×

พรรคก้าวไกล ออกแถลงการณ์ย้ำ พ.ร.บ. คู่ชีวิต ไม่เท่ากับ #สมรสเท่าเทียม ขอแก้ประมวลแพ่งฯ ให้ได้สิทธิเสมอภาค

โดย THE STANDARD TEAM
08.07.2020
  • LOADING...

วันนี้ (8 กรกฎาคม) ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ พร้อมด้วย ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนผู้มีความหลากหลายทางเพศ แถลงการณ์ต่อสื่อมวลชนถึงการทำความเข้าใจเกี่ยวกับกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ผ่านร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิตในวันนี้ ว่าขอให้พี่น้องประชาชนอย่าเกิดความสับสน และขอทำความเข้าใจว่าร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ…. (พ.ร.บ. คู่ชีวิต) เป็นคนละฉบับกับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งเเละพาณิชย์ มาตรา 1448 (สมรสเท่าเทียม) เพื่อการสมรสเท่าเทียมที่พรรคก้าวไกลเป็นผู้เสนอนั้นมีสาระสำคัญ คือ ‘คู่ชีวิตไม่เท่ากับสมรสเท่าเทียม’ คือการที่เราแก้ไขสมรสเท่าเทียม คำว่าคู่สมรสนั้น ถูกบัญญัติอยู่แล้วในกฎหมายทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการของราชการ สวัสดิการเอกชน ที่จะให้สิทธิ์กับคำว่าคู่สมรสและการสมรสเท่าเทียม จะปกป้องและดูแลคู่สมรสให้ได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียม เป็นการยืนอยู่อย่างเสมอภาคต่อหน้ากฎหมายของประเทศ 

 

ทั้งนี้ คำว่าคู่ชีวิตไม่ได้ถูกบัญญัติมีอยู่ในกฎหมายอื่นๆ เป็นคำใหม่ จึงทำให้ พ.ร.บ. คู่ชีวิตไม่สามารถทำให้คู่ชีวิตได้รับการปกป้องดูแลและรับสิทธิ์เหมือนคู่สมรส โดยธัญวัจน์ระบุเพิ่มเติมว่า การสมรสเท่าเทียมคือการสร้างความเท่าเทียม สร้างคนให้เท่ากันในสังคม ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ 

 

ขณะที่ธัญญ์วารินระบุว่า ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิตถ้าผ่านและใช้เป็นกฎหมาย จะทำให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศแปลกและแตกต่างตอกย้ำอคติทางเพศในสังคมไทย เพราะเมื่อเราต้องการจดทะเบียนสมรสและได้สิทธิตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมทุกคน แล้วทำไมถึงต้องใช้กฎหมายคนละตัว ซึ่งถ้าใช้สมรสเท่าเทียมจะทำให้คนไทยทุกคน ได้รับสิทธิเท่าเทียมกันในสังคม

 

ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ…. (พ.ร.บ. คู่ชีวิต) ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วก็จริง แต่จะต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปีพุทธศักราช 2560 ในสภาผู้แทนราษฎรเสียก่อน

 

ทั้งนี้ ขอเชิญชวนประชาชนร่วมแสดงฟังความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ‘สมรสเท่าเทียม’ ที่พรรคก้าวไกลเป็นผู้เสนอ ในเว็บไซต์ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ตั้งเเต่วันนี้จนถึงวันที่ 17 สิงหาคม 2563 เพราะเสียงของประชาชนที่จะเข้าสู่ในสภาผู้แทนราษฎรมีความสำคัญ เราในฐานะผู้แทนราษฎรอยากเชิญชวนประชาชนมีส่วนร่วมและมีบทบาทในการแก้ไข ก่อนที่ร่างกฎหมายดังกล่าวจะบรรจุเข้าวาระในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และผลักดันใช้เป็นกฎหมาย เพื่อความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำในสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ 

 

สุดท้าย ธัญวัจน์กล่าวว่า กฎหมายของไทยห้ามแบ่งเเยกดินแดน เหตุใดจึงมีกฎหมายแบ่งแยกความเป็นมนุษย์

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X