วันนี้ (4 สิงหาคม) ที่รัฐสภา ภายหลัง วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประกาศเลื่อนการประชุมเพื่อพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ที่ให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ตามที่พรรคก้าวไกลเป็นผู้เสนอ
ชัยธวัช ตุลาธน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคก้าวไกล ได้นำ สส. พรรคก้าวไกลร่วมแถลง โดยกล่าวว่า การอภิปรายถกเถียงในสภาและจบลงในวันนี้ด้วยการที่ประธานสภาปิดการประชุมไปเลย สส. พรรคก้าวไกลยังคงมีประเด็นที่อยากจะสื่อสารดังนี้
เรายืนยันว่าญัตติของ สส. พรรคก้าวไกล ในฐานะสมาชิกรัฐสภาที่ได้เสนอให้มีการทบทวนมติที่สภาเคยพิจารณาว่า การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีเป็นญัตติทั่วไปตามข้อบังคับที่ 41 เป็นญัตติที่ถูกต้อง ซึ่งวันนี้ประธานสภาควรจะเปิดให้ลงมติเพื่อหาข้อสรุปว่าสมาชิกรัฐสภาเห็นชอบหรือไม่ เรื่องนี้ควรเป็นกระบวนการตามปกติที่จะดำเนินการไป
ในฐานะที่พรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายสนับสนุนให้วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ดำรงตำแหน่งประธานฯ เรามีข้อกังวลว่าการปิดที่ประชุมวันนี้อาจทำให้การประชุมรัฐสภาดูไม่สง่างาม อาจถูกมองได้ว่าเพราะเสียง สว. ไม่มากพอหรือไม่ ทำให้ไม่นำไปสู่การลงมติ ฉะนั้นจึงหวังว่าการดำเนินการประชุมหลังจากนี้จะดีขึ้น
ชัยธวัชกล่าวต่อว่า การปิดประชุมสภาวันนี้ทำให้การประชุมใน 2 วาระสำคัญไม่ได้พิจารณา วาระแรก การเลือกนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกลยืนยันว่าการเลือกนายกรัฐมนตรีของรัฐสภาสามารถดำเนินต่อได้โดยไม่ต้องรอมติของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้เป็นอำนาจเต็มของรัฐสภา และที่สำคัญคือต่อให้วันนี้สมาชิกส่วนใหญ่ของรัฐสภาอาจลงมติว่าให้เลื่อนวาระการเลือกนายกรัฐมนตรีไปก่อน ก็ยังมีวาระที่สอง การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมที่พรรคก้าวไกลเสนอให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 272
ซึ่งเรื่องนี้มีความสำคัญเนื่องจากในสถานการณ์ปัจจุบันที่การเลือกนายกฯ มีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูงและอาจยืดเยื้อต่อไปได้ ฉะนั้นการปิดสวิตช์ สว. ตามที่เสนอไป ถ้าผ่านวาระที่ 1 ก็จะทำให้การเลือกนายกฯ ไม่เดินไปสู่ทางตัน
ด้าน รังสิมันต์ โรม สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ความตั้งใจของ สส. พรรคก้าวไกลที่จะยื่นญัตติเพื่อขอทบทวนมันปรากฏในรายละเอียดว่า มีนักวิชาการลงชื่อในแถลงการณ์ 115 คน มีผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญและนำไปสู่การพิจารณาผู้ที่เหมาะสมในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ถูกเลื่อนไปแล้วหลายครั้ง กระบวนการต่างๆ ที่เป็นปัญหา สภาหาทางออกด้วยกลไกที่มี ไม่มีความจำเป็นต้องพึ่งพาศาลรัฐธรรมนูญ
ประเด็นที่ สส. ก้าวไกลได้เสนอญัตติผ่านการรับรองถูกต้อง ความจริงประธานสภาต้องให้มีการพิจารณาในเรื่องนี้ พวกเราไม่มีเจตนาที่จะประวิงเวลาของการประชุมสภา เราเตรียมการอภิปรายเพื่อจะได้นำไปสู่การสรุปให้เร็วที่สุด และถ้าหากมติของสภาให้มีการทบทวน เราก็จะได้ไม่ต้องมาเจอผลของการเลื่อนประชุมต่อไปตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งความไม่แน่นอนในส่วนนี้สภาของเราสามารถจัดการได้
รังสิมันต์กล่าวถึงกรณีที่มีผู้โต้แย้งในที่ประชุมสองประเด็นว่า ญัตติของพรรคก้าวไกลเป็นหลักการซ้ำ สภามีมติตามที่ประชุมข้อที่ 151 ไปแล้ว ดังนั้นเมื่อซ้ำก็จะเข้าสู่ข้อบังคับข้อที่ 41 ที่ระบุว่าห้ามเสนอญัตติซ้ำในสมัยประชุมนั้น เรื่องนี้ตนต้องขอยืนยันว่า เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่เรามีมติในที่ประชุมไปเป็นเรื่องของการตีความข้อบังคับว่า เสนอชื่อนายกฯ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้อีกหรือไม่ จะเข้าข้อบังคับข้อที่ 41 หรือไม่
แต่ประเด็นที่เราเสนอในวันนี้คือการทบทวน สาระของมันเป็นคนละเรื่อง อย่างไรก็ตาม การเสนอญัตติของพรรคไม่ใช่การเสนอซ้ำอย่างแน่นอน ส่วนประเด็นที่ประธานสภาพยายามอธิบายในห้องประชุมว่าข้อบังคับที่ 151 มีข้อความว่าการตีความนั้นต้องเป็นการตีความที่เด็ดขาด คำว่าเด็ดขาดในที่นี้คือจะมีใครยกเรื่องดังกล่าวขึ้นมาเสนออีกไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะปิดกั้นไม่ให้ที่ประชุมของสภาสามารถทบทวนวินิจฉัยอีกครั้งได้
รังสิมันต์กล่าวต่อว่า เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจที่การประชุมของสภาต้องสิ้นสุดโดยที่ไม่มีข้อยุติอะไรเลย ถ้าประธานสภายอมให้เราพิจารณาเรื่องนี้ คิดว่าใช้เวลา 1 ชั่วโมงก็หาข้อสรุปได้ วันนี้เราทราบมาตั้งแต่ต้นว่ามีความพยายามจะล้มการประชุม ถ้าไม่ได้ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กระตุ้นคงไม่มีการแห่เข้ามาประชุม ซึ่งเรื่องนี้ประชาชนตั้งคำถามได้ว่าประเทศจะได้อะไรกับการทำแบบนี้ เราปิดการประชุมแบบนี้
เมื่อถามว่า ในการประชุมครั้งหน้าพรรคก้าวไกลจะเสนอญัตติดังกล่าวอีกหรือไม่ ชัยธวัชกล่าวว่า พรรคก้าวไกลจะเสนอญัตตินี้อีก เพราะญัตตินี้ยังไม่ได้พิจารณา ยังไม่ถือว่าตกไป ส่วนเรื่องมาตรา 272 ก็ยังต้องเดินหน้าต่อเพราะสำคัญเช่นกัน
สิ่งที่เสนอวันนี้ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อปิดสวิตช์ สว. ไม่ได้ทำเพื่อแคนดิเดตพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง มันมีผลกับทุกแคนดิเดตกับทุกพรรค รวมถึงพรรคเพื่อไทยที่ขณะนี้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอยู่ด้วย จะนำไปซึ่งการปลดล็อกหลายเรื่อง ทำให้ไม่จำเป็นต้องไปพลิกขั้วจัดตั้งรัฐบาลได้ ไม่จำเป็นต้องถูกบีบให้มีส่วนร่วมในการสืบทอดขั้วอำนาจรัฐบาลเดิม