×

“พรรคก้าวไกลต้องดีกว่าเดิม” ชำแหละอนาคตการเมือง-เศรษฐกิจไทย ผ่านเลนส์ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

20.11.2023
  • LOADING...
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

หลังจากวันที่ 22 สิงหาคม เศรษฐา ทวีสิน ได้รับการเห็นชอบจากรัฐสภาให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม เริ่มมีการวิเคราะห์ถึงอนาคตหรือแนวโน้มของทิศทางการเมืองและเศรษฐกิจไทย

 

วันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา รายการ THE STANDARD NOW ดำเนินรายการโดย ออฟ-พลวุฒิ สงสกุล สัมภาษณ์พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ถึงประเด็นดังกล่าวและอนาคตบนสมรภูมิการเมืองของตนเอง

 

บทบาทประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล

 

“ผมไม่ได้ต้องการอยู่ในกระแสทุกวัน แต่ยังคงทำงานเหมือนเดิม” พิธากล่าวหลังผู้ดำเนินรายการถามคำถามเสร็จสิ้น

 

ตอนนี้บทบาทของตนเองคือเป็นหน่วยสนับสนุนผู้นำพรรคก้าวไกล (ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน) และสร้างสมาชิกพรรคให้แข็งแกร่งและมากที่สุดในประเทศไทย 

 

นอกจากนี้ การเดินทางไปต่างจังหวัดหรือต่างประเทศก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ตนเองทำในบทบาทดังกล่าว เพื่อเพิ่มจำนวนสมาชิกให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ชัยธวัชอาจไม่มีเวลาทำ แต่ตนเองพร้อมที่จะช่วยเหลือ

 

“ยังอยู่ใกล้ก้าวไกลเหมือนเดิม ตนเองต้องไม่ทำตัวเหมือนมีหัวหน้าพรรค 2 คน แต่เลือกที่จะพูดและปรากฏตัวมากขึ้น“ พิธากล่าว

 

การเมืองไทย = Why (ทำไม) ไม่ได้สำคัญกว่า What (อะไร)

 

การเมืองไทย ณ ปัจจุบันคือ What it is (มันคืออะไร) มันเกิดอะไรขึ้น โดยไร้ซึ่งเหตุผลหรือคำว่าทำไมต้องเป็นเช่นนั้น ราวกับว่าทุกอย่างจะเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ โดยที่ไม่ต้องบอกที่มา

 

“เพราะอะไรคนที่ชนะเลือกตั้งถึงไม่ได้เป็นฝ่ายบริหาร คำตอบก็คือ ระบบรัฐสภาร่วมต้องได้ 376 จาก 750 เสียง ถึงจะได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกฯ ฉะนั้นต้องถามว่า ทำไมถึงเป็นแบบนั้น ซึ่งทั่วโลกรู้กันว่าประเทศไทยยังเป็นระบบประชาธิปไตยที่มีทั้งการเลือกตั้งและการลากตั้ง และมีการเลือกตั้งและแต่งตั้ง” พิธากล่าว

 

สิ่งที่น่าสนใจคือ การเลือกตั้งที่ผ่านมา (2566) เป็นการเลือกตั้งที่ประชาชนให้ความสนใจกับการชมเวทีดีเบตมากที่สุด แต่ด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและการจับมือข้ามขั้วของบางพรรคการเมืองย่อมส่งผลให้การเลือกตั้งครั้งหน้าจะไม่มีคนเชื่อถือในคำพูด การปราศรัย และดีเบตอีกต่อไป

 

“ผมมั่นใจว่าคราวหน้าถ้ามีเวทีดีเบต ผมไม่แน่ใจว่าคนไทยจะมาดูเท่ากับดีเบตครั้งที่ผ่านมาหรือเปล่า เพราะคนรู้แล้วว่าไม่มีความรับผิดรับชอบอะไรจากคำถามที่ตอบในการดีเบต”

 

การเมืองก้าวไกล = ประชาชน + หลักการเป็นที่ตั้ง

 

“ก้าวไกลไม่จำเป็นต้องชนะแบบแลนด์สไลด์ แต่ต้องดีกว่าเดิม เพราะเชื่อว่าการเมืองก้าวไกลยึดจากประชาชนกับหลักการเป็นที่ตั้ง” พิธาระบุ

 

หากวิเคราะห์การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลได้คะแนนเสียงมากที่สุดกว่า 15 ล้านเสียง ฉะนั้นถ้าประเมินผลการเลือกตั้งครั้งถัดไป (2570) ประชาชนควรจะให้น้ำหนักทางการเมืองกับตนเอง เพื่อยกระดับความเชื่อมั่น และแน่ใจว่าพรรคก้าวไกลจะสามารถเป็นพรรคฝ่ายรัฐบาลได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด

 

อย่างไรก็ตาม อยากให้ผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลเชื่อในชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรค, ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค และคนอื่นๆ ในพรรค เพราะทั้งหมดเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่จะทำให้การเมืองก้าวไกลเกิดขึ้นในประเทศไทย

 

คู่แข่งเงิน 10,000 บาท ที่แท้จริงคือ ‘ดิจิทัลฟุตพรินต์’

 

หนึ่งในนโยบายที่ร้อนแรงและเกิดการวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดคือเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทของรัฐบาล

 

“ผมคิดว่าดิจิทัลวอลเล็ต คู่แข่งสำคัญไม่ใช่ศิริกัญญา ตันสกุล แต่เป็นดิจิทัลฟุตพรินต์” พิธากล่าว

 

ดังนั้นที่รัฐบาลระบุว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจโดยไม่ต้องกู้เงิน แต่กลับออกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 5 แสนล้านบาท หากรัฐบาลทำหวยใบเสร็จเหมือนที่ไต้หวันทำ (ก้าวไกลเคยเสนอนโยบายนี้) หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) เติบโตน้อยในช่วง 10 ปีหลัง (พ.ศ. 2556-2566) แล้วมองว่าตัวเลขหนี้ครัวเรือนน่ากลัวที่สุด ก็ควรแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน มิใช่แจกเงินเพื่อลดปัญหาดังกล่าว

 

ซึ่งการแก้ปัญหาดังกล่าวคือแผนปฏิบัติงานเร่งด่วน (Quick Win) แต่ระยะกลาง (Medium Term) และยาว (Long Term) ต้องใช้งบประมาณมหาศาลและต้องดูที่มาของเงินด้วยเช่นกัน

 

หากพิธากู้เงิน 5 แสนล้านบาท จะทำอะไร?

 

น่าจะนำมาส่งเสริมหรือแก้ไขที่โครงสร้างในหลายเรื่อง ไม่ใช่แค่เอาเงินในอนาคตมาทำโปรโมชัน เช่น ค่าไฟ หรือการแจกเงิน ทั้งนี้ ปัญหาทางเศรษฐกิจมีมากมาย อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยต้องการการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจกันแน่ หรือต้องการอัดฉีดเข้าไปครั้งเดียวแล้วจบ

 

ฉะนั้นการมองทั้งระบบ การแก้ไขทั้งระบบ การแก้ไขทั้งโครงสร้าง คือสิ่งที่ตนเองจะทำหากกู้เงินได้

 

อนาคตพิธาบนสมรภูมิการเมืองไทย

 

ยังคงตอบไม่ได้แน่ชัด แต่สิ่งที่มีตอนนี้คือคำว่า Alternative Thailand หรือทางเลือกหลากหลายของประเทศไทย และตนเองไม่ได้ต้องการเป็นฝ่ายค้านไปทุกเรื่อง

 

3 คำศัพท์ภาษาอังกฤษแด่การเมือง-เศรษฐกิจไทย?

 

จริงๆ สามารถนิยามได้เยอะ แต่หากพูดถึงเวลานี้คงมีอยู่ 3 คำ ได้แก่

 

  1. Bipartisanship หรือการทำงานร่วมกันระหว่างสองพรรค ซึ่งเป็นแนวทางการบริหารของสหรัฐอเมริกา โดยไม่สนว่าจะมาจากพรรคการเมืองใด แต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือการร่วมกันพัฒนาประเทศ
  2. Constitutional Hardball หรือมีสิทธิแต่ผิดมารยาท โดยเป็นการเล่นเกมนอกกติกา แม้จะมีสิทธิที่จะใช้งานได้ แต่โดยมารยาททางการเมืองไม่สมควร 
  3. Tyranny of Minority หรือทรราชของเสียงข้างน้อย มาจากความเชื่อเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยที่มองว่าประชาธิปไตยคือการปกครองแบบเสียงข้างมาก แต่ไม่ได้แปลว่าเสียงข้างมากจะถูกต้องเสมอไป

 

“ขอฝาก 3 คำศัพท์นี้ไว้ให้กับการเมืองไทย หวังว่าการเมืองไทยจะเกิดการเปลี่ยนแปลงผ่านคำศัพท์ดังกล่าว” พิธากล่าวปิดท้าย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising