วานนี้ (19 มิถุนายน) มีรายงานว่า ฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ลงนามในหนังสือ 2 ฉบับ ถึง ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) และผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้สนับสนุนวัคซีนแก่พนักงานบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ซึ่งขออนุเคราะห์วัคซีนให้พนักงาน 43,201 คน และครอบครัว 28,244 คน ในพื้นที่ กทม. และ 76 จังหวัด ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2564
สำหรับเนื้อหาในหนังสือระบุว่า ด้วยบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้ขอความอนุเคราะห์สนับสนุนวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคให้กับพนักงาน จำนวน 43,201 คน และครอบครัวของพนักงานของบริษัท จำนวน 28,244 ใน 76 จังหวัด และ กทม.
รายละเอียดปรากฏตามสำเนาหนังสือบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่ สกอ.600/2564 ลงวันที่ 8 มิถุนายน 2564 ที่ส่งมาพร้อมนี้ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) พิจารณาแล้วเห็นว่า บริษัทเป็นภาคเอกชนที่มีภารกิจและโครงสร้างการดำเนินงานในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ดังนั้น เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ให้กับพนักงานและครอบครัวของพนักงานของบริษัท จึงขอให้พิจารณาให้การสนับสนุนวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติ
หนังสือฉบับดังกล่าวได้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามอย่างกว้างขวางต่อแนวทางปฏิบัติอย่างยิ่งในการจัดสรรวัคซีน ว่ามีแนวปฏิบัติอย่างไร เท่าเทียม หรือเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนหรือไม่
ต่อมาวันเดียวกันนี้ ปลัดกระทรวงมหาดไทยยืนยันว่า การดำเนินการเป็นไปตามแนวทางของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ในเรื่องการจัดหาวัคซีนปูพรมทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงและระบาด
ที่ผ่านมา มีทั้งส่วนราชการ เอกชน สมาคม รวมถึงสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ทำหนังสือผ่านสำนักเลขา ศบค. คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย ขอให้จัดหาวัคซีนไปฉีดให้บุคลากร เพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นคลัสเตอร์และติดเชื้อแพร่ระบาดทั่วประเทศ
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนมั่นใจในการดำเนินการจัดสรรวัคซีนของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ และ ศบค. ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน ไม่มีเลือกปฏิบัติ เพราะการฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องดำเนินการให้ครอบคลุมรวดเร็วมากที่สุด
สำหรับประกาศแนวทางของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ในข้อ 5.2 เปิดโอกาสให้องค์กรภาครัฐและเอกชนในประเทศไทยแจ้งความประสงค์ขอรับวัคซีนให้กับบุคลากรในสังกัด ซึ่ง ศบค.มท. ได้แจ้งขอรับการสนับสนุนไปยังกระทรวงสาธารณสุข
ปัจจุบันก็ยังมีองค์กรภาครัฐและเอกชนขอรับการสนับสนุนวัคซีนมาอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงมหาดไทยเน้นย้ำให้ทุกจังหวัดดำเนินการตามมติและแนวทางของ ศบค. อย่างเคร่งครัด
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล