×

ก้าวไกลถาม คมนาคมตอบ เปลี่ยนเลขสายรถเมล์ ‘คนคิดไม่ได้นั่ง คนนั่งไม่ได้คิด’

โดย THE STANDARD TEAM
08.02.2024
  • LOADING...
พรรคก้าวไกล

วันนี้ (8 กุมภาพันธ์) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 16 สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 2 ซึ่งมี พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาคนที่ 2 เป็นประธานการประชุมในวาระกระทู้สดถามด้วยวาจา ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ถาม สุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ถึงเรื่องระบบขนส่งมวลชน

 

เปลี่ยนเลขสายรถเมล์ ประชาชน ‘สับสน’ ไม่กล้าใช้บริการ

 

ศุภณัฐกล่าวเริ่มต้นคำถามแรกถึงกรณีการเปลี่ยนสายรถเมล์ว่า รถเมล์คือระบบขนส่งสาธารณะที่สำคัญ เนื่องจากมีต้นทุนต่ำที่สุด ให้คนเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนได้ง่ายที่สุด แต่รัฐบาลที่ผ่านมาไม่ได้ให้ความสำคัญมากพอจนเกิดปัญหาจำนวนมาก และหลังจากเกิดการปฏิรูปรถเมล์แล้ว ปัญหาที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือเลขสายรถเมล์ เนื่องจากกรมขนส่งทางบกปรับเลขสายรถเมล์แบบใหม่ x-xx ซึ่งที่มานั้นยอมรับว่าคิดขึ้นมาเอง โดยแบ่งกรุงเทพฯ เป็น 4 โซน เลขหน้าเป็นเลขโซน เช่น เส้นทางบางเขน-วิภาวดี หมายเลขเดิมคือ 29 แต่สายใหม่คือ 1-1 แล้วโซนทิศเหนือคือหัวลำโพงหรือไม่ หรือมีนบุรี-จตุจักร สายเก่าคือ 26 สายใหม่คือ 1-36 และมีนบุรีอยู่โซนทิศเหนือของกรุงเทพมหานครตั้งแต่เมื่อไร หรืออีกกรณีคือแฮปปี้แลนด์-สะพานพุทธ เดิมคือสาย 8 ใหม่คือ 2-38 และแฮปปี้แลนด์ บางกะปิ อยู่ตะวันตกหรือไม่ โดยที่การแบ่งโซนรถเมล์นั้นไม่ได้แบ่งในลักษณะนี้

 

ศุภณัฐกล่าวอีกว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเลขสายใหม่แบบนี้ทำให้คนจำไม่ได้ ผู้สูงอายุก็สับสนจนไม่กล้าใช้บริการ แม้กรมขนส่งทางบกจะเคยทำประชาพิจารณ์แล้ว เรื่องแรกสายใหม่แต่ไม่ผ่าน แต่กรมขนส่งทางบกนั้นยังดื้อ จะเปลี่ยนโดยไม่สนใจที่จะฟังเสียงของประชาชน พร้อมเปรียบว่า ‘คนคิดไม่ได้นั่ง คนนั่งไม่ได้คิด’

 

ศุภณัฐกล่าวต่ออีกว่า เมื่อเดือนที่ผ่านมาตนเองทำโพลผ่านแพลตฟอร์ม X (Twitter) คนตอบ 10,000 คน 91% ไม่เห็นด้วย ทั้ง ขสมก. และไทยสมายล์บัส มีการคว่ำบาตร (Boycott) เนื่องจากไม่สามารถทนกับตัวเลขสายแบบใหม่ได้ จึงนำตัวเลขสายเก่าขึ้น เพราะประชาชนมีความสับสนกับตัวเลขใหม่จนไม่กล้าใช้บริการ 

 

ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วออกข่าวว่ารัฐมนตรีแก้ปัญหาสายรถเมล์แล้วด้วยการใส่เลขใหม่และตัดขีดกลางออก พร้อมทั้งมีการวงเล็บเลขเก่าเข้าไป ตัวอย่างเช่น 1-8 เป็น 18 (58) แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือเลขใหม่ก็จะไปซ้ำกับของเก่า ยิ่งทำให้ประชาชนงงกว่าเดิม การแก้ไขปัญหาแบบนี้สะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริหารในกระทรวงคมนาคมไม่เคยนั่งรถเมล์และไม่เคยสอบถามประชาชน ยิ่งแก้ยิ่งสับสน พร้อมย้ำว่า ไม่มีประโยชน์ เพราะเลขซ้ายของรถเมล์ใช้จริงไม่ได้ เนื่องจากวิ่งกันข้ามโซน

 

ศุภณัฐจึงถามรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะคนที่กำกับโดยตรง ทราบหรือไม่ว่าเลขสายใหม่ที่กรมคิดขึ้นมา “ประชาชนไม่เอาและไม่ตอบโจทย์ จะยกเลิกแบบใหม่กลับไปใช้แบบดั้งเดิมหรือไม่” 

 

เดินหน้า ‘ขอเวลา’ ประชาสัมพันธ์เพิ่ม 

 

ปิยะพงษ์ตอบว่า ที่มาของเส้นทางการเดินรถเมล์ที่มีขีดการแบ่งโซนนั้น คณะศึกษาให้เหตุผลว่า แต่ละโซนเริ่มต้นวิ่งไปที่ไหนจะกลับไปที่โซนเดิม ซึ่งเป็นวิธีคิดของเส้นทาง ส่วนเรื่องความไม่เข้าใจหรือความสับสนของประชาชนถึงตัวเลขรหัสในการเดินรถ รัฐบาลเข้ามาทีหลัง แต่ก็พยายามศึกษาและหาแนวทางแก้ไข ถ้าวันนี้เสียงสะท้อนจากประชาชนต้องการรูปแบบเป็นอย่างไร คาดว่าจะมีคณะกรรมการขนส่งกลางที่ตนเองได้มอบหมายไปได้ประมาณ 1-2 สัปดาห์แล้วให้ศึกษาหลักการและวิธีคิดอยู่ 

 

ปิยะพงษ์กล่าวต่อว่า ณ ตอนนี้ตนเองยังไม่แน่ใจการเปลี่ยนกลับไปกลับมาจะเป็นผลดีหรือไม่ หรือควรเป็นแบบเดิม แล้วพยายามทำความเข้าใจกับประชาชน รวมถึงจะมีการประชาสัมพันธ์ให้เข้าใจในหลักการ พร้อมกล่าวว่า ที่ผ่านมาการประชาสัมพันธ์ของผู้ประกอบการเพียงพอที่จะให้พี่น้องประชาชนเข้าใจหรือไม่ ตนเองจึงขอรับปัญหาดังกล่าวกลับไปศึกษาอีกสักระยะ ว่าวิธีการที่เหมาะสมจะเดินต่อหรือจะเปลี่ยน หากเป็นเพราะขาดการประชาสัมพันธ์ เราก็ยืนยันว่าจะขอเดินหน้าต่อด้วยการประชาสัมพันธ์เพิ่มเติม พร้อมออกแบบการสอบถาม คาดว่าไม่เกิน 90 วันคงจะได้คำตอบที่ชัดเจนว่าเราประชาสัมพันธ์เพียงพอแล้วหรือไม่ การที่ประชาชนไม่เข้าใจมีปริมาณกี่เปอร์เซ็นต์ และจะสามารถทำให้เข้าใจได้โดยวิธีการเปลี่ยนหรือการทำความเข้าใจ

 

รมช. คมนาคม ถูกต้ม ให้ข้อมูลมั่ว

 

ศุภณัฐกล่าวต่อว่า โซนที่ 2 ที่เป็นสีเขียว เป็นโซนตะวันตก แต่ตามแผนภาพที่นำมาแสดงอยู่ขวามือของกรุงเทพมหานคร จะเป็นทิศตะวันตกได้อย่างไร เขาเขียนผิดกันมาหลายปีแล้ว โดยกรมขนส่งทางบกก็ยังไม่แก้ ซึ่งแท้จริงมันคือทิศเหนือ ส่วนเรื่องรถเมล์ก็ไปแล้วกลับอยู่แล้ว ดังนั้นตัวเลขจึงไม่มีประโยชน์ 

 

ส่วนบางเส้นทางที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น หากเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยสามารถใช้เลขเดิมได้ แต่ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงมากค่อยกำหนดเส้นทางตัวเลขใหม่ ส่วนเรื่องการประชาสัมพันธ์ไม่ใช่เรื่องของผู้ประกอบการ แต่คมนาคมเป็นคนเข้าไปช่วยเหลือเอง จึงอยากฝากให้ร่วมกันช่วยเหลือประชาชน 

 

ขอแผนพัฒนารถเมล์ไทยในปี 2567 มีอะไรบ้าง

 

ศุภณัฐถามต่อว่า “เพื่อประกาศให้เป็นของขวัญแก่ประชาชน รัฐมนตรีจะแก้ไขปัญหารถเมล์ขาดแคลน ไม่ครบ และมีแนวทางสำหรับถนนที่ไม่มีรถเมล์ใน กทม. หรือจังหวัดที่ไม่มีรถเมล์อย่างไร ภายในปี 2567 มีจังหวัดใดบ้างที่รัฐบาลจะผลักดันให้มีรถเมล์มากยิ่งขึ้นครั้งแรกในจังหวัด” 

 

สุรพงษ์กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญทั้งระบบแบบบูรณาการ รถเมล์จะเป็นพระเอกในกรุงเทพฯ เพราะจะเป็นรถ EV แม้วันนี้จะยังเห็นภาพไม่ชัดเจน ทั้งขนส่งระบบล้อและระบบรางจะมีความสอดคล้องและจะมีความสัมพันธ์กันมากขึ้น ระบบรางจะเป็นการขนส่งที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม มีรถเมล์ไฟฟ้าและรถเมล์ บขส. จะมีการส่งออกนอกเมือง เพื่อเดินรถในระยะที่ไกลมากยิ่งขึ้นหากในอนาคตรถไฟรางคู่เสร็จ 

 

ปัจจุบันมีระบบรางกว่า 4,000 กิโลเมตร วิ่งผ่าน 41 จังหวัด หากระบบทางคู่และระบบความเร็วสูงเสร็จ จะมีรถไฟวิ่งผ่าน 61 จังหวัดทั่วประเทศ จะทำให้มีการบูรณาการร่วมกันดีขึ้น จะทำให้ในพื้นที่ กทม. รถ บขส. หายไปจากท้องถนนหลายพันคัน จะมีถนนในการวิ่งรถเมล์ที่ชัดเจน ส่วนเส้นทางการวิ่งก็ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์

 

“รัฐบาลเข้ามาทำงานได้ครึ่งปี เราพยายามที่นำปัญหาเก่าๆ มาปัด ทั้งยังนำมาเชื่อมต่อและเชื่อมโยงให้บูรณาการเชื่อมกัน เดี๋ยวจะเห็นการเปลี่ยนแปลงระบบขนส่งของประเทศไทย โดยเฉพาะขนส่งสาธารณะและขนส่งมวลชน” สุรพงษ์กล่าว

 

ส่วนคำถามที่ว่า จังหวัดไหนที่จะมีการส่งเสริมเรื่องระบบสาธารณะ สุรพงษ์กล่าวว่า ทางขนส่งได้แก้ไขกฎกระทรวง ได้กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นสามารถเป็นผู้ประกอบการรายหนึ่งร่วมกับ บขส. และ ขสมก. ได้ ขึ้นอยู่กับรูปแบบของท้องถิ่นนั้นๆ และขอย้ำว่า รัฐบาลให้ความสำคัญที่จะให้ประชาชนเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะอย่างเท่าเทียมกัน โดยได้วางแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวอยู่ตลอด รวมทั้งเรื่องหมายเลขก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เราพร้อมรับฟังความคิดเห็นทุกด้าน อะไรที่เป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับประชาชนก็จะนำไปปฏิบัติ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising