วันนี้ (7 กรกฎาคม) พรรคก้าวไกล นำโดย ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล และ รังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคก้าวไกล ร่วมแถลงถึงกรณีรัฐสภาลงมติเห็นชอบสูตรคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อด้วยการหาร 500
ชัยธวัชแสดงความผิดหวังต่อมติรัฐสภาเห็นชอบโหวตสูตรหาร 500 ส.ส. บัญชีรายชื่อ โดยระบุว่า ในญัตติที่ให้เลือกกันระหว่างสูตรหาร 100 กับหาร 500 ซึ่งเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการหาร 500 ทำให้เสียงของพรรคก้าวไกลที่เห็นด้วยกับพรรคอื่นๆ ที่ใช้สูตรหาร 100 ก็แพ้ไป
ซึ่งปัญหาอยู่ที่ว่า พรรคก้าวไกลเห็นและยืนยันมาโดยตลอดว่าการไปแก้ไขระบบการเลือกตั้งผ่านพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ในระบบหาร 100 ตามระบบกรรมาธิการเสียงข้างมากนั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งเจตนาชัดเจนทั้งบัญญัติและการอภิปรายในการพิจารณาว่าต้องการบิดไปใช้ระบบการเลือกตั้งแบบคู่ขนาน ไม่ใช้สัดส่วนผสมอย่างที่พรรคก้าวไกลเคยเสนอ
ดังนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ พรรคก้าวไกลก็เสนอ พ.ร.ป. ฉบับของพรรคเองมาโดยตลอด ยึดความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่เสียใจที่การลงมติของรัฐสภาไม่ได้เป็นการออกแบบระบบเลือกตั้งที่ดีให้แก่ประชาชน แต่เป็นการลงมติเพื่อตอบสนองความต้องการสืบทอดอำนาจของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำไปสู่ระบบการลงมติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และมองว่าเป็นการลงมติที่อัปยศที่สุด
อย่างไรก็ตาม พรรคก้าวไกลยังยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. อย่างที่เกิดขึ้นเมื่อคืนที่ผ่านมา (6 กรกฎาคม) และจะเดินหน้ายับยั้งอย่างถึงที่สุด ทั้งเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจและการตีความการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ส่วนร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. หากผ่านรัฐสภาไป จะต้องผ่านศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
ทั้งนี้ สิ่งที่น่ากังวลมากที่สุดอีกอย่างหนึ่งคือ มีการจงใจที่จะสืบทอดอำนาจโดยไม่สนกระบวนการใดๆ ที่อาจนำไปสู่เดดล็อกทางการเมือง
“สิ่งที่เราเป็นกังวลมากที่สุดคือ หากมีเจตนาจะสืบทอดอำนาจโดยไม่สนใจกระบวนการอะไรเลย การชุลมุนแบบนี้อาจนำไปสู่เดดล็อก ไม่มี พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. แม้มีการยุบสภาก็เท่ากับกติกาเลือกตั้งอยู่ในมือ พล.อ. ประยุทธ์ต่อไปอีก” ชัยธวัชกล่าว
ขณะที่ ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส. พรรคก้าวไกล ระบุว่า พรรคก้าวไกลมองว่าการเลือกตั้งต้องออกแบบอย่างประณีตและเห็นแก่ประชาชน และเสนอโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จึงจะมีความชอบธรรม แต่กระบวนการที่กระท่อนกระแท่นทำให้ไม่มีตัวเลือกมากนักนอกจากเสนอระบบคู่ขนาน และย้ำว่าพรรครู้สึกผิดหวัง เพราะในชั้นกรรมาธิการมีการยืนยันมาตลอดว่าจะใช้สูตรหาร 100 ซึ่งถือว่าเป็นการใช้อำนาจบริหารแทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติ และเชื่อว่าการลงมติเมื่อวานนี้เป็นเพียงแค่ผลประโยชน์ทางการเมืองของกลุ่มอนุรักษ์อำนาจเดิมเท่านั้น ซึ่งก้าวไกลจะรอดูท่าทีในวาระที่ 3
ขณะที่ ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ชี้แจงในฐานะกรรมาธิการฯ เสียงส่วนน้อยผู้แปรญัตติหาร 100 ว่า การแปรญัตติของตนที่ยื่นไป เพราะเห็นว่าร่างฯ ของกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่เป็นร่างที่ไม่รอบคอบ เพราะนำกฎหมายเลือกตั้งปี 2554 มาใช้ผสมกับระบบเลือกตั้งปี 2540 จนอาจเกิดปัญหา ส.ส. ปัดเศษได้
ด้านรังสิมันต์กล่าวว่า การทำหน้าที่ของรัฐสภาและ ส.ว. ไม่ได้มีอิสระในการสืบทอดอำนาจของรัฐบาล และสุดท้ายแล้วประชาชนก็ไม่ได้อยู่ในสมการเหล่านี้เลย
“เราผิดหวังกับสิ่งที่เกิดขึ้นแบบนี้ นี่ไม่ใช่การออกแบบที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง เพราะคิดแค่ใครได้เปรียบเสียเปรียบ แต่ไม่มีประชาชนอยู่ในสมการเลย เรายืนยันว่าจะทำหน้าที่ต่อไปอย่างเต็มที่” รังสิมันต์กล่าว