×

Moscow มุดรถไฟใต้ดิน ตรึงตาเสน่ห์งานอาร์ตผสานการเมืองในอดีต

02.11.2019
  • LOADING...
Moscow

คงมีสถานที่ไม่กี่แห่งนักที่ศิลปะถูกสนับสนุนและขับเคลื่อนจากภาคการเมืองเป็นหลัก หนึ่งในนั้นคือ ‘สถานีรถไฟใต้ดินมอสโก’ หรือ ‘Moscow Metro’ ที่โดดเด่นไปด้วยสถาปัตยกรรมและงานตกแต่งภายในอันเกิดจากการผสมผสานที่เป็นเอกลักษณ์ของลัทธิเผด็จการคอมมิวนิสต์และมรดกทางวัฒนธรรมของรัสเซีย ภายใต้คำสั่งของอดีตท่านผู้นำ โจเซฟ สตาลิน ให้ศิลปินและสถาปนิกถ่ายทอดความยิ่งใหญ่ สร้างจิตสำนึกชาตินิยมของชาวโซเวียตในอุดมคติ ผ่านการชื่นชมงานศิลปะตามสถานีรถไฟใต้ดินต่างๆ แต่ความจริงโปรเจกต์อลังการงานสร้างนี้เป็นแนวคิดแรกเริ่มของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ที่ต้องการให้รถไฟใต้ดินมอสโกเป็นสถานที่สำคัญระดับโลก และเป็นเอกลักษณ์ของกรุงมอสโกเคียงข้างความเจริญของมหานครอย่าง ลอนดอน ปารีส เบอร์ลิน และนิวยอร์ก ทว่ายังไม่ทันได้เริ่ม ราชวงศ์โรมานอฟก็ล่มสลายเสียก่อน 

 

เราตั้งใจมากว่าทริปนี้จะต้องมาชมความอลังการงานสร้างของสถานีรถไฟใต้ดินให้จงได้ ค่าโดยสารก็ไม่แพง นั่งรถไฟวนไปยังสถานีต่างๆ ได้อย่างสะดวกสบาย เป็นระบบขนส่งสาธารณะขนาดใหญ่ระดับคุณภาพ เตรียมปักหมุดมาดื่มด่ำกับสถาปัตยกรรมสุดเลอค่าซึ่งถูกยกย่องให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสวยงามมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกกันเลย

 

Moscow

 

1. สถานี Komsomolskaya

หนึ่งในสถานีที่สวยที่สุดและหนาแน่นมากที่สุด ภายในสถานีงดงามด้วยโครงเสารับน้ำหนักขนาดใหญ่ที่พื้นผิวภายนอกกรุด้วยหินปูนสีชมพูและหินอ่อนสีน้ำเงินเทา ปูพื้นด้วยหินแกรนิตสีเทา เพดานสูง แขวนแชนเดอเลียร์ เมื่อรวมเข้ากับเพดานทรงโค้งตามแบบสถาปัตยกรรมบาโรก ฉาบทาด้วยสีเหลืองมัสตาร์ด รวมถึงผนังโมเสก 8 จุด ที่ประดับประดาด้วยหินมีค่าและแก้วโคบอลต์สีน้ำเงิน พร้อมภาพวาดบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่ออิสรภาพและภราดรภาพของประเทศ ตามที่สตาลินได้สั่งไว้ว่าต้องสร้างให้ผู้โดยสารหยุดมองและชื่นชมความงามดุจดังชื่นชมพระอาทิตย์ เปรียบเสมือนพระราชวังของประชาชน (Palaces for the People) ยิ่งทำให้บรรยากาศเปี่ยมไปด้วยความยิ่งใหญ่ เข้มขรึม หรูหรา และเต็มไปด้วยมนต์ขลัง แม้ว่าผู้โดยสารจะกรูออกมาจากรถไฟจนเต็มพื้นที่

 

Moscow

 

2. สถานี Mayakovskaya 

ภายใต้ระดับความลึก 33 เมตร อดีตสถานที่หลบภัยจากการโจมตีทางอากาศในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นที่บันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์หน้าสำคัญ เมื่อห้องโถงภายในสถานีถูกใช้เป็นที่ประชุมสมัชชาใหญ่ของสตาลินในวันครบรอบการปฏิวัติ 7 กันยายน 1941 ปัจจุบันที่นี่ถือเป็นสถานีที่สวยงามเกินหน้าเกินตาสถานีอื่นๆ เลยล่ะ ซึ่งรังสรรค์จจากแรงบันดาลใจของ มายาคอฟสกายา กวีเอกสายเลือดหมีขาว ถึงอนาคตของสหภาพโซเวียตในจินตนาการ ก่อเกิดงานสถาปัตยกรรมสไตล์อาร์ตเดโค ประดับประดาด้วยผิวสเตนเลสสตีลวาววับจับตาที่สื่อถึงความทันสมัย กรุทับบริเวณซุ้มประตูทรงโค้งและหินโรโดไนต์สีชมพู ผสานเข้ากับผนังหินอ่อนอูฟาเลย์สีขาวและหินอ่อนดิโอไลต์สีเทา โดยมีเอกลักษณ์สำคัญที่ตราตรึงผู้คนคือเพดานหลุมหลังคาโค้งจำนวน 35 ช่อง ถ่ายทอดเรื่องราวในธีม ‘24-Hour Soviet Sky’ ทำให้สถานี Mayakovskaya หรูหรางดงามอย่างไร้ที่ติ ทำเอาเรายืนโพสท่าถ่ายรูปจนนับไม่ถ้วน

 

Moscow

 

3. สถานี Elektrozavodskaya

สถานี Elektrozavodskaya ถูกสร้างขึ้นในระยะที่ 3 ตามแผนงานของโปรเจกต์ Moscow Metro ในปี 1944 ซึ่งเป็นช่วงที่รัสเซียกำลังเข้าสู่ยุคสงครามเย็น มองเผลอๆ บนเพดานให้ความรู้สึกราวกับอยู่ภายในยานอวกาศ เท่ไปอีกแบบ เพราะพื้นที่ตลอดเพดานติดตั้งหลอดไส้ทรงกลมทั้งหมด 318 หลอด จำนวน 6 แถว เนื่องจากสถาปนิกผู้ออกแบบได้แรงบันดาลใจมาจากโรงงานผลิตหลอดไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ และชื่อ Elektrozavodskaya ก็ถูกตั้งตามชื่อของโรงงานดังกล่าว โดยมีรูปภาพประติมากรรมนูนต่ำบนหินอ่อนจำนวน 12 รูป บอกเล่าเรื่องราวการต่อสู้ของชาติในสงครามโลกครั้งที่ 1 รวมทั้งประติมากรรมนูนต่ำรูปค้อนและเคียวปิดทับด้วยสีทอง สัญลักษณ์ที่พร้อมจะทุ่มเทเอาชนะการแข่งขันทั้งทางอวกาศ อาวุธ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมต่างๆ กับอเมริกันชนในยุคสงครามเย็นอย่างเต็มรูปแบบ

 

Moscow

 

4. สถานี Novoslobodskaya 

โดดเด่นกับผลงานบานกระจกสี 32 แผ่น ซึ่งทั้งหมดออกแบบและสเกตช์ภาพโดย ปาเวล โคริน กับนิยามงานที่สื่อถึงการตอบโต้ความขบถและความภูมิใจในจิตวิญญาณแห่งรัสเซีย โดยมี 3 ศิลปินชาวลัตเวียนามว่า E. Veylandan, E. Krests, และ M. Ryskin รวมกลุ่มกันสร้างสรรค์บานกระจกสีจากภาพสเกตช์ให้เกิดขึ้นจริง แต่ละบานล้อมกรอบด้วยทองเหลืองแกะสลักอย่างประณีต ขณะที่บานกระจกสีส่องสว่างอยู่ภายในรูปทรง Pylon (รูปแบบสถาปัตยกรรมประตูทางเข้ามหาวิหารของอียิปต์และกรีกโบราณ) บริเวณเสาและซุ้มโค้งกรุด้วยหินอ่อนสีชมพูจากเทือกเขายูรัล และปลายสุดของสถานีคือผลงานโมเสกที่ชื่อว่า Peace Through the World ซึ่งถือเป็นไฮไลต์ของที่นี่ รัวชัตเตอร์แบบไม่ยั้งก่อนจะเดินทางไปเยี่ยมชมความสวยงามของสถานีอื่นๆ ต่อไป 

 

Moscow

 

5. สถานี Arbatskaya

ในอดีตกาลสถานี Arbatskaya ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นพื้นที่หลบภัย สร้างแล้วเสร็จในปี 1953 และเป็นปีเดียวกันกับการสิ้นชีวิตของท่านผู้นำ โจเซฟ สตาลิน ดังนั้นบรรยากาศการตกแต่งภายในสถานีจึงเปี่ยมไปด้วยสถาปัตยกรรมสไตล์บาโรก ซึ่งเป็นศิลปะที่สตาลินชื่นชอบเป็นที่สุด เริ่มตั้งแต่เพดานทรงโค้งประดับด้วยแชนเดอเลียร์สีบรอนซ์ห้อยระย้า เคียงปูนปั้นซุ้มดอกไม้ ผนังประดับเซรามิก และกระเบื้องเคลือบเงา ไปตลอดแนวของสถานี และถือว่าเป็นสถานีที่มีระยะทางยาวที่สุดของ Moscow Metro อย่างไรก็ตาม จุดที่น่าสังเกตตามประวัติศาสตร์ก็คือที่นี่ฉีกทุกกฎงานออกแบบตามมาตรฐานพื้นที่หลบภัยโดยสิ้นเชิง รวมถึงไร้กลิ่นอายธีมประวัติศาสตร์สงคราม ถือเป็นเรื่องผิดปกติสำหรับสถานีที่เพิ่งสร้างหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง มีเพียงรูปโมเสกอดีตท่านผู้นำอันยิ่งใหญ่เพื่อให้ผู้คนหวนรำลึกถึงเท่านั้น

 

Moscow

 

6. สถานี Kiyevskaya 

สถานีที่มีความประณีตและสิ้นเปลืองงบประมาณในการออกแบบและการก่อสร้างมากที่สุดอีกหนึ่งแห่งของ Moscow Metro สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้กับมิตรภาพของผู้คนสองประเทศระหว่างยูเครนและรัสเซีย เมื่อคราวลงนามร่วมกันในสนธิสัญสัญญาเพเรยาสลาฟในปี 1654 ที่นี่จึงโดดเด่นด้วยจิตรกรรมปูนปลาสเตอร์เปียกบนฝาผนัง 24 ภาพ และผนังโมเสกที่แสดงเนื้อหาเกี่ยวกับวิถีการดำเนินชีวิตประจำวันของชาวยูเครเนียน โดยรูปแบบการดีไซน์มุ่งเน้นไปตามแนวทางสัจนิยมสังคมนิยมที่สอดคล้องกับอุดมการณ์ทางการเมือง ทุกภาพเห็นได้ถึงความละเอียดและละเมียดในการออกแบบของสถาปนิก ขอปรบมือให้รัวๆ 

 

Moscow

ผู้คนเดินกันขวักไขว่

 

Moscow

ทางเดินโอ่อ่ามาก

 

Moscow

ดูเสาสิ สวยมากจนนึกว่าอยู่ในพิพิธภัณฑ์

 

Moscow

 

นี่เป็นเพียงสถานีบางส่วนของ Moscow Metro ที่ยกมาเล่าสู่กันฟัง เพราะความจริงแล้วยังมีสถานีอีกหลายแห่งทั้งยุคเก่ายุคใหม่ที่งดงามและเปี่ยมไปด้วยเรื่องเล่าไม่แพ้กัน ตลอดจนแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ อีกมากมาย ด้วยเพราะพื้นที่ประเทศนั้นใหญ่โตมโหฬาร ไปเยือนครั้งเดียวก็เที่ยวไม่ทั่ว ซึ่งเราค้นพบด้วยตัวเองแล้วว่าดินแดนหลังม่านเหล็กแห่งนี้มีดีกว่าที่คิด

 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X