×

‘กองหุ้นจีน’ ครองแชมป์เงินไหลเข้ามากสุดในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้

15.10.2021
  • LOADING...
กองหุ้นจีน

HIGHLIGHTS

  • ในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา มีเงินไหลเข้ากองทุนรวมไทยสุทธิ 3.7 หมื่นล้านบาท ขณะที่มูลค่าทรัพย์สินรวมอยู่ที่ 4.2 ล้านล้านบาท
  • ช่วง 9 เดือนแรกปี 2564 พบเงินไหลเข้ากองทุนรวมไทยกว่า 1.3 แสนล้านบาท โดยไหลเข้ากองทุนหุ้นจีนมากสุด
  • กองทุน Money Market ยังมีเงินไหลออกต่อเนื่องในไตรมาส 3 ปีนี้ โดยไหลออก 2.9 หมื่นล้านบาท ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5
  • ตลาดหุ้นต่างประเทศช่วงไตรมาสที่ผ่านมาแม้จะมีความผันผวนสูง แต่นักลงทุนก็ยังทยอยลงทุนต่อเนื่อง โดยพบว่าในไตรมาสล่าสุดมีเงินไหลเข้าสุทธิกองทุนหุ้นต่างประเทศ 4.7 หมื่นล้านบาท รวม 9 เดือนกว่า 2.3 แสนล้านบาท

ภาพรวมกองทุนรวมไทย (เฉพาะกองทุนเปิด ไม่รวมกองทุนปิด, ETF, REIT, Infrastructure Fund) มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 4.2 ล้านล้านบาท ทรงตัวจากไตรมาสที่ 2 โดยในไตรมาสนี้ มีเงินไหลเข้าสุทธิ 3.7 หมื่นล้านบาท รวม 9 เดือนมีเงินไหลเข้าสุทธิ 1.3 แสนล้านบาท และผลสำรวจจาก Morningstar พบว่า เงินไหลเข้ากองทุนหุ้นจีน กองทุนหุ้นทั่วโลก และกองทุนพันธบัตรระยะสั้นมากสุด และไหลออกจากตลาดเงิน กองทุนหุ้นขนาดใหญ่ และกองทุนพันธบัตรทั่วโลกมากที่สุด

 

กองทุนรวมไทย (เฉพาะกองทุนเปิด ไม่รวมกองทุนปิด, ETF, REIT, Infrastructure Fund) ในไตรมาส 3/64 มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 4.2 ล้านล้านบาท ทรงตัวจากไตรมาส 2 หรือเพิ่มขึ้น 0.1% และเพิ่มขึ้น 5.5% จากสิ้นปี 2563 โดยในไตรมาส 3/64 มีเงินไหลเข้าสุทธิ 3.7 หมื่นล้านบาท รวม 9 เดือนมีเงินไหลเข้าสุทธิ 1.3 แสนล้านบาท

 

กองทุนรวมตราสารทุนมีเงินไหลเข้าสุทธิ 3.8 หมื่นล้านบาท แต่เนื่องจากมีกองทุนหลายกลุ่มผลตอบแทนติดลบ จึงเป็นส่วนหักล้างการเพิ่มขึ้นของมูลค่าทรัพย์สิน ส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้าด้วยมูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเพียง 0.1% จากไตรมาสที่ 2 อย่างไรก็ดี โดยรวมเม็ดเงินไหลเข้ากลุ่มตราสารทุนยังอยู่ในระดับสูงรวมสุทธิ 9 เดือนเกือบ 2 แสนล้านบาท

 

ทางฝั่งกองทุนตราสารหนี้ มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 1.6 ล้านล้านบาท เติบโต 1.3% จากไตรมาสที่ 2 โดยมีเงินไหลเข้าในรอบไตรมาส 3/64 ประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นเงินไหลเข้ากองทุนตราสารหนี้ในประเทศ แต่เป็นเงินไหลออกสำหรับกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ รวม 9 เดือนยังคงเป็นเงินไหลเข้าสุทธิ 5.4 หมื่นล้านบาท

 

กองทุน Money Market ยังเป็นเงินไหลออกต่อเนื่องในไตรมาส 3 ปีนี้ โดยไหลออก 2.9 หมื่นล้านบาท ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 แสดงให้เห็นถึงเม็ดเงินที่ยังทยอยกลับเข้าลงทุนในสินทรัพย์อื่น รวมปีนี้มีเงินไหลออกจากกองทุน Money Market แล้วทั้งสิ้น 1.2 แสนล้านบาท มูลค่าทรัพย์สินสุทธิลดลงไปอยู่ที่ 6.3 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 15% ของอุตสาหกรรมกองทุนรวม ใกล้เคียงกับช่วงสถานการณ์ปกติก่อนเกิดโควิดที่ 14%

 

กองทุนกลุ่ม Commodities มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเกือบ 3 หมื่นล้านบาท มีเงินไหลออกสุทธิ 1.3 พันล้านบาท แม้ราคาน้ำมันและทองคำจะมีการเคลื่อนไหวที่ค่อนข้างแตกต่างกันในไตรมาสที่ผ่านมา โดยกลุ่ม Commodities Energy มีผลตอบแทนสะสม 9 เดือน 64.7% ในขณะที่กองทุนทองคำอยู่ที่ -5.0% แต่กองทุนทั้ง 2 ประเภทมีเงินไหลออกสุทธิเหมือนกัน รวม 9 เดือนเป็นเงินไหลออกสุทธิ 4.7 พันล้านบาท

 

ในภาพของกองทุนรายกลุ่ม Morningstar Category นั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปในไตรมาสล่าสุด โดยกองทุนหุ้นขนาดใหญ่ Equity Large-Cap กลับขึ้นมาเป็นกลุ่มกองทุนขนาดใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรม ในขณะที่กองทุนหุ้นจีน China Equity มีมูลค่าลดลงทำให้ตกไปอยู่ที่ลำดับที่ 8 จากที่ 6 ในไตรมาสก่อนหน้า และผู้ลงทุนยังนิยมตราสารทุนต่างประเทศมากกว่าตราสารทุนในประเทศ ดังที่จะเห็นได้จาก 10 อันดับเม็ดเงินไหลเข้าสูงสุดรอบไตรมาสที่ผ่านมา ที่ประกอบด้วยกลุ่มหุ้นต่างประเทศถึง 7 กลุ่ม

 

ก่อนหน้านี้กองทุน Money Market รั้งอันดับ 1 กลุ่มกองทุนขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมมาตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 ด้วยมูลค่าสูงถึง 7.6 แสนล้านบาท แต่หลังจากนั้นเริ่มมีแรงทยอยขายออกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2563 เป็นต้นมา และในไตรมาส 3 ปีนี้ กองทุน Money Market มูลค่าลดลงไปอยู่ที่ 6.3 แสนล้านบาท จากเม็ดเงินไหลออกสูงสุดช่วง 9 เดือนรวม 1.2 แสนล้านบาท

 

กองทุนรวมหุ้นขนาดใหญ่ (Equity Large-Cap) มีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 14.9% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากผลตอบแทนเฉลี่ย 1.7% จากหุ้นไทยที่เป็นบวกถูกหักล้างด้วยเม็ดเงินที่ไหลออกไปจากกองทุนมูลค่า 7.3 พันล้านบาท รวม 9 เดือนมีเงินไหลออกทั้งสิ้น 3.2 หมื่นล้านบาท หรือไหลออกมากที่สุดรองจากกองทุน Money Market

 

การลงทุนตราสารหนี้ในช่วงที่ผ่านมาอาจมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้ผู้ลงทุนเลือกที่จะลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีความเสี่ยงต่อทิศทางดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า โดยกองทุน Short Term Bond มีเงินไหลเข้าสุทธิต่อเนื่องอีกไตรมาสที่ 2.1 หมื่นล้านบาท รวม 9 เดือนเป็นเงินไหลเข้าสุทธิเกือบ 5 หมื่นล้านบาท หรือสูงสุดเป็นอันดับ 3 และเป็นกองทุนที่ลงทุนในประเทศกลุ่มเดียวที่ติด 1 ใน 10 อันดับกองทุนเงินไหลเข้าสูงสุด

 

กองทุน Mid/Long Term Bond มีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 38.9% จากปีที่แล้ว หรือ 11.6% จากไตรมาสก่อนหน้า ในส่วนของเม็ดเงินนั้น จากไตรมาสแรกที่เป็นเงินไหลออก 1.6 หมื่นล้านบาท กลับเป็นเงินไหลเข้าหลังจากนั้น โดยไตรมาสล่าสุดนี้เป็นกลุ่มที่มีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุด 2.2 หมื่นล้านบาท รวม 9 เดือนเป็นเงินไหลเข้าสุทธิ 1.0 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ดีเม็ดเงินไหลเข้าถือว่าค่อนข้างกระจุกตัวไปที่กองทุนจาก บลจ.กสิกรไทย เช่น K Fixed Income ที่มีเงินไหลเข้าสุทธิปีนี้แล้วเกือบ 8 พันล้านบาท

 

กองทุนหุ้นไทย (ไม่รวม LTF RMF SSF) มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 2.3 แสนล้านบาท ลดลง 0.7% จากไตรมาสที่ 2 แต่ยังสูงกว่าสิ้นปี 2563 อยู่ 1.3% ซึ่งเป็นผลจากผลตอบแทนหุ้นไทยที่เพิ่มขึ้นในช่วง 9 เดือนแรก โดย SET TR อยู่ที่ 13.8%

 

นับตั้งแต่การยกเลิกกองทุน LTF ซึ่งโดยปกติจะเป็นแรงซื้อหุ้นไทยในช่วงที่ตลาดปรับตัวลง ประกอบกับความนิยมการลงทุนต่างประเทศที่สูงขึ้น ทำให้กองทุนหุ้นไทย (ไม่รวม LTF RMF SSF) ยังคงมีแรงขายออกอย่างต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 7 โดยในไตรมาสล่าสุดมีเงินไหลออกสุทธิ 4.1 พันล้านบาท สะสม 9 เดือนของปีนี้เป็นเงินไหลออกสุทธิ 1.8 หมื่นล้านบาท แต่ด้วยผลตอบแทนที่เป็นบวกทำให้มูลค่าทรัพย์สินทรงตัวในปีนี้ ฉะนั้นหากไม่รวมมูลค่าทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นจากผลตอบแทนจะพบว่าขนาดของกองทุนกลุ่มนี้มียังคงมีการหดตัวลง

 

กองทุนรวมต่างประเทศ (ไม่รวม Term Fund) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.9% จากไตรมาสที่ 2 หรือ 50.3% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยไตรมาสล่าสุดมีเงินไหลเข้าสุทธิ 5.6 หมื่นล้านบาท รวม 9 เดือนเป็นเงินไหลเข้าสุทธิ 2.5 แสนล้านบาท

 

ตลาดหุ้นต่างประเทศอาจมีความผันผวนมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา แต่ในภาพรวมนักลงทุนยังทยอยลงทุนต่อเนื่อง โดยในไตรมาสล่าสุดมีเงินไหลเข้าสุทธิกองทุนหุ้นต่างประเทศ 4.7 หมื่นล้านบาท รวม 9 เดือน 2.3 แสนล้านบาท ด้านกองทุนตราสารหนี้มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 9.7 หมื่นล้านบาท ลดลง 2.5% จากไตรมาสก่อนหน้า มีเงินไหลออกสุทธิ 3.6 พันล้านบาท ทำให้มีสัดส่วนลดลงต่ำกว่า 9% ของการลงทุนกองทุนต่างประเทศ (ไม่รวม Term Fund)

 

9 เดือนแรกปีนี้ นักลงทุนมีการปรับพอร์ตการลงทุนเพื่อตอบรับปัจจัยสนับสนุน และปัจจัยเสี่ยงทางการลงทุน โดยผลสำรวจจาก Morningstar ระบุว่า นักลงทุนขายการลงทุนในตลาดเงินมากสุด และสนใจเข้าลงทุนในกองทุนหุ้นจีนสูงที่สุด

 

ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising