาธิการได้กำหนดว่าจะพิจารณาร่างแก้ไขให้เสร็จในชั้นกรรมาธิการภายในปลายเดือนสิงหาคมนี้ ก่อนจะกลับเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 2-3 ของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งคาดว่าน่าจะเสร็จสิ้นภายในปี 2567

 

ดังนั้น เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาได้พิจารณาและลงมติเรื่องคำถามประชามติให้เสร็จสิ้นตามกระบวนการ ทันเวลาก่อนที่ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ จะประกาศบังคับใช้ และก่อนที่ ครม. จะประกาศคำถามประชามติอย่างเป็นทางการ พรรคก้าวไกลจึงจำเป็นต้องเสนอญัตตินี้เป็นญัตติด่วน เพราะหากเสนอเป็นญัตติทั่วไปก็อาจจะต้องรอเวลาอีกหลายเดือนหรือเป็นปีก่อนจะได้รับการพิจารณา 

 

พริษฐ์กล่าวทิ้งท้ายว่า พรรคก้าวไกลหวังว่าญัตติดังกล่าวจะได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกพรรค และจากสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ เพื่อให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประสบความสำเร็จ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X