วันนี้ (18 มกราคม) ภคมน หนุนอนันต์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวหารือในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรไปยัง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถึงภาพเด็กนักเรียนที่เกาะพยาม จังหวัดระนอง ช่วยกันต่อแพเพื่อใช้เป็นยานพาหนะในการเดินทางไปโรงเรียน กำลังถูกพูดในสังคมออนไลน์
สำหรับสะพานข้ามคลองที่เกาะพยาม จังหวัดระนอง ปัจจุบันหยุดก่อสร้างและค้างอยู่แบบนี้มาเป็น 10 ปี เหตุเพราะเจ้าของโครงการไม่ได้ดำเนินการขออนุญาตอย่างถูกต้องจากเจ้าของพื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าชายเลนที่ดูแลโดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
“สิ่งที่ดิฉันอยากหารือผ่านท่านประธานไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ปัญหาที่คาราคาซังมานานนับ 10 ปีให้สามารถคลี่คลายได้ และเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาของเด็กในพื้นที่ชนบท โดยขอให้นายกรัฐมนตรีสละเวลาเพียง 10 นาทีในภารกิจ ครม.สัญจร วันที่ 23 มกราคมนี้ ที่ท่านจะไปในพื้นที่จังหวัดระนอง เพื่อเตรียมพิจารณาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ เพิ่มศักยภาพของจังหวัดที่อยู่ริมชายฝั่งอันดามัน พร้อมดูโครงการแลนด์บริดจ์
“ดิฉันขอให้ท่านเพิ่มภารกิจดูสะพานข้ามคลองนี้เข้าไปด้วย เชื่อว่าหากท่านเห็นสภาพความเหลื่อมล้ำนี้กับตา ท่านต้องไม่ดูดายกับกลุ่มคนที่เขารอคอยการพัฒนามานับ 10 ปีแน่นอน” ภคมนกล่าว
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแจงอย่างไร
13 มกราคมที่ผ่านมา กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งชี้แจงว่า กรณีที่นักเรียนต้องเดินลุยน้ำไปเรียน สาเหตุเนื่องจากเจ้าของโครงการไม่ได้ดำเนินการขออนุญาตจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งนั้น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ชี้แจง 3 ข้อดังนี้
- พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตพื้นที่ป่าชายเลนของจังหวัดระนอง อยู่ในเขตป่าชายเลนตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2543 และวันที่ 17 ตุลาคม 2543 และเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเกาะพยาม ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 625 (พ.ศ. 2516) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2516 เนื้อที่ประมาณ 3-0-90.70 ไร่ ซึ่งการเข้าใช้ประโยชน์ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจึงจะสามารถอนุญาตให้เข้าใช้ประโยชน์ได้
- กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มีหนังสือแจ้งตอบไปยังกระทรวงมหาดไทย ตามหนังสือ ที่ ทส 0406/2168 ลว. 22 กันยายน 2563 ว่าไม่ขัดข้องในการเข้าใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณดังกล่าว เนื่องจากมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน การก่อสร้างถนนและสะพานแขวนเชื่อมโยงเส้นทางบริเวณอ่าวเขาควาย ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่น้ำทะเลท่วมไม่ถึง และไม่มีพันธุ์ไม้ป่าชายเลน
ดังนั้น การดำเนินโครงการของจังหวัดระนองน่าจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศป่าชายเลนบริเวณพื้นที่ข้างเคียง จึงเห็นควรสนับสนุนและอนุญาตให้จังหวัดระนองเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลน
- กระทรวงมหาดไทยจะต้องนำความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี เพื่อให้มีมติเห็นชอบการเข้าใช้ประโยชน์ตามโครงการก่อสร้างสะพานดังกล่าว แล้วจึงยื่นขออนุญาตต่อกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งตามขั้นตอน
- กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งไม่ได้นิ่งนอนใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ได้ดำเนินการประสานติดตามไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่คณะรัฐมนตรีโดยเร็วที่สุดเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนต่อไป
ผู้ว่าฯ ระนองแจงอย่างไร
นริศ นิรามัยวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง ชี้แจงว่าปัจจุบันการเดินทางของนักเรียนจะใช้โป๊ะชักรอกข้างในกรณีน้ำขึ้น และในกรณีน้ำลงนักเรียนสามารถเดินทางไป-กลับระหว่างโรงเรียนกับที่พักได้ และได้หารือร่วมกับผู้อำนวยการโรงเรียนและคณะครู
โดยในขณะนี้ทางโรงเรียนได้ดำเนินการขออนุญาตสร้างสะพานทุ่นลอยน้ำข้ามคลองชั่วคราวไปที่องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะพยาม ซึ่งได้ขออนุญาตจากสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาระนอง อยู่ระหว่างการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากแล้วเสร็จจะทำให้นักเรียนสามารถข้ามได้อย่างปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
สำหรับแนวทางการช่วยเหลืออื่นๆ ได้แบ่งออกเป็น 2 ระยะ มาตรการเบื้องต้นจะดำเนินการเร่งขยายขนาดของโป๊ะชั่วคราวให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อความปลอดภัยและสะดวกในการใช้งาน พร้อมจัดเตรียมเรือยางไว้ให้บริการอีกทางหนึ่ง และสร้างสะพานชั่วคราวเพื่อให้นักเรียนและประชาชนในพื้นที่สามารถสัญจรไปมาได้ชั่วคราว
โดยมาตรการในระยะยาวต้องมีการดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย จะมีการขออนุญาตใช้พื้นที่แล้วเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มีการจัดสร้างให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง
มหาดไทยแจงอย่างไร
ไตรศุลี ไตรสรณกุล โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้รับรายงานถึงกรณีที่สื่อสังคมออนไลน์มีการเผยแพร่ภาพและข้อมูลเกี่ยวกับความเดือดร้อนของนักเรียนชาวมอแกน ในการเดินทางไปโรงเรียนบ้านเกาะพยาม จังหวัดระนอง ที่ต้องลุยน้ำข้ามคลอง จึงจะใช้โอกาสที่มีการจัดประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ หรือ ครม.สัญจร ที่จังหวัดระนอง ระหว่างวันที่ 22-23 มกราคมนี้ ไปรับทราบเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ พร้อมนำเรื่องที่เป็นข้อติดขัดเข้าหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในที่ประชุม ครม. เพื่อให้การแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนเกิดขึ้นเร็วที่สุด
สำหรับโครงการก่อสร้างสะพานได้เริ่มขึ้นด้วยงบประมาณตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณปี 2557 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนโดยเฉพาะชาวมอแกนที่อาศัยอยู่บริเวณอ่าวเขาควายที่ไม่สามารถเดินทางไปโรงเรียนและรับบริการสาธารณสุขได้ในช่วงมรสุม โดยหน่วยงานดำเนินการเริ่มแรกนั้นเป็นของอำเภอเมืองระนอง
แต่ต่อมาได้เปลี่ยนไปอยู่ในการดูแลของสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดระนอง เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญในงานโครงสร้างพื้นฐานมากกว่า จากนั้นเอกชนผู้รับจ้างก่อสร้างได้ดำเนินการไปบางส่วนแล้วแต่ต้องหยุดก่อสร้างไป เนื่องจากเกิดกรณีหน่วยปฏิบัติการพิเศษที่ 46 แจ้งความดำเนินคดีบุกรุกป่า ด้วยงานก่อสร้างบางส่วนอยู่ในพื้นที่ป่าชายเลนจังหวัดระนอง
สื่อรายงาน ไม่มีสะพานใช้มาอย่างน้อย 5 ปีแล้ว
สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสรายงานสกู๊ปเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2562 ในหัวข้อ วิถีชีวิตเด็กมอแกนเกาะพยาม อำเภอเมือง จังหวัดระนอง ที่ต้องข้ามทะเลและเดินเท้าไปโรงเรียน ซึ่งอยู่ห่างไปประมาณ 2 กิโลเมตร โดยระบุว่าเด็กนักเรียนเดินทางไปโรงเรียนด้วยการเดินทางข้ามคลองในวันที่น้ำในคลองแห้ง แต่หากวันไหนที่ระดับน้ำขึ้นจะต้องดึงแพในการข้ามคลอง และช่วงเย็นจำเป็นต้องเดินลุยน้ำข้ามคลอง
“การเดินทางของน้องๆ ที่นี่เป็นแบบนี้มาหลายปีแล้ว ทุกครั้งที่พวกเขาข้ามคลอง ชาญวิทย์ (ผู้รายงานสกู๊ปในท้องถิ่น) เล่าว่ามองไปถึงสะพานที่อยู่บริเวณใกล้ๆ คลอง ได้แต่หวังว่าสะพานที่ยังสร้างไม่เสร็จ ก็หวังว่าจะมีผู้ใจดีสร้างสะพานให้น้องๆ สามารถเดินทางไปโรงเรียนได้ง่ายขึ้น” ผู้สื่อข่าวระบุ
อ้างอิง: