×

ถอดบทเรียน Mountain B ไฟไหม้ผับคร่าชีวิตผู้คน เปิดกฎหมายเทียบเคส ซานติก้าผับ ปี 2552

05.08.2022
  • LOADING...
Mountain B

วันนี้ (5 สิงหาคม) เกิดเหตุไหม้สถานบันเทิงผับ Mountain B ซอยเขาหมอน ตำบลพลูตาหลวง อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ในช่วงกลางดึกที่ผ่านมา มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ทำให้เหตุการณ์นี้ถูกยกเทียบเคียงกับโศกนาฏกรรม ‘ซานติก้าผับ’ ในค่ำคืนวันขึ้นปีใหม่ เมื่อปี 2552 ในทันที เหตุการณ์ในครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตกว่า 66 คน รวมถึงบาดเจ็บอีกจำนวนมาก ได้สร้างความอกสั่นขวัญแขวนแก่ทุกคน

 

วิศวกรรมสถาน ชี้ชนวนเหตุไฟลุกลาม มาจากวัสดุโครงสร้างที่ติดไฟง่าย

 

บุษกร แสนสุข ประธานคณะกรรมการสาขาวิศวกรรมป้องกันอัคคีภัย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) กล่าวถึงปัญหาทางโครงสร้างของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กับ THE STANDARD ว่า โครงสร้างของสถานบันเทิงดังกล่าวเป็นเรื่องของวัสดุก่อสร้าง และสภาพอาคาร จากการได้เห็นจากข่าวพบว่าเป็นวัสดุติดไฟที่ร่วงลงมาได้อย่างรวดเร็ว 

 

บุษกรกล่าวว่า ต้องยอมรับว่าโครงสร้างของผับ Mountain B เป็นวัสดุไม้บอบบาง ส่วนการตกแต่งจะประดับด้วยวัสดุที่ไม่มั่นคงถาวร เช่น พาสติก ไฟเบอร์กลาส และโฟม เป็นต้น เมื่อไฟติดขึ้นจะทำให้มีปริมาณควันไฟจำนวนมาก และทำให้เกิดการลุกลามอย่างเร็ว เพราะมีพลังงานความร้อนสูงเกิดขึ้น ในกรณีนี้เกิดขึ้นจากวัสดุที่ติดไฟและลุกลามอย่างรวดเร็ว เพราะวัสดุที่ใช้ในการตกแต่งภายใน 

 

บุษกรกล่าวต่อไปว่า การใช้วัสดุตกแต่งจะต้องคำนึงถึงการป้องการไฟลาม เช่น วัสดุที่มีการหน่วงการติดไฟได้ หรือมีวัสดุที่อื่นที่ไปปิดทับผิวให้มีการป้องกันไม่ให้ความร้อนและควันไฟเข้าถึง ดังนั้นต้องใช้วัสดุที่มีคุณสมบัติติดไฟยาก และลามไฟช้า แม้ว่าจะมีต้นทุนราคาค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น แต่เป็นเรื่องของความปลอดภัย

 

ส่วนมาตรการที่จะควบคุมสถานบันเทิงไม่ให้เกิดเหตุการณ์ขึ้น บุษกรกล่าวว่า สถานบันเทิงต้องออกแบบโครงสร้างตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงต้องมีความชัดเจนทางด้านความปลอดภัย ทั้งการหนีไฟ และการระบายควันไฟ 

 

จาก ‘ซานติก้า’ ถึง ‘Mountain B’ กางข้อกฎหมายเทียบขั้นตอนปฏิบัติ

 

บุษกรจึงถอดบทเรียนของการเกิดไฟไหม้ครั้งนี้ว่า สามารถย้อนกลับไปดูกฎหมายทางด้านความปลอดภัยของสถานบริการที่ถูกปรับปรุงภายหลังจากเกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรมของซานติก้าผับ ได้มีกฎหมายออกมาว่า ต้องบริหารจัดการอย่างไรให้ระบายคนออกได้เร็ว รวมถึงต้องรักษาโครงสร้างอาคารไม่ให้ถล่มลงมา โครงสร้างของอาคารทางออกหนีไฟต่างๆ ตามกฎหมายอาคารทั่วไป จะต้องนับจำนวนผู้ใช้บริการมีเท่าใด ต้องจัดการให้มีทางออกกี่ทาง อยู่กี่ด้าน ด้านไหน อย่างไร ให้สามารถระบายคนออกได้ เป็นจุดเด่นของอาคารสถานบริการ 

 

บุษกรยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า หากมี 2 ทาง ต้องกระจายทางออกโดยการวัดเป็นเส้นทแยงมุม เช่น เส้นทแยงมุมวัดได้ 30 เมตร ทางออกหนีไฟต้องห่างจากกันไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของเส้นทแยงมุม หรือห่างกัน 15 เมตร 

 

ส่วนมาตรการที่จัดควบคุมเหตุการณ์ไม่ให้เกิดขึ้น คือ สถานบันเทิงต้องออกแบบตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงต้องมีความชัดเจนทางด้านความปลอดภัย ทั้งการหนีไฟ และการระบายควันไฟ 

 

เปิดข้อกฎหมายใช้ควบคุมสถานบันเทิง

 

THE STANDARD ได้เปิดกฎกระทรวงข้อกำหนดประเภทและระบบความปลอดภัยของอาคารที่ใช้เพื่อประกอบกิจการเป็นสถานบริการ พ.ศ. 2555 ลงนามโดย ยงยุทธ วิชัยดิษฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น ณ วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2555 ได้กำหนดไว้ว่า ‘สถานบริการ’ หมายความว่า อาคารหรือส่วนใดของอาคารที่ใช้ประกอบกิจการเป็นสถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ

 

ในกฎกระทรวงนี้ถูกกำหนดไว้ว่า สถานบริการแบ่งออกตามขนาดพื้นที่บริการเป็น 6 ประเภท แต่ละประเภทถูกกำหนดสถานอาคารและพื้นที่การบริการอย่างชัดเจน 

 

  1. สถานบริการประเภท ก หมายความถึง สถานบริการที่เป็นอาคารเดี่ยว หรือที่ตั้งอยู่ในอาคารที่ประกอบกิจการหลายประเภทรวมกัน ซึ่งจัดพื้นที่บริการน้อยกว่า 200 ตารางเมตร
  2. สถานบริการประเภท ข หมายความถึง สถานบริการที่เป็นอาคารเดี่ยว ซึ่งจัดพื้นที่บริการตั้งแต่ 200 ตารางเมตร แต่ไม่ถึง 500 ตารางเมตร
  3. สถานบริการประเภท ค หมายความถึง สถานบริการที่เป็นอาคารเดี่ยว ซึ่งจัดพื้นที่บริการตั้งแต่ 500 ตารางเมตรขึ้นไป
  4. สถานบริการประเภท ง หมายความถึง สถานบริการที่ตั้งอยู่ในอาคารที่ประกอบกิจการหลายประเภทรวมกัน ซึ่งจัดพื้นที่บริการตั้งแต่ 200 ตารางเมตร แต่ไม่ถึง 500 ตารางเมตร
  5. สถานบริการประเภท จ หมายความถึง สถานบริการที่ตั้งอยู่ในอาคารที่ประกอบกิจการหลายประเภทรวมกัน ซึ่งจัดพื้นที่บริการตั้งแต่ 500 ตารางเมตรขึ้นไป
  6. สถานบริการประเภท ฉ หมายความถึง สถานบริการที่เป็นอาคารชั้นเดียว และไม่มีผนังภายนอกหรือมีผนังภายนอกซึ่งมีความยาวรวมกันน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของความยาวเส้นรอบรูปภายนอกของพื้นที่อาคารที่อยู่ภายใต้หลังคาคลุม ซึ่งจัดพื้นที่บริการตั้งแต่ 200 ตารางเมตรขึ้นไป

 

ส่วนแผนผังบริเวณ แบบแปลน และรายการคำนวณ ประกอบการขออนุญาตก่อสร้างใช้อาคารสถานบริการ ต้องเป็นสิ่งพิมพ์ สำเนาภาพถ่าย หรือเขียนด้วยหมึก และต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข เช่น มาตราส่วน ขนาด ระยะ น้ำหนัก หน่วยการคำนวณต่างๆ

 

ขณะเดียวกัน สถานบริการต้องจัดให้มีการติดตั้งแบบแปลนแผนผังของอาคาร ซึ่งแสดงตำแหน่งที่ติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิงต่างๆ ทางหนีไฟ ทางออก และประตูทางออก โดยแบบแปลนแผนผังดังกล่าวให้ติดไว้ในตำแหน่งที่ชัดเจน อย่างน้อยบริเวณโถงบันไดหรือโถงลิฟต์ทุกแห่ง ทุกชั้น และบริเวณทางเข้า-ออกหลักของสถานบริการ

 

ส่วนวัสดุของอาคาร โครงสร้างหลัก และโครงหลังคา ให้ก่อสร้างด้วยวัสดุที่มีลักษณะและคุณสมบัติ หรือมีอัตราการทนไฟตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2527) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 

 

ผนังที่กั้นระหว่างสถานบริการต้องเป็นผนังทนไฟที่มีอัตราการทนไฟไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง ห้องครัวของสถานบริการที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มจะต้องกั้นแยกออกจากส่วนอื่นๆ ของอาคารด้วยผนังทนไฟที่มีอัตราการทนไฟไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง หรือแยกห่างออกไปจากอาคารไม่น้อยกว่า 10.00 เมตร

 

ช่องเปิดที่ผนังทนไฟจะต้องป้องกันด้วยชุดประตูหรือชุดหน้าต่าง และอุปกรณ์หรือวัสดุอุดทนไฟที่ได้รับการรับรองและผ่านการทดสอบจากสถาบันทดสอบ โดยวิธีการทดสอบให้เป็นไปตามมาตรฐานว่าด้วยการทดสอบการทนไฟของชิ้นส่วนและส่วนประกอบของอาคารของกรมโยธาธิการและผังเมือง หรือมาตรฐานอื่นที่คณะกรรมการควบคุมอาคารให้การรับรอง

 

วัสดุตกแต่งผิวผนังและฝ้าเพดานที่ใช้ภายในสถานบริการจะต้องเป็นวัสดุที่ติดไฟหรือลุกไหม้ที่มีอุณหภูมิไม่น้อยกว่า 750 องศาเซลเซียสขึ้นไป หรือเป็นวัสดุที่มีดัชนีการลามไฟไม่เกิน 75 และดัชนีการกระจายควันไม่เกิน 450 

 

การใช้วัสดุตกแต่งอื่น ให้มีพื้นที่ในการติดตั้งได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของพื้นที่ผิวผนังและพื้นที่ฝ้าเพดานนั้น หากใช้วัสดุที่ติดไฟง่าย หรือลามไฟเร็ว ซึ่งได้แก่วัสดุที่มีส่วนผสมของปิโตรเลียม พลาสติกประเภทโฟม เยื่อกระดาษ หรือเยื่อที่ผลิตจากเซลลูโลส วัสดุดังกล่าวจะต้องมีดัชนีการลามไฟไม่เกิน 75

 

ประเภทของวัสดุตกแต่ง การทดสอบค่าคุณสมบัติการติดไฟหรือลุกไหม้ ดัชนีการลามไฟ และดัชนีการกระจายควันในวรรค 1 และ 2 ให้เป็นไปตามมาตรฐานว่าด้วยวัสดุและการทดสอบของกรมโยธาธิการและผังเมือง หรือมาตรฐานอื่นที่คณะกรรมการควบคุมอาคารให้การรับรอง

 

ขณะที่ทางออก ประตูทางออก ทางหนีไฟ บันไดหนีไฟ และประตูหนีไฟ จำนวนทางออกและประตูทางออกในสถานบริการต้องสอดคล้องกับจำนวนคนสูงสุดที่อยู่ในพื้นที่สถานบริการนั้น โดยสถานบริการจะต้องมีจำนวนทางออกและประตูทางออกไปสู่ทางหนีไฟหรือออกสู่ภายนอกอาคาร ดังนี้ 

 

  • จำนวนไม่เกิน 50 คน ทางออกและประตูทางออกไม่น้อยกว่า 1 แห่ง
  • จำนวนตั้งแต่ 51-200 คน ทางออกและประตูทางออกไม่น้อยกว่า 2 แห่ง
  • จำนวนตั้งแต่ 201-400 คน ทางออกและประตูทางออกไม่น้อยกว่า 3 แห่ง
  • จำนวนตั้งแต่ 401-700 คน ทางออกและประตูทางออกไม่น้อยกว่า 5 แห่ง
  • จำนวนตั้งแต่ 701-1,000 คน ทางออกและประตูทางออกไม่น้อยกว่า 6 แห่ง
  • จำนวนตั้งแต่ 1,001 คนขึ้นไป ทางออกและประตูทางออกไม่น้อยกว่า 6 แห่ง

 

อัตราส่วนพื้นที่ต่อคนในแต่ละประเภทกิจการการใช้อาคาร

 

  • พื้นที่จัดคอนเสิร์ตแบบยืน พื้นที่รอเข้าใช้บริการ 0.45 ตารางเมตรต่อคน (ตร.ม./คน) 
  • พื้นที่ที่ใช้ในการเต้นรำ รำวง 0.65 ตร.ม./คน
  • ไนต์คลับ บาร์ 1.0 ตร.ม./คน
  • ภัตตาคาร ห้องอาหาร ห้องจัดเลี้ยง หรือพื้นที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม 1.5 ตร.ม./คน
  • เวทีและลานแสดง 1.5 ตร.ม./คน
  • สำนักงาน 10 ตร.ม./คน
  • ห้องครัว 10 ตร.ม./คน
  • สถานอาบน้ำ นวด หรืออบตัว 2 คนต่อจำนวนห้อง หรือเตียงที่ให้บริการ

 

ทั้งนี้ เส้นทางหนีไฟต้องมีความกว้างอย่างเพียงพอ และสอดคล้องกับจำนวนคนสูงสุด โดยขนาดความกว้างของเส้นทางหนีไฟดังกล่าวจะต้องไม่น้อยกว่าผลคูณระหว่างจำนวนคน 

 

  • บันไดและทางลาดหนีไฟต้องมีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 1.10 เมตร 
  • ชานพักบันไดต้องกว้างไม่น้อยกว่าความกว้างสุทธิของบันได
  • ช่องประตูในเส้นทางหนีไฟจะต้องมีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 0.84 เมตร โดยห้ามมีสิ่งกีดขวางตลอดเส้นทางหนีไฟ

 

อย่างไรก็ตาม กรณีที่อาคารสถานบริการมีสภาพ หรือมีการใช้ที่ไม่ปลอดภัยจากอัคคีภัย หรือฝ่าฝืนกฎกระทรวงนี้ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้ผู้รับอนุญาตตั้งสถานบริการ หรือเจ้าของอาคารที่ใช้ตั้งสถานบริการ ดำเนินการแก้ไขระบบความปลอดภัยให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัย หรือสามารถใช้งานได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่า 30 วัน ในกรณีมีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะขยายระยะเวลาดังกล่าวออกไปอีกได้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X