×

โฆษกรัฐบาล ยืนยัน ‘ไม่มีหมอชนะ ไม่ผิด’ ส่วน 5 จังหวัดเดินทางขออนุญาตผ่านกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านได้ ไม่ต้องผ่านอำเภอ

โดย THE STANDARD TEAM
07.01.2021
  • LOADING...
ไม่มีหมอชนะ ไม่ผิด

วันนี้ (7 มกราคม) อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงรายละเอียดมาตรการมีการประกาศควบคุมการเดินทางเข้าออกพื้นที่จังหวัดต่างๆ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด 28 จังหวัดที่ต้องผ่านด่านคัดกรอง ถึงเหตุผลและความจำเป็น ซึ่งในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดในพื้นที่ 5 จังหวัด ซึ่งต้องแสดงหลักฐานการอนุญาตในพื้นที่ภูมิลำเนา การขออนุญาตออกนอกพื้นที่ โดยในการขออนุญาตสามารถขอที่พนักงานเจ้าหน้าที่ในส่วนของตำบล กำนัน หรือผู้ใหญ่บ้าน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นอำเภอหรือจังหวัด ซึ่งจะถือเป็นความสะดวกและง่ายขึ้น โดยขอย้ำว่าเจ้าหน้าที่อาจต้องสอบถามเบื้องต้นถึงความจำเป็นในการเดินทาง ส่วน 49 จังหวัดให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสม ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ขอให้หลีกเลี่ยงการเดินทางข้ามจังหวัด แม้กระทั่งในจังหวัดเอง โดยให้พื้นที่สามารถออกมาตรการที่เข้มข้นกว่าในพื้นที่ถือบังคับใช้  

 

ส่วนกรณีการแถลงข่าวของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด -19 หรือ ศบค. ที่ระบุว่าหากผู้ติดเชื้อไม่มีการโหลดแอปพลิเคชัน ‘หมอชนะ’ จะถือเป็นความผิดตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินนั้น อนุชาระบุว่า การที่ต้องมีแอปพลิเคชันหมอชนะนั้น ขอทำความเข้าใจว่าแอปพลิเคชันเป็นการช่วยตรวจดูการเคลื่อนที่ของประชาชน ที่ผ่านมาใช้ในการตรวจสอบว่าอยู่ที่ใดมาบ้างแล้ว ซึ่งหากไม่มีความสะดวกอาจใช้การบันทึกหรือแผนการเดินทางที่ด่านได้ แต่หากเจตนาปกปิดข้อมูลให้เกิดการแพร่ระบาดถือเป็นความผิด หากเจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบได้ว่ามีสมาร์ทโฟน ทางเจ้าหน้าที่จะช่วยในการโหลดและติดตั้งเพื่อลดการแพร่ระบาด เพราะหากไม่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาตรวจสอบและควบคุมอาจทำให้การบันทึกไทม์ไลน์เป็นไปอย่างล่าช้า

 

แต่ยืนยันว่าการไม่โหลดแอปฯหมอชนะไม่ถือเป็นความผิด หากเว้นแต่จงใจปกปิดข้อมูลหรือบิดเบือนข้อมูล ให้ถือมีโทษตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน 

 

ส่วนความคืบหน้าเรื่องวัคซีน อนุชายืนยันอีกครั้งว่าเป้าหมายการจัดหาวัคซีนในปี 2564 ต้องจัดหาให้ได้ 50% ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งต่อคนใช้ 2 โดส ซึ่งระยะห่างต่อโดส 1 เดือน วันนี้ได้มีการเจรจากับซิโนแวค นำเข้าเดือนกุมภาพันธ์นี้ 200,000 โดสเพื่อให้เจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว อาทิ เบาหวาน ความดัน หลอดเลือดสมอง

 

ส่วนการนำเข้าในเดือนมีนาคมอีก 800,000 โดส ต้องส่งฉีดให้ 200,000 คนแรกในเดือนกุมภาพันธ์ ที่เหลืออีก 6000,000 โดสให้พื้นที่ควบคุมสูงสุด และตามแนวชายแดน ส่วน 1,000,000 โดสจะฉีดกลุ่มครั้งแรกเดือนมีนาคม ภายในเดือนเมษายนได้รับวัคซีนจากจีน 2,000,000 โดส โดยต้องได้รับอนุญาตขึ้นทะเบียนจากทั้งประเทศจีนและไทย โดยวัคซีน 26 ล้านโดสถือเป็นการผลิตภายในประเทศของสยามไบโอไซน์ ปัจจุบันเมื่อมีมาตรฐานเทียบเท่ามาตรฐานโลก มีกำลังการผลิต 15-20 ล้านโดสต่อเดือน ซึ่งต้องมีการทดสอบ 5 รอบการผลิตใช้เวลาประมาณ 4 เดือน ผลิตรอบแรกแล้วเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2563 โดยคาดว่าเดือนพฤษภาคม จะผลิตแล้วเสร็จ นายกรัฐมนตรีดำเนินการให้สาธารณสุขเจรจาเพิ่มเติมนำเข้าอีก 35 ล้านโดส ซึ่งใกล้เคียงกับการตั้งเป้าไว้ของรัฐบาล

 

อนุชากล่าวอีกว่า ส่วนมาตรการที่รัฐบาลจะมีในอนาคต รัฐบาลให้ความสำคัญพร้อมเยียวยาผู้ที่ได้ระบผลกระทบ โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลังและสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด จัดทำมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสม ภาครัฐมีแหล่งงบประมาณที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นงบกลางที่ในเหตุฉุกเฉินกว่า 1.39 แสนล้านบาท นอกจากนี้ยังมีเงินกู้ในส่วนที่เหลือ 4.7 แสนล้านบาท รวมทั้งยังมีงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ 2.9 แสนล้านบาทที่จะดูแลประเทศไทยได้ 

 

ส่วนการจัดงานวันเด็ก อนุชาระบุว่า ในปีนี้ทำเนียบรัฐบาลไม่เปิดให้ทำกิจกรรม แต่จะรวบรวมกิจกรรมต่างๆ เป็นคลิปวิดีโอจัดทำผ่านรายการ 10.00-11.30 น. ผ่าน NBT ในวันเสาร์ที่ 9 มกราคม 2564 โดยนายกรัฐมนตรีได้มีการบันทึกเทปไว้แล้ว ซึ่งมีการนำเยาวชนกลุ่มหนึ่งร่วมเยี่ยมชมห้องทำงานและนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising