×

ก้าวไกลตั้งกระทู้สดถามดีอีเอส ปมควบรวม TRUE-DTAC ส่อผูกขาดตลาด อัดรัฐเกียร์ว่าง ชัยวุฒิบอกไม่ได้เอื้อกลุ่มทุน กสทช. ดูอยู่

โดย THE STANDARD TEAM
25.11.2021
  • LOADING...
ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล

วันนี้ (25 พฤศจิกายน) ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจาต่อนายกรัฐมนตรี โดยได้มอบหมายให้ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นผู้ตอบแทน ในกรณี ‘การควบรวมกิจการ TRUE และ DTAC เพื่อการผูกขาดตลาด’ หรือไม่

 

สำหรับคำถามแรก ปกรณ์วุฒิกล่าวว่า กรณีนี้อยู่ในขอบเขตอำนาจพิจารณาของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) หรือคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่ง กสทช. อ้างว่า ตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ระบุว่า หากประสงค์จะทำการรวมธุรกิจกับผู้รับใบอนุญาตรายอื่น ต้องรายงานต่อเลขาธิการ กสทช. ไม่น้อยกว่า 30 วันก่อนการดำเนินการ แต่หน่วยงานอ้างว่าตอนนี้ยังไม่ถึงขั้นตอนนั้น ทำให้ยังไม่มีอำนาจทำอะไรได้ และถึงแม้ว่าจะถึงขั้นตอนนั้นแล้ว หรือต่อให้พิจารณาเห็นว่าการรวมธุรกิจจะส่งผลกระทบต่อการแข่งขันหรือก่อให้เกิดการผูกขาด กสทช. ก็ไม่มีอำนาจไปยับยั้ง ทำได้เพียงแค่กำหนดมาตรการเฉพาะขึ้นมาเท่านั้น ส่วนทาง กขค. ก็อ้างตาม พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า ว่ามิให้ใช้บังคับแก่การกระทำของธุรกิจที่มีกฎหมายเฉพาะกำกับดูแลในเรื่องการแข่งขันทางการค้า

 

“ทั้งที่จริงๆแล้ว ใน พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ระบุไว้ชัดเจนว่า ให้ กสทช. มีอำนาจหน้าที่กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ดังนั้น กสทช. จึงมีอำนาจในการออกประกาศทันที โดยไม่ต้องรอให้มารายงาน 30 วันก่อนการดำเนินการ และสิ่งที่ควรต้องป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น คือการแอบแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นความลับทางการค้าระหว่างกัน หรือที่เรียกว่า Gun Jumping ซึ่งเป็นอันตรายต่อสภาพการแข่งขันมาก และในต่างประเทศมีคดีประเภทนี้เยอะมากๆ

 

“แต่ถึงแม้ออกประกาศได้ก็ยังมีปัญหา เพราะขณะนี้กำลังเกิด ‘สุญญากาศทางกฎหมาย’ เพราะองค์กรที่สามารถระงับยับยั้งการควบรวมกิจการได้ต่างบอกว่าไม่มีอำนาจ กขค. บอกว่าไม่สามารถพิจารณาการควบรวมของธุรกิจโทรคมนาคมได้ เพราะมีกฎหมายเฉพาะ แต่กฎหมายเฉพาะอย่าง พ.ร.บ.กสทช. กลับไม่มีอำนาจยับยั้งการควบรวมกิจการ ถ้าตีความแบบนี้ก็จะแปลว่า ‘ธุรกิจโทรคมนาคม’ เป็นธุรกิจที่ไม่มีหน่วยงานรัฐใดเลยที่สามารถระงับการควบรวมกิจการที่อาจทำให้เกิดอำนาจเหนือตลาดได้ เรื่องที่ใหญ่ขนาดนี้ กลับไม่มีองค์กรใดเลยที่บอกว่าตนเองมีอำนาจในการตรวจสอบ ซึ่งความจริงก็มีความเห็นจากอาจารย์นิติศาสตร์ว่า ถ้ากฎหมายของ กสทช. ทำงานไม่ได้ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า ก็มีมาตราที่ว่าด้วยการใช้อำนาจเหนือตลาดในทางที่ผิด และการห้ามทำข้อตกลงที่เป็นการจำกัดการแข่งขัน ที่อาจจะพอจะเอามาใช้ตรวจสอบการควบรวมได้ เข้าใจดีว่าทั้ง 2 องค์กรมีลักษณะที่เป็นองค์กรอิสระที่รัฐไม่สามารถแทรกแซงได้ แต่อาจจะอิสระมากไปจนก็น่าสงสัยว่าเป็นอิสระจากประชาชน เป็นอิสระจากการตรวจสอบด้วยหรือเปล่า”

 

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้รัฐบาลหรือฝ่ายบริหารไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ เพราะผู้ที่รักษาการตาม พ.ร.บ.กสทช. คือ นายกรัฐมนตรี และผู้ที่รักษาการตาม พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า ก็คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ คำถามก็คือ รัฐบาลจะมีการมีการเรียกหน่วยงานมาชี้แจงเพื่อพูดคุยเจรจาหาทางออก หรือเพื่อให้ทั้ง 2 หน่วยงานไปสรุปให้ได้ว่า กรณีนี้หน่วยงานใดจะเป็นผู้รับผิดชอบในการตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงต่างๆ หรือทั้ง 2 หน่วยงานจะต้องร่วมกันดูแลตรวจสอบในส่วนที่ต่างกัน หรือจะมีมาตรการใดๆ ในการหาทางออกในการตีความกฎหมาย 2 ฉบับนี้หรือไม่ หรือรัฐบาลจะปล่อยเกียร์ว่างให้เกิดสุญญากาศแบบนี้ ปล่อยให้เกิดการควบรวมโดยที่ไม่มีการตรวจสอบหรือประเมินผลกระทบใดๆ และถ้าปล่อยไว้แบบนี้ ในอนาคตอาจจะมีการควบรวมที่อาศัยสุญญากาศทางกฎหมายเกิดขึ้นอีก โดยรัฐบาลปล่อยให้ประชาชนรับผลกระทบที่เกิดขึ้นเอาเองเช่นนั้นหรือ

 

ในคำถามนี้ ชัยวุฒิตอบว่า การควบรวมกิจการครั้งนี้มีข่าวว่าจะส่งผลให้โครงสร้างการแข่งขันในตลาดเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ และทั้ง 2 กิจการกลายเป็นอันดับ 1 รัฐบาลมีความห่วงใยในเรื่องนี้ นายกฯ ได้ให้ผู้เกี่ยวข้องไปศึกษาติดตามดูว่ามีอำนาจอะไรไปยับยั้งได้บ้างหากเป็นการควบรวมที่มีผลกระทบต่อประชาชน อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เป็นเพียงการเริ่มต้นของการควบรวมกิจการเท่านั้น และเป็นการรวมเฉพาะในส่วนผู้ถือหุ้น ยังไม่ได้รวมในบริษัท บริษัททั้งสองยังแยกไปทำธุรกิจอยู่ แต่มีเพียงแค่ผู้ถือหุ้นเป็นกลุ่มเดียวกัน

 

“ธุรกิจสื่อสารถือเป็นสาธารณูปโภค อยากให้เข้าใจว่าต้องมีการลงทุนสูงและมีความเสี่ยงสูง จึงมีลักษณะของการต้องให้สัมปทาน เหมือนธุรกิจพลังงาน โดยลักษณะธุรกิจไม่สามารถทำให้แข่งขันเสรีได้อยู่แล้ว แต่โดยหลักคือต้องมีการกำกับดูแลโดยหน่วยงาน กรณีนี้คือ กสทช. แต่ทุกอย่างก็มีการแข่งขัน เช่น การประมูลรับคลื่นความถี่ไปทำธุรกิจ เพื่อให้ประชาชนใช้บริการได้สะดวก มีการแข่งทั้งความเร็ว ทั้งราคา จะบอกว่าไม่แข่งเลยก็ไม่ถูก แต่จะบอกให้แข่งเหมือนทั่วไปก็ไม่ได้ ตอนนี้ยังไม่ถึงขั้นรวมธุรกิจ ถ้าเห็นว่ามีผลกระทบ จะให้ กสทช.และกระทรวงดีอีเอสศึกษาว่ามีผลกระทบอย่างไรและจะกำกับดูแลอย่างไร ถึงมีน้อยรายก็ต้องกำกับเรื่องราคา ต้องมีมาตรการในอนาคต

 

ก่อนเริ่มคำถามที่ 2 ปกรณ์วุฒิกล่าวว่า เข้าใจดีว่าการควบรวมกิจการที่เกิดขึ้นเป็นส่วนผู้ถือหุ้น แต่ในคำสั่ง กสทช. ก็มีระบุอำนาจไปถึง ‘ผู้ควบคุมกิจการ’ ซึ่งหมายถึง บริษัทแม่ ผู้ถือหุ้น หรือเจ้าของ ก็คือ ผู้ควบคุมกิจการเจ้าเดียวกัน เกิดสภาพความเป็นจริงว่าทั้ง 2 รายจะกลายเป็นบริษัทที่มีเจ้าของเดียวกัน ทำให้ประชาชนจะเหลือค่ายมือถือให้เลือกเพียง 2 เจ้าเท่านั้น และเข้าใจดีว่าธุรกิจนี้ต้องลงทุนสูง ไม่สามารถมีผู้แข่งขันจำนวนมากในตลาดได้ แต่มันมีดัชนีที่ใช้เป็นเครื่องมือในการวัดความผูกขาดอยู่ เรียกว่า HHI เป็นการนำตัวเลขส่วนแบ่งการตลาดของผู้เล่นแต่ละรายในอุตสาหกรรมมาคำนวณ มีค่าตั้งแต่ 0-10,000 ค่ายิ่งน้อยแปลว่ามีการแข่งขันสูงมาก ค่ายิ่งมากแปลว่าเป็นตลาดที่ผูกขาด หาก HHI เกิน 2,500 ถือว่าไม่ค่อยมีสภาพการแข่งขันแล้ว

 

“ปัจจุบันที่มี 3 เจ้าใหญ่ ค่า HHI ของธุรกิจโทรคมนาคมไทยอยู่ที่ประมาณ 3,600 แต่การควบรวมครั้งนี้จะทำให้ตัวเลขพุ่งไปอยู่ที่ 5,012 ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นสูงมาก จากสภาวะการแข่งขันที่น้อยอยู่แล้วจะยิ่งน้อยลงไปอีก สภาวะการผูกขาดจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ถ้าคิดตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น อย่างทฤษฎีเกม ตลาดที่มีผู้เล่น 3 ราย กับ 2 ราย การตัดสินใจของธุรกิจในการแข่งขันด้านราคาจะต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะตลาดที่มีผู้เล่นเพียง 2 ราย เมื่ออยู่ในจุดที่ทั้งคู่พอใจในส่วนแบ่งการตลาดของตัวเอง จะทำให้ไม่มีการแข่งขันด้านราคาเกิดขึ้นเลย ขอให้ลองนึกย้อนไป 20 กว่าปีที่แล้ว ที่เราเคยมีค่ายมือถือเพียง 2 ค่าย ในยุคนั้นมีทั้งการขายในลักษณะล็อก IMEI เครื่อง ให้ไม่สามารถเปลี่ยนไปใช้เบอร์ต่างค่ายในมือถือเครื่องเดิมได้ กลายเป็นเหมือนการขายพ่วงทั้งเครื่องและเบอร์โดยอัตโนมัติ มีค่าบริการที่แพง ทั้งที่มีแค่การสื่อสารด้วยเสียง ไม่มีแม้กระทั่งอินเทอร์เน็ตแบบ GPRS แต่ค่าบริการรายเดือนสูงถึง 500 บาท ขั้นต่ำโทรหาเบอร์ที่จดทะเบียนข้ามจังหวัด เสียนาทีละ 8-10 บาท ในขณะที่ข้าวจานละ 20 บาท”  

 

จนปัจจุบันในตลาดมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามา 3-4 ราย อาจจะมีล้มหายจากไปบ้าง แต่สภาวะการแข่งขันของตลาดที่สูงขึ้นมา ทำให้ธุรกิจต้องแข่งขันกันทั้งด้านราคา นวัตกรรม หรืออื่นๆ ทำให้ทุกวันนี้ประชาชนได้ใช้บริการโทรคมนาคมในคุณภาพที่ดีขึ้น และในราคาที่เปรียบเทียบแล้วถูกกว่าเมื่อก่อนมาก แต่เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ทางรัฐบาลโดยท่านรัฐมนตรีชัยวุฒิ กลับให้สัมภาษณ์สื่อว่า “จะผูกขาดอย่างไร เรื่องมือถือมีการแข่งขันอยู่แล้ว ธุรกิจนี้มีหลายเจ้า ไม่ใช่เจ้าเดียว บางประเทศยังมีแค่เจ้าเดียว”

 

“ต้องเรียนว่า การผูกขาดไม่ได้แปลว่าถ้ามีมากกว่า 1 ราย จะไม่ผูกขาด มาตรการการป้องกันการผูกขาดคือการป้องกันไม่ให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘การครอบงำตลาด’ และป้องกันไม่ให้สภาวะการแข่งขันต่ำเกินไปจนเกิดผลกระทบกับผู้บริโภค ซึ่งแม้มีผู้เล่นในตลาดหลายราย แต่หากมีรายใหญ่ที่กินส่วนแบ่งไป 70-80 % ก็ถือว่าครอบงำตลาดได้

 

“ที่รัฐมนตรีบอกว่าบางประเทศมีแค่เจ้าเดียว หากดูแค่ในเอเชียมีแค่ 2 ประเทศ คือ หมู่เกาะโซโลมอน และเกาหลีเหนือ และถ้าดูทั่วโลกจริงๆ ประเทศที่มีผู้ประกอบการด้านนี้รายเดียว เกือบทั้งหมดเป็นประเทศที่มีประชากรน้อยมาก หลักแสนหรือไม่เกิน 1-2 ล้านคน การให้ความเห็นแบบนี้ของรัฐมนตรีจึงขอถามว่า สิ่งที่พูดถือเป็นความเห็นของคณะรัฐมนตรีหรือไม่ เป็นการส่งสัญญาณว่ารัฐบาลเห็นด้วยกับการควบรวมครั้งนี้ใช่หรือไม่ แปลว่ารัฐบาลมองว่าการควบรวมครั้งนี้จะไม่ทำให้เกิดการผูกขาด และไม่มองว่าจะเกิดกระทบต่อประชาชนเลยหรือ”

 

ชัยวุฒิตอบคำถามนี้ว่า สิ่งที่อยากสื่อสารคือ เราไม่ได้มีแค่เจ้าเดียว แต่มี AIS ซึ่งเป็นเจ้าใหญ่ครองตลาดอยู่ และมีรัฐวิสาหกิจหรือ NT ที่แข่งอยู่ห่างๆ เพื่อบริการประชาชนด้วย แต่จะมีกี่รายก็ต้องบอกว่าอย่างไรก็มีการแข่งขันที่ไม่สมบูรณ์ มีโอกาสฮั้ว หรือมีอำนาจเหนือตลาดกดดันผู้บริโภคอยู่แล้ว จึงต้องมีการกำกับดูแล ทุกวันนี้ก็มี กสทช. ดูแล ตนได้หารือผู้บริหาร กสทช. ที่กำลังศึกษาวิธีการไม่ให้มีการขึ้นราคา หรือลดบริการคุณภาพ จะติดตามใกล้ชิดอย่างแน่นอน

 

“ส่วนที่ถามว่ารัฐบาลเห็นด้วยหรือไม่ คงตอบไม่ได้ การที่เอกชนวางแผนธุรกิจ เขาอาจไปรวมกันลดเพื่อต้นทุน เราไม่สามารถทราบหรือไปห้ามได้ เพราะถ้าไปห้ามแล้วเขาขาดทุน หรือบอกให้แข่งสูงแล้วไปไม่ได้เหมือนกรณีทีวีดิจิทัล ซึ่งนั่นเสรีเลยแต่สุดท้ายไปไม่ได้ ดังนั้น การที่เอกชนตัดสินใจระดมทุนแบบไหนเป็นเสรีภาพ เป็นสิทธิของเขา รัฐบาลไม่ควรไปยุ่ง เราควรมาดูที่การกำกับดูแลไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบเป็นหัวใจสำคัญ

 

ในคำถามสุดท้าย ปกรณ์วุฒิกล่าวว่า ประเด็นที่บอกว่ามีกี่รายก็แข่งขันไม่สมบูรณ์ ไม่มีผลต่อการแข่งขัน ต้องย้ำว่า เราสามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นจากการลดจำนวน จากผลการศึกษา ของ The European Regulators for Electronic Communications ที่ศึกษา ‘จากสิ่งที่เกิดขึ้นจริง’ ใน 3 ประเทศที่เกิดการควบรวมธุรกิจนี้ จาก 4 ราย เหลือ 3 ราย ปรากฏว่า 3 ประเทศนี้ หลังจากมีการควบรวมใน 1 ปี เยอรมนีค่าบริการเพิ่มขึ้น 30%, ไอร์แลนด์เพิ่มขึ้น 12.5%, ออสเตรียเพิ่มขึ้น 25% และการศึกษาของบัณฑิตยสภาฮังการี ข้อมูลระหว่างปี 2003-2010 จาก 27 ประเทศในยุโรป พบว่า การควบรวมกิจการโทรคมนาคม จาก 5 ราย เหลือ 4 ราย จะไม่ค่อยมีผลมากนัก แต่การควบรวมจาก 4 ราย เหลือ 3 ราย จะทำให้ค่าบริการเพิ่มขึ้นในระยะยาวโดยเฉลี่ย 29% และในรายงานนี้ยังเสนอว่า ‘ผู้กำกับดูแลไม่ควรอนุญาตให้ควบรวมจาก 4 ราย เหลือ 3 ราย เพราะมี ‘ความเสี่ยงสูง’ ที่ผู้บริโภคจะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้นในระยะยาว’

 

“4 เหลือ 3 เขาก็ไม่แนะนำให้ทำแล้ว แต่เรากำลังจะทำจาก 3 เหลือ 2 ขอร้องว่า ไม่ต้องนับ NT ที่ส่วนแบ่งการตลาดปีล่าสุดแค่ 3% เข้าไป เพื่อบอกว่ายังมีการแข่งขัน เพราะส่วนแบ่งตลาดเท่านี้ เอกชนก็ไม่นับว่าเป็นคู่แข่งและแทบจะไม่มีผลอะไรเลยกับสภาวะการแข่งขัน แม้กระทั่งตัว NT เองยังเคยพูดในกรรมาธิการงบประมาณปีล่าสุดว่า เน้นการรับงานจากพันธมิตร ซึ่งก็คือหน่วยงานรัฐ ไม่ได้คิดจะแข่งขันกับเอกชน  

 

“ที่ท่านรัฐมนตรีชัยวุฒิบอกว่าการควบรวมเป็นเรื่องปกติ และการควบรวมจะทำให้ธุรกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น อันนี้จริง ทำให้ธุรกิจมีต้นทุนที่ต่ำลง อันนี้ก็จริง ลองคิดดูก็ได้ว่าถ้ามีการ Shift ของเทคโนโลยีการประมูลคลื่นความถี่ครั้งต่อไป ถ้ามีผู้เล่นที่เข้าร่วมประมูลเท่านี้ ธุรกิจจะประมูลคลื่นได้ในราคาที่ต่ำลงแน่ๆ แต่รายได้เข้ารัฐก็ต่ำลงด้วย และอะไรทำให้ท่านคิดว่าจะทำให้ผู้บริโภคจ่ายในราคาถูกลง การควบรวมเป็นเรื่องปกติก็จริง หากเป็นการควบรวมระหว่างรายเล็ก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน เพื่อแข่งกับรายใหญ่ได้ แต่การควบรวมของรายใหญ่มันมีแต่การผูกขาด เหลือรายใหญ่แค่ 2 ราย เขาไม่จำเป็นต้องลดราคา”

 

ปกรณ์วุฒิกล่าวต่อไปว่า ในโลกในยุคนี้ การสื่อสารโดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตเป็นปัจจัยสำคัญในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เรื่องความฟุ่มเฟือย เป็นปัจจัยสำคัญที่ประชาชนใช้ในการขยับสถานะของตัวเอง ทั้งในการหาความรู้และหารายได้ ต้องมีอินเทอร์เน็ตติดตัวเราทุกที่ทุกเวลา แต่สุดท้าย สิ่งที่จำเป็นสำหรับประชาชน ซึ่งรัฐบาลประกาศไว้ในนโยบายว่าเป็นเรื่องสำคัญ กลับกลายเป็นมีความเสี่ยงว่าประชาชนต้องจ่ายต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นในระยะยาว รัฐบาลเหมือนเข้าใจกลุ่มทุนเหลือเกิน แต่ฟังแล้วไม่มั่นใจว่าท่านเข้าใจหัวอกกประชาชนแค่ไหน    

 

“เมื่อไม่นานมานี้เพิ่งจะมีกรณีที่คล้ายๆ กันนี้เกิดขึ้น คือการควบรวมธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ เป็นคำครหาที่มีมาตลอดกับรัฐบาลและองคาพยพของ คสช. ในองค์กรรัฐต่างๆ ถึงสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างอำนาจรัฐกับกลุ่มทุนรายใหญ่ทั้งหลาย การออกกฎหมายและการดำเนินนโยบายต่างๆ หรือแม้กระทั่งการวางเฉยกับบางเรื่องก็มีคำครหาอยู่เสมอว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนมากกว่าการเห็นแก่ผลประโยชน์ของประชาชน ในกรณีนี้สังคมก็กำลังตั้งคำถามว่ารัฐกำลังทำเพื่อเอกชน เพื่อกลุ่มทุนเมื่อการตัดสินใจของท่านเกิดคำถามต่อสังคมก็ต้องตอบให้ได้

 

“ในคำถามนี้ ผมขอมอบพื้นที่ให้ท่านรัฐมนตรีตอบคำถามกับพี่น้องประชาชนว่า สิ่งที่รัฐบาลจะกระทำใดๆ ต่อไปในกรณีนี้ จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนหรือประโยชน์ของกลุ่มทุน หากการควบรวมครั้งนี้เกิดขึ้นจริงและเกิดผลกระทบกับประชาชนตามที่คาดไว้ รัฐบาลคิดเอาไว้หรือไม่ว่าจะมีมาตรการอย่างไรในการแก้ไขปัญหาให้กระทบน้อยที่สุดอย่างไร”

 

ชัยวุฒิตอบคำถามสุดท้ายว่า นี่ไม่ใช่การเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนใดกลุ่มทุนหนึ่ง แต่กลุ่มทุนวางแผนของเขาเอง รัฐบาลไม่ได้ไปทำเพื่อเกิดประโยชน์กับใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ธุรกิจโทรคมนาคมมีต้นทุนสูง แต่ทุกอย่างมีความเสี่ยง ต้องให้โอกาสให้เขาได้คิดเพื่อประโยชน์สูงสุดของเขา แต่สิ่งที่เราต้องคิดคือการกำกับดูแล ซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่ง กสทช. ติดตามเรื่องนี้อยู่ และมีอำนาจควบคุมกำหนดราคาขั้นสูง การกำหนดบริการขั้นต่ำ เท่าที่ทราบจะมีออกมาหลายมาตรการ แต่ยังไม่ถึงเวลาที่ต้องได้ข้อสรุปตรงนี้ เพราะทั้งหมดเพิ่งเริ่ม จะต้องติดตามศึกษาต่อไป 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X