×

สรุปสถานการณ์จีน-ไต้หวัน ตึงเครียดหนักสุดในรอบ 40 ปี ชนวนเหตุจากอะไร? โอกาสลุกลามสู่สงครามมีแค่ไหน?

11.10.2021
  • LOADING...
จีน ไต้หวัน

– สถานการณ์ระหว่างจีนและไต้หวันเข้าสู่จุดตึงเครียดอย่างหนักในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่กองทัพจีนเพิ่มการส่งอากาศยานบินรุกล้ำน่านฟ้าไต้หวันอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนกันยายนและตุลาคม ซึ่งส่งผลให้นานาชาติต้องจับตามองว่าเหตุการณ์อาจลุกลามบานปลาย โดยรัฐบาลและผู้นำจีนไม่มีท่าทีหวั่นเกรง พร้อมยืนยันภารกิจรวมชาติกับไต้หวันให้สำเร็จ ขณะที่ผู้นำไต้หวันก็ประกาศจุดยืนที่แน่ชัดว่าจะ ‘ไม่ก้มหัวให้จีน’

 

– ความเคลื่อนไหวจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่มองไต้หวันซึ่งมีประชากร 24 ล้านคน เป็นมณฑลหนึ่งของจีน และยืนหยัดในนโยบายจีนเดียว ปรากฏชัดขึ้นในเดือนกันยายนที่ผ่านมา หลังกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนเพิ่มการส่งอากาศยานรุกล้ำเข้าไปยังเขตป้องกันทางอากาศของไต้หวันเป็นระยะๆ ดังนี้

 

  • 6 กันยายน – เครื่องบินรบ และเครื่องบินทิ้งระเบิด 19 ลำ
  • 17 กันยายน – เครื่องบินรบ เครื่องบินต่อต้านเรือดำน้ำ และเครื่องบินลาดตระเวน 10 ลำ
  • 23 กันยายน – เครื่องบินรบ เครื่องบินต่อต้านเรือดำน้ำ และเครื่องบินทิ้งระเบิด 19 ลำ

 

– แต่การรุกล้ำน่านฟ้าไต้หวันครั้งใหญ่สุดเท่าที่เคยมีมา เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 1-4 ตุลาคม โดยอากาศยานของกองทัพจีนรวม 149 ลำ บินเข้าสู่น่านฟ้าไต้หวันต่อเนื่องตลอดทั้ง 4 วัน ในจำนวนนี้มีเครื่องบินรบ 38 ลำ และเครื่องบินทิ้งระเบิดที่มีศักยภาพติดหัวรบนิวเคลียร์อีก 12 ลำรวมอยู่ด้วย ซึ่งในวันที่ 4 ตุลาคมเพียงวันเดียว มีเครื่องบินทหารของจีนรุกล้ำเข้าสู่น่านฟ้าแถบชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของไต้หวันถึง 56 ลำ 

 

–  ชิวกั๋วเจิ้ง (Chiu Kuo-cheng) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมไต้หวัน กล่าวถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ระหว่างเสนอแผนเพิ่มงบประมาณป้องกันทางทหารกว่า 8.6 พันล้านดอลลาร์ต่อคณะกรรมการสภาผู้แทนราษฎร โดยชี้ว่าสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่อยู่ในจุดเลวร้ายที่สุดในรอบมากกว่า 40 ปี 

 

– โดยชิวยังเผยรายงานภายในฉบับใหม่ เตือนว่ากองทัพจีนอาจมีศักยภาพมากพอที่จะปิดช่องแคบไต้หวันได้อย่างเร็วในปี 2025 ซึ่งอาจส่งผลเป็นภัยคุกคามและความท้าทายที่ร้ายแรงต่อไต้หวัน 

 

– ซึ่งข้อมูลในรายงานยังระบุว่า เมื่อปีที่แล้วจีนส่งเครื่องบินกองทัพรุกล้ำน่านฟ้าไต้หวันรวมถึง 380 ลำ และในปีนี้มีการรุกล้ำน่านฟ้าไต้หวันแล้วมากกว่า 600 ครั้ง 

 

– ด้านสภากิจการแผ่นดินใหญ่ (Mainland Affairs Council: MAC) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลนโยบายเกี่ยวกับจีนของไต้หวัน กล่าวหารัฐบาลปักกิ่งว่า “กำลังทำลายสถานภาพแห่งสันติและความมั่นคงในช่องแคบไต้หวันอย่างร้ายแรง”

 

– ทางด้านประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน กล่าวในงานรำลึกครบรอบ 110 ปี การปฏิวัติซินไฮ่ ซึ่งเป็นการสิ้นสุดการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของจีน โดยยืนยันว่าการรวมชาติระหว่างจีนกับไต้หวันนั้นจะต้องสำเร็จ ซึ่งเขามองว่าควรเป็นไปอย่างสันติ เนื่องจากสอดคล้องต่อผลประโยชน์ของทั้งจีนและไต้หวัน แต่เตือนว่าชาวจีนนั้นมี ‘ประเพณีที่รุ่งโรจน์’ ในการต่อต้านการแบ่งแยกดินแดน และไม่ควรมีใครประมาทความมุ่งมั่นและความสามารถในการปกป้องอธิปไตยของชาวจีน

 

“หน้าที่ครั้งประวัติศาสตร์ในการรวมชาติอย่างสมบูรณ์ของมาตุภูมิจะต้องสำเร็จ และจะสำเร็จอย่างแน่นอน” สีกล่าว

 

– ขณะที่ ไช่อิงเหวิน ประธานาธิบดีหญิงของไต้หวัน ที่มีจุดยืนชัดเจนในการต่อต้านการครอบงำจากจีน กล่าวสุนทรพจน์ในงานฉลองวันชาติเมื่อวานนี้ (10 ตุลาคม) ซึ่งมีการนำอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพไต้หวันที่หาดูยากมาแสดงแสนยานุภาพ โดยเธอประกาศอย่างหนักแน่นว่า ‘ไต้หวันจะไม่ยอมก้มหัวให้กับการกดดันจากจีน’ และ ‘จะปกป้องวิถีชีวิตในระบอบประชาธิปไตยของตนเอง’ แต่ยืนยันว่าจะไม่ดำเนินการอย่างบุ่มบ่าม และจะเสริมการป้องกันของไต้หวันให้แข็งแกร่ง เพื่อให้แน่ใจว่า ‘ไม่มีใครสามารถบีบบังคับไต้หวันให้เดินไปตามเส้นทางที่จีนนั้นวางไว้’

 

“เส้นทางนั้นไม่ได้เสนอวิถีชีวิตที่เสรีและเป็นประชาธิปไตยสำหรับไต้หวัน หรือแม้แต่อธิปไตยให้กับประชาชนไต้หวัน 23 ล้านคน ยิ่งเราประสบความสำเร็จมากเท่าไร ความกดดันที่เราเผชิญจากจีนก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น” ไช่กล่าว 

 

– ประธานาธิบดีไช่ยังกล่าวถึงการส่งเครื่องบินกองทัพรุกล้ำน่านฟ้าของจีน ว่าก่อให้เกิดผลกระทบที่ร้ายแรงต่อความมั่นคงของชาติ และความปลอดภัยทางการบินของไต้หวัน พร้อมทั้งชี้ว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่ตอนนี้ซับซ้อนมากกว่าครั้งใดในรอบ 72 ปีที่ผ่านมา

 

– ซึ่งในวันเดียวกันนี้ กองทัพจีนยังได้ส่งเครื่องบินรบอีก 2 ลำ และเครื่องบินต่อต้านเรือดำน้ำอีก 1 ลำ รุกล้ำน่านฟ้าไต้หวัน ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 6 ในเดือนนี้

 

– อย่างไรก็ตาม สำนักกิจการไต้หวันของจีนประณามถ้อยแถลงของผู้นำหญิงไต้หวัน ที่จะไม่ยอมก้มหัวให้จีน ว่าเป็น ‘การปลุกปั่นให้เกิดการเผชิญหน้า’ และ ‘บิดเบือนข้อเท็จจริง’ โดยย้ำว่าการแสวงหาเอกราชของไต้หวันนั้นเป็นการปิดประตูการพูดคุยระหว่าง 2 ฝ่าย

 

– ทั้งนี้ ไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่แยกจากกันในปี 1949 ท่ามกลางสถานการณ์สงครามกลางเมือง จากการสู้รบกันระหว่างพรรคก๊กมินตั๋ง นำโดยเจียงไคเชก ที่ปกครองสาธารณรัฐจีนในขณะนั้น กับพรรคคอมมิวนิสต์จีนของเหมาเจ๋อตุง ซึ่งพรรคก๊กมินตั๋งเป็นฝ่ายแพ้ ทำให้เจียงและสมาชิกพรรคต้องหนีไปยังไต้หวัน ส่วนพรรคคอมมิวนิสต์ได้ขึ้นปกครองจีนจนถึงปัจจุบัน

 

– ที่ผ่านมารัฐบาลปักกิ่งเน้นย้ำมาโดยตลอดว่า จะต้องมีวันที่จีนรวมไต้หวันกลับคืนสู่ประเทศตามหลักนโยบาย ‘จีนเดียว’ และหากจำเป็น อาจต้องมีการใช้กำลังทหาร 

 

– ขณะที่จีนพยายามเสนอแนวคิด 1 ประเทศ 2 ระบบ เพื่อรวมไต้หวันกลับคืนอย่างสันติในฐานะเขตปกครองตนเอง แต่ไต้หวันปฏิเสธ แม้จะยอมผ่อนคลายให้มีการเดินทางและการลงทุนระหว่างประชาชนของทั้ง 2 ฝ่าย ตั้งแต่ปี 1991 

 

– ปัจจุบันสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างไต้หวันและจีนยังเป็นไปอย่างซับซ้อน แต่ก็ไม่ลุกลามไปถึงขั้นสู้รบหรือก่อสงคราม โดยไต้หวันเอง แม้จะมีเพียงไม่กี่ประเทศที่ให้การยอมรับ แต่ก็มีความสัมพันธ์อันดีกับหลายชาติตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ขายอาวุธให้แก่ไต้หวัน และมีการผ่านกฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน (Taiwan Relations Act) เพื่อสนับสนุนการป้องกันตนเองของไต้หวัน

 

– สำหรับกรณีความตึงเครียดระหว่างจีนและไต้หวันในครั้งนี้เป็นที่จับตามองจากทั่วโลก โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ เผยเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ว่าได้ต่อสายตรงคุยกับประธานาธิบดีสีจิ้นผิงแล้วเกี่ยวกับกรณีไต้หวัน และทั้ง 2 ฝ่ายยืนยันว่าจะเคารพในข้อตกลงไต้หวัน 

 

– การพูดคุยที่ไบเดนกล่าวนั้น คาดว่าหมายถึงการต่อสายตรงคุยกับผู้นำจีนนาน 90 นาที เมื่อวันที่ 9 กันยายน ซึ่งคาดว่าการเคารพข้อตกลงไต้หวันที่ระบุ หมายถึงการเคารพในนโยบายจีนเดียวของจีน โดยสื่อต่างประเทศหลายสำนักมองว่า นี่เป็นการแสดงท่าทีของรัฐบาลวอชิงตัน ที่ยังเลือกรักษาสัมพันธ์กับจีนมากกว่าไต้หวัน 

 

ภาพ: Photo by Ceng Shou Yi/NurPhoto via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising