ต้อนรับเช้าวันใหม่กับความเคลื่อนไหวสำคัญในโลกเศรษฐกิจ การเงิน และการลงทุน ประจำวันที่ 16 พฤศจิกายนใน THE STANDARD WEALTH Morning Brief
‘2 ปัจจัย’ หนุนนักลงทุนเปิดรับความเสี่ยง
สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ดีเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกัน โดยได้รับปัจจัยบวก จาก 1. เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า โจ ไบเดน คือผู้ชนะการเลือกตั้ง ปธน. สหรัฐฯ หลังจากคะแนนทิ้งห่างทรัมป์มากขึ้น 2. ข่าวด้านบวกเกี่ยวกับผลการทดลองวัคซีนของบริษัท Pfizer และ BioNTech ที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อที่สูงถึงระดับ 90%
ทั้งนี้ ตลาดอยู่ในสภาวะ Risk-on มากขึ้น ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาที่ระดับเหนือ 0.90% หุ้นในกลุ่มสถาบันการเงิน ท่องเที่ยว และน้ำมัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นโดดเด่นทั่วโลก แต่ตลาดก็เริ่มมีปัจจัยลบเข้ามาเช่นกันจากตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญเริ่มชะลอลง โดยเฉพาะภาคบริการในยุโรปจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่รุนแรง
Dow Jones บวก 4.08% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ดี Dow Jones +4.08% S&P 500 +2.16% และ Nasdaq 100 -1.27% หุ้นในกลุ่มน้ำมัน +17.1% กลุ่มสถาบันการเงิน +8.3% และกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต +5.4% ส่วนกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวลดลง -0.3% เนื่องจากตลาดมองว่า เป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการบริการของบริษัทเทคโนโลยีลดลง
ตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ดีมากจากข่าววัคซีน เนื่องจากยุโรปกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่รุนแรง ส่งผลให้ต้องดำเนินนโยบาย Social Distancing กันอีกครั้ง ดัชนี STOXX 600 +5.13% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา และบวกได้ถึง 12.5% ในช่วงเวลา 2 สัปดาห์ หุ้นในกลุ่มสถาบันการเงินเป็นกลุ่มที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุด ส่วนกลุ่มเทคโนโลยีเป็นกลุ่มที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้น้อยที่สุด
นักลงทุนลดถือ ‘ทองคำ’ จากข่าววัคซีน
ราคาทองคำปรับตัวลดลงแรง -3.2% ถึงแม้จะฟื้นตัวได้ในช่วงปลายสัปดาห์ก็ตาม ข่าวดีเรื่องวัคซีนทำให้นักลงทุนลดการถือครองทองคำลง นอกจากนี้ การปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐฯ มาที่ระดับ 0.90% เป็นอีกปัจจัยที่เข้ามากดดันราคาทองคำ
ในสัปดาห์นี้ ประเด็นที่นักลงทุนควรจะต้องจับตาก็คือ 1. การแพร่ระบาดระลอกใหม่ทั่วโลก โดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐฯ ที่ยังคงหนักหน่วง ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่เข้ามาอิทธิพลต่อตลาดมากขึ้น เนื่องจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่จะส่งผลให้ตัวเลขเศรษฐกิจหดตัวลง และทำให้ภาพของการฟื้นตัวเป็นลบ 2. การประกาศตัวเลข GDP ไตรมาส 3 ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศเศรษฐกิจสำคัญ และจะส่งผลกระทบต่อภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก 3. ความกังวลในเรื่องการแพร่ระบาดระลอกใหม่ อาจจะส่งผลให้นักลงทุนกลับมาลงทุนในกลุ่มเทคโนโลยีอีกครั้ง แต่ประเด็นในเรื่อง Antitrust Law (ต่อต้านการทำธุรกิจผูกขาด) ที่มีมากขึ้น อาจจะเข้ามาเป็นประเด็นกดดันหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีในช่วงต่อจากนี้ไป
‘อินเดีย’ ฉีดเงินกระตุ้น ศก. อีก 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์
รัฐบาลอินเดียได้ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบล่าสุดจำนวน 16,100 ล้านดอลลาร์ โดยมีจุดประสงค์สำคัญในการกระตุ้นตลาดแรงงาน โดยงบกระตุ้นล่าสุดได้รวมถึงเงินช่วยเหลือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และรับเหมาก่อสร้างด้วย ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาด
รัฐบาลอินเดียได้มีงบกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วราว 60,000 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้เกิดความกังวลว่า อันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรอินเดียอาจจะถูกลดระดับลงได้ แต่ทางรัฐมนตรีกระทรวงการคลังของอินเดียได้มีมุมมองที่ต่างออกไป โดยกล่าวว่า “การเก็บภาษีสินค้าและบริการหรือ GST ที่เพิ่มมากขึ้น การบริโภคน้ำมันที่มากขึ้น การปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ธนาคารในอินเดียก็มีความน่าเชื่อถือที่มากขึ้น และตลาดหุ้นก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ดี ปัจจัยเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า นโยบายกระตุ้นที่ผ่านมาได้ผล เศรษฐกิจอินเดียก็กลับมาเติบโตได้ค่อนข้างดีอีกด้วย”
‘ทรัมป์’ สั่งห้ามบริษัทสหรัฐฯ ลงทุนในบริษัทจีนที่บริหารโดยกองทัพจีน
ด้านความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ 1. บริษัท Boeing เผยว่า สายการบินของจีนจะต้องซื้อเครื่องบินเพิ่มอีกราว 8,600 ลำ ที่มีมูลค่าราว 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วง 20 ปีข้างหน้านี้ สูงกว่าที่คาดไว้ในปีที่แล้วที่ 8,090 ลำ 2. กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ เผยว่า จะไม่มีการบังคับใช้คำสั่งปิดการดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน TikTok ในสหรัฐฯ ตามคำสั่งของศาลที่ได้ตัดสินไปแล้ว 3. คณะบริหารของทรัมป์ได้ออกมาเผยคำสั่งพิเศษของ ปธน. หรือ Executive Order สำหรับห้ามบริษัทสหรัฐฯ ลงทุนในบริษัทจีน ที่เป็นเจ้าของหรือบริหารโดยกองทัพจีน
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์