×

ก้าวไกล แถลงหลังพ่ายมติในสภา ปมแก้ พ.ร.บ.ตำรวจ ชี้ส่อเอื้อให้เกิด ‘ตั๋วช้าง’ ส่งตำรวจบางกลุ่มขึ้นสู่ตำแหน่งซ้ำรอย

โดย THE STANDARD TEAM
05.07.2022
  • LOADING...
พรรคก้าวไกล

วันนี้ (5 กรกฎาคม) ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ วาระ 2 ซึ่งเป็นการประชุมร่วม 2 สภา ณ อาคารรัฐสภา เกียกกาย มาตรา 169/1 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่กรรมาธิการ (กมธ.) เพิ่มขึ้นใหม่ ให้สอดคล้องกับมาตรา 69 ว่าด้วยหลักเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจตามหลักเกณฑ์กำหนด โดยได้กำหนดห้วงระยะเวลาการบังคับใช้หลักเกณฑ์การแต่งตั้งภายในระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่ที่ พ.ร.บ. ใช้บังคับการคัดเลือก หรือแต่งตั้งข้าราชการเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นให้คำนึงถึงระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 

 

อย่างไรก็ตาม สัปดาห์ที่ผ่านมา พล.ต.อ. ปิยะ อุทาโย กมธ. จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ได้เสนอให้มีการแก้ไขในมาตราดังกล่าว โดยใช้ถ้อยคำว่า ‘ในวาระเริ่มแรกภายใน 180 วัน นับตั้งแต่วันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับการคัดเลือกหรือการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่ง ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ ในกรณีที่ไม่อาจนำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขมาใช้บังคับได้ตามวรรคหนึ่ง ก็จะดำเนินการประการใดให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) กำหนด ซึ่งต้องไม่ขัดหรือแย้งกับ พ.ร.บ. นี้’ จึงทำให้เกิดข้อถกเถียงว่า การเสนอให้แก้ไขมาตราดังกล่าวไม่สามารถทำได้ เนื่องจาก พล.ต.อ. ปิยะ ไม่ได้สงวนคำแปรญัตติไว้ และเป็นการเพิ่มมาตราขึ้นมาใหม่ ทำให้มีข้อเสนอให้ถอนร่าง พ.ร.บ. กลับไปพิจารณาก่อนจะเสนอใหม่ ต่อมา พรเพชร วิชิตชลชัย ที่ทำหน้าที่ประธานสภาในขณะนั้น ตัดสินใจพักการประชุม เมื่อกลับเข้าสู่การพิจารณาอีกครั้งยังตกลงกันไม่ได้จึงสั่งปิดสภาไปก่อน จนกลายเป็นข้อถกเถียงอีกครั้งในสัปดาห์นี้ กระทั่ง ชวน หลีกภัย ซึ่งทำหน้าที่ประธานสภา วินิจฉัยให้มีการพิจารณาต่อไปได้

 

รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า มาตรา 169/1 มีเนื้อหาเกี่ยวกับการโยกย้ายข้าราชการตำรวจที่ถูกแก้ไขเพิ่มเติมมาใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ สาระสำคัญคือ การกำหนดระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งต่างๆ ต้องไม่น้อยกว่ากี่ปีจึงจะเลื่อนตำแหน่งได้ ซึ่ง กมธ. รวมถึง ตร. ต่างทราบเกณฑ์การโยกย้ายตำแหน่งแบบนี้ดีว่ามีลักษณะประมาณใด โดยมาตรา 69 ที่พิจารณาผ่านกันไปได้กำหนดปีเอาไว้ชัดเจน อย่างน้อยที่สุดจะป้องกันคนที่ได้รับ ‘ตั๋วช้าง’ เข้าสู่ตำแหน่งได้ด้วย

 

“แต่เมื่อเราพิจารณากันมาถึงตรงนี้ อยู่ๆ กมธ. ก็มาเสนอเปลี่ยนกรอบระยะเวลาบังคับใช้จาก 5 ปี เป็น 180 วัน ซึ่งการเสนอแบบนี้เป็นความเห็นที่ผิด หากเรายืนยันต่อไปนี้ กฎหมายทุกฉบับจะสามารถเปลี่ยนหน้างานได้ ทั้งที่ความเป็นจริงมาตรา 169/1 ควรจะตัดทิ้งด้วยซ้ำ” รังสิมันต์กล่าว

 

รังสิมันต์กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่เกิดขึ้นและทำให้เรามาสู่จุดนี้มีอยู่  2 ส่วน ส่วนแรกคือ มาตรา 69 มีการเขียนล็อกปีของการดำรงตำแหน่งชัดเจน คนที่จะเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) จะต้องเป็นผู้ช่วย ผบ.ตร. มาแล้ว 1 ปี คนที่จะเป็นผู้ช่วย ผบ.ตร. จะต้องเป็นผู้บัญชาการมาแล้ว 1 ปี แต่สิ่งที่ต่างจากกฎ ก.ตร. เดิมคือ การเขียนให้ ก.ตร. ยกเว้นหลักเกณฑ์ตรงนี้ได้ รวมถึงในส่วนที่สอง คนที่จะขึ้นเป็นผู้ช่วย ผบ.ตร. และ รอง ผบ.ตร. จะต้องมีอาวุโส 100% หมายถึงตำแหน่งว่างเท่าไร ก็เอาจากอันดับอาวุโสที่สูงที่สุดเท่านั้น หมายความว่าจะไม่มีกรณีลำดับข้างหลังขึ้นมาก่อนหรือการข้ามหัวคนอื่นเกิดขึ้น 

 

“สองสิ่งนี้เป็นสิ่งที่มีปัญหามาตลอดและนำไปสู่การมี ‘ตั๋วช้าง’ และตั๋วตำรวจต่างๆ มากมาย ซึ่งผมเคยได้อภิปรายไปแล้วว่ามีตำรวจจำนวนมากมายได้รับตั๋ว และบางคนได้รับตั๋วช้าง สิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบกับคนที่ถูกข้ามหัว ทำให้คุณธรรมของตำรวจทลายลง โดยไม่ได้กระทบแค่กับตำรวจที่อยู่ในตำแหน่งเท่านั้น แต่กระทบต่อครอบครัวของเขา ลูกของเขา ซึ่งมันอาจจะเกี่ยวพันกับคนนับล้าน

 

“ปัจจุบันคนที่จะขึ้นเป็นรอง ผบ.ตร. ได้ตามลำดับอาวุโส เราเห็นกันอยู่แล้วว่าจะเป็นใคร แต่ผมได้ยินมาว่าลำดับท้ายๆ กำลังจะได้รับสิทธิในการข้ามหัวคนอื่นๆ ขึ้นมาเป็นรอง ผบ.ตร. แล้วปีถัดไปก็จะเป็น ผบ.ตร. พูดกันตรงๆ พูดกันตามจริง ท่านกรรมาธิการที่มาจาก ตร. กำลังใช้โอกาสนี้ในการช่วยเหลือตำรวจบางคน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น ผมจึงขอเรียกร้องคุณธรรมความดีที่มีอยู่ในตัวพวกเราในสภาแห่งนี้ เราต้องหยุดยั้งระบบแบบนี้ เราจะปล่อยให้ระบบตั๋วตำรวจเกิดขึ้นอีกต่อไปไม่ได้”

 

ในเวลาต่อมาสภาร่วมได้ลงมติเห็นด้วยกับ กมธ. เสียงข้างมากที่ได้แก้ไขมาตรา 169/1 ด้วยคะแนน 344 เสียง ต่อ 181 เสียง งดออกเสียง 50 เสียง ไม่ลงคะแนน 1  เสียง 

 

ทำให้ พ.ต.ต. ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะ กมธ. เสียงข้างน้อย ออกมาแถลงต่อสื่อมวลชนว่า 

 

ตนเป็นคนหนึ่งที่พยายามจะปรับปรุงกฎหมายตำรวจให้ดีขึ้นเหมือนประเทศที่เจริญแล้ว จึงมีการสงวนความเห็นไว้ในหลายมาตรา แตกต่างกับร่างที่รัฐบาลเสนอมาในทุกมิติ และสอดคล้องกับร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ที่ตนกำลังผลักดัน ไม่ว่าในมิติโครงสร้างองค์กร จะต้องเป็นองค์กรสมัยใหม่และมีความยึดโยงกับประชาชนผ่านโครงสร้าง ก.ตร. มีการกระจายอำนาจให้องค์กรตำรวจขึ้นกับพื้นที่มากขึ้น ในมิติการบริหารงานบุคคลต้องไม่มีการดำเนินคดีวินัยด้วยการลงโทษที่ป่าเถื่อนโหดร้าย เพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรตำรวจมุ่งรับใช้นายไม่ใช่ประชาชน สิ่งเหล่านี้สามารถเปลี่ยนได้ทันทีหากสภาโหวตตามความเห็นที่ตนสงวนไว้ และเสนอต่อสภาในแต่ละมาตรา 

 

“เรื่องง่ายๆ อย่างเรื่องทรงผม ทำไมต้องขาวสามด้าน ผมพยายามจะทวงคืนทรงผมตำรวจกลับมา แต่ก็ไม่สำเร็จ อย่างไรก็ตาม อีกไม่กี่เดือนจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ผมก็จะไม่หยุดความพยายามจะเปลี่ยนแปลงองค์กรตำรวจ ถึงกฎหมายฉบับนี้จะผ่านและบังคับใช้ก็ตาม แต่ผมยืนยันว่าข้อเสนอปฏิรูปองค์กรตำรวจที่จะผลักดันผ่านพรรคก้าวไกลดีกว่ามาก ซึ่งข้อเสนอเพื่อปฏิรูปตำรวจของผมจะเป็นหนึ่งในเรื่องที่ใช้หาเสียงในการเลือกตั้งครั้งหน้า และจะเป็นหนึ่งในข้อเสนอในการร่วมรัฐบาล ฝากถึงพี่น้องประชาชนและพี่น้องตำรวจทั่วประเทศว่า ครั้งนี้ผิดหวังไม่เป็นไร ครั้งหน้าขอเสียงในสภามากกว่านี้ เพื่อขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงในระดับสภาให้ได้” พ.ต.ต. ชวลิตกล่าว

 

เช่นเดียวกับ พล.ต.ต. สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล หลังทราบผลการลงมติจึงได้ลุกขึ้นอภิปรายกลางสภาว่า มีเพื่อนตำรวจฝากบอกสภาแห่งนี้มาว่า “คนสนับสนุนตั๋วช้างไม่อายตำรวจทั่วประเทศหรืออย่างไร เอาใจคนไม่กี่คน แต่ตำรวจทั้งประเทศเสียขวัญ ทำไมใช้ตำรวจเหมือนทาส แต่เวลาที่สามารถให้ความเป็นธรรมตำรวจได้ ไม่ทำ ที่ผ่านมาย่ำยีตำรวจไม่พออีกหรือ”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X