×

เปิดสาระสำคัญกฎหมาย 5 ฉบับ-ม.112 ที่ก้าวไกลเสนอแก้

โดย THE STANDARD TEAM
11.02.2021
  • LOADING...
เปิดสาระสำคัญกฎหมาย 5 ฉบับ-ม.112 ที่ก้าวไกลเสนอแก้

เมื่อวานนี้ (10 กุมภาพันธ์) พรรคก้าวไกล ได้ยื่นร่างแก้ไขพระราชบัญญัติเกี่ยวกับกรณีคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน จำนวน 5 ฉบับ โดยหนึ่งในประเด็นสำคัญคือการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาในมาตรา 112 โดยสาระสำคัญของร่างกฎหมายทั้ง 5 ฉบับโดยระบุว่า 

 

1. ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา

มีเนื้อหาแก้ไขเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท เพื่อประกันเสรีภาพในการแสดงออกให้ได้สัดส่วนกับการเคารพในสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น สอดคล้องกับหลักสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หรือกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่ไทยได้เข้าเป็นภาคี โดยมีสาระสำคัญแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ

 

ส่วนแรก เป็นการยกเลิกโทษจำคุก ให้คงเหลือแต่โทษปรับ ในความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นบุคคลทั่วไป (มาตรา 326, 328, 393) ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน (มาตรา 136) และศาลหรือผู้พิพากษา (มาตรา 198) เนื่องจากตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลปัจจุบัน การลงโทษจำคุกในทางอาญา ซึ่งควรนำไปใช้กับการกระทำความผิดที่มีลักษณะร้ายแรงเท่านั้น ถือเป็นมาตรการที่ไม่เหมาะสมสำหรับกรณีหมิ่นประมาท ไม่ได้สัดส่วนระหว่างการประกันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นกับการคุ้มครองชื่อเสียงของบุคคลอื่น ผู้กระทำผิดได้รับโทษรุนแรงกว่าสภาพความผิด  นอกจากนี้การกำหนดบทลงโทษจำคุกในความผิดฐานหมิ่นประมาทยังกระทบต่อเสรีภาพของสื่อมวลชนในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อประชาชน

 

ส่วนที่สอง ย้ายความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามมาตรา 112 ไปกำหนดเป็นลักษณะความผิดใหม่คือ ‘ลักษณะความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์’ เพื่อให้มีความเหมาะสมทั้งในแง่ของโครงสร้างของบทบัญญัติ อัตราโทษ การยกเว้นความผิด การยกเว้นโทษ และผู้ร้องทุกข์ ดังนี้ เพื่อคุ้มครองพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐและของพระราชินี รัชทายาท รวมทั้งเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ให้เหนือกว่าประชาชนทั่วไป จึงกำหนดอัตราโทษให้ยังมีโทษจำคุก แต่ลดอัตราโทษลงมาไม่ให้รุนแรงจนเกินไป ไม่กำหนดโทษขั้นต่ำไว้ รวมทั้งสามารถพิจารณาลงโทษปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ เพื่อให้ได้สัดส่วนกับสภาพความผิด กล่าวคือ ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

นอกจากนี้ยังเสนอให้มีบทยกเว้นความผิดและยกเว้นโทษ โดยบัญญัติให้ผู้ใดติชม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้นั้นไม่มีความผิด และเพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลทั่วไปนำฐานความผิดนี้ไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง กลั่นแกล้งผู้อื่น หรือนำไปใช้โดยไม่สุจริต ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย จึงกำหนดให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์ และกำหนดให้ความผิดในลักษณะนี้เป็นความผิดอันยอมความได้

 

ส่วนที่สาม ย้ายความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายราชาธิบดี ราชินี ราชสามี รัชทายาท ประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ หรือผู้แทนรัฐต่างประเทศซึ่งได้รับแต่งตั้งให้มาสู่ราชสำนัก ตามมาตรา 133 และ 134 ไปกำหนดเป็นลักษณะความผิดใหม่คือ ‘ลักษณะความผิดเกี่ยวกับเกียรติยศของประมุขแห่งรัฐหรือผู้แทนรัฐต่างประเทศ’ เพื่อให้มีความเหมาะสมทั้งในแง่ของโครงสร้างของบทบัญญัติและอัตราโทษ โดยยกเลิกโทษจำคุก คงเหลือแต่โทษปรับ

 

2. ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

เนื่องจาก พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับปัจจุบันมีบทบัญญัติที่สามารถตีความได้กว้างขวาง ไม่ชัดเจน ทำให้มีการนำกฎหมายนี้ไปใช้โดยเบี่ยงเบนไปจากเจตนารมณ์ในการเอาผิดต่ออาชญากรรมบนระบบคอมพิวเตอร์ กลายเป็นเครื่องมือสำหรับจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ จึงแก้ไขเพิ่มเติมฐานความผิดและบทกำหนดโทษให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย

 

จึงเสนอแก้ไขมาตรา 14 กำหนดฐานความผิดให้ชัดเจนขึ้นว่า ‘ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เผยแพร่ หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ทำปลอมขึ้นทั้งหมดหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ’ ต้องระวางโทษจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ และยกเลิกฐานความผิดตามอนุมาตราอื่นในมาตรา 14 เดิมที่ไม่ชัดเจน เช่น ‘ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน’ หรือซ้ำซ้อนกับฐานความผิดในประมวลกฎหมายอาญา เช่น ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย หรือข้อมูลที่มีลักษณะลามก

 

แก้ไขบทกำหนดโทษตามมาตรา 16 วรรค 1 ‘ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย’ โดยยกเลิกโทษจำคุก คงเหลือแต่โทษปรับ

 

แก้ไขมาตรา 20 ให้การพิจารณาสั่งระงับการเผยแพร่หรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบ ตามที่พนักงานเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจหน้าที่ทำการสอบสวนในการกระทำความผิดตามกฎหมายนี้หรือตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาร้องขอนั้น เป็นอำนาจของศาล แต่จะสั่งระงับการเผยแพร่ได้ภายในกรอบเวลาไม่เกิน 365 วัน ซึ่งการพิจารณาคดีควรจะแล้วเสร็จได้ภายในระยะเวลาดังกล่าว หากศาลตัดสินว่าข้อมูลที่ถูกร้องไม่มีความผิดก็กลับมาเผยแพร่ต่อได้ แต่ถ้าศาลตัดสินว่าผิด ก็จะระงับการเผยแพร่และลบข้อมูลนั้นจากระบบได้ต่อไป

 

3. ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และ 4. ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

กฎหมายทั้งสองฉบับนี้เป็นร่างกฎหมายที่ศึกษาและร่างขึ้นโดยสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) เพื่อสร้างกลไกเพื่อคุ้มครองประชาชนจากการถูกฟ้อง ‘คดีปิดปาก’ โดยหน่วยงานรัฐหรือเอกชน เนื่องจากในอดีตประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการเข้าไปมีส่วนร่วมกับประเด็นสาธารณะต่างๆ หรือตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐและเอกชน มักถูกคุกคามหรือปิดกั้นโดยใช้กฎหมาย ซึ่งเรียกว่า ‘การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ’ (SLAPP: Strategic Lawsuit Against Public Participation) การฟ้องคดีลักษณะนี้ไม่ได้มุ่งเอาชนะ แต่มุ่งลดทอนกำลังหรือข่มขู่ให้ผู้ถูกฟ้องยอมยุติบทบาท และแม้ผู้ถูกฟ้องจะต่อสู้จนชนะคดีได้ในที่สุด แต่ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือเผชิญแรงกดดันต่างๆ

 

ด้วยเหตุนี้จึงตรากฎหมายขึ้นเพื่อจัดการกับการฟ้องคดีลักษณะดังกล่าว เพื่อรักษาสมดุลระหว่างการส่งเสริมและปกป้องสิทธิเสรีภาพของบุคคลในการเข้าไปมีส่วนร่วมกับประเด็นสาธารณะกับการคุ้มครองสิทธิของบุคคลหรือองค์กรที่ฟ้องคดีโดยสุจริต โดยให้มีกลไกทางกฎหมายที่ชัดเจน สามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ นิยาม ‘คดีปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ’ เข้าไปในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและความแพ่ง กำหนดกระบวนการให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยสามารถยื่นคำร้องต่ออัยการหรือศาลให้พิจารณาได้ว่าคดีนั้นเป็นคดีปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะหรือไม่ โดยหากพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นคดีปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ ก็ให้อัยการสั่งไม่ฟ้องหรือศาลยกฟ้อง

 

5. ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา

ปัจจุบันประมวลกฎหมายอาญา หมวด 2 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ที่บังคับใช้อยู่ยังไม่ครอบคลุมถึงกรณีที่เจ้าพนักงานในการยุติธรรมใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่ผิดหรือกระทำการบิดเบือนกฎหมายในระหว่างดำเนินการสอบสวน มีความเห็นทางคดี การสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี การไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาคดี เพื่อให้เกิดประโยชน์หรือความเสียหายแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด เช่น กรณีเจ้าพนักงานดำเนินคดีหรือสั่งฟ้องประชาชนในลักษณะยัดข้อหาร้ายแรงเกินกว่าเหตุ เพื่อสร้างความยากลำบากให้แก่ประชาชน หรือก่อให้เกิดความกลัวต่อการใช้เสรีภาพของประชาชน หรือเจ้าพนักงานใช้อำนาจช่วยเหลือผู้ใดผู้หนึ่งให้รอดพ้นจากคดีโดยไม่สุจริต 

 

ดังนั้นเพื่อให้คู่ความหรือผู้มีส่วนได้เสียในคดีได้รับความคุ้มครองในระหว่างการดำเนินคดี จึงเพิ่มเติมความเป็นมาตรา 200/1 ในประมวลกฎหมายอาญา เพื่อกำหนดบทลงโทษแก่เจ้าพนักงานในตำแหน่งอัยการ ผู้ว่าคดี หรือพนักงานสอบสวนที่ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ กระทำการบิดเบือนกฎหมายในระหว่างทำการสอบสวน มีความเห็นทางคดี สั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาคดี เพื่อให้เกิดประโยชน์หรือความเสียหายแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising