วันนี้ (4 กุมภาพันธ์) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โควิด และการพยากรณ์โรคในปี 2565
นพ.โอภาสกล่าวว่า ขณะนี้โรคโควิดมีแนวโน้มผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ยังเป็นไปตามการคาดการณ์และสามารถควบคุมได้ ส่วนที่ผู้ติดเชื้อใกล้ 1 หมื่นรายขอว่าอย่ากังวลกับตัวเลขจนเกินไป ซึ่งการพิจารณาสถานการณ์สิ่งสำคัญคือ จำนวนผู้ติดเชื้ออาการหนัก ใส่เครื่องช่วยหายใจ และผู้เสียชีวิต ซึ่งปัจจุบันลดลงมากจากช่วงที่ระบาดใหญ่ ขณะนี้ค่อนข้างคงตัว และระบบสาธารณสุขรองรับได้ ซึ่งต่างประเทศก็พิจารณาในแนวทางนี้เช่นกัน โดยอนาคตหากจะเป็นโรคประจำถิ่นและอยู่ร่วมกับโรคให้ได้ ก็จะพิจารณาจากรายงานผู้ป่วยที่มีอาการในโรงพยาบาลเหมือนโรคอื่นๆ ทั่วไป
นพ.โอภาสกล่าวว่า การติดเชื้อระยะนี้ส่วนใหญ่เป็นคลัสเตอร์เล็กๆ กระจายทั่วทุกจังหวัด เกิดจากงานเลี้ยงสังสรรค์ งานบุญ งานแต่งงาน งานศพ งานบวช ทำให้กลับไปติดที่บ้าน ซึ่งโอมิครอนเบื้องต้นมีอัตราติดเชื้อในครอบครัว 40-50% จากเดิมสายพันธุ์เดลตาที่มีอัตราการติดเชื้อในครอบครัว 10-20% จะเห็นว่าติดเชื้อค่อนข้างง่าย ไม่รุนแรงไปกว่าเดลตา ส่วนใหญ่อาการน้อย โดยเฉพาะคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว ซึ่งขณะนี้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นไปได้แล้ว 15 ล้านคน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เชื่อว่าจะทำให้ระบบสาธารณสุขดูแลผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิตได้ ขอให้กลุ่มเสี่ยงอายุ 60 ปีขึ้นไป 7 โรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ เข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นตามกำหนด อย่างไรก็ตาม ผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นใกล้ระดับหลักหมื่นรายต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชนในการป้องกันและควบคุมโรคไม่ให้เพิ่มมากไปกว่านี้
นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า ไม่ใช่เพียงแค่โรคโควิดเท่านั้น แต่ยังมีโรคและภัยสุขภาพอื่นๆ ที่ต้องระวังด้วย โดยสถานการณ์ในปี 2564 พบว่า โรคไข้มาลาเรีย โรคเท้าช้าง และโรคเรื้อน มีการป่วยลดลงมาก และไม่มีผู้เสียชีวิตเลย เป็นกลุ่มที่จะกำจัดโรคให้หมดไปจากประเทศไทย ส่วนโรคไข้เลือดและวัณโรค ถือว่าอยู่ในระดับที่ควบคุมได้
สำหรับโรคโควิดพบผู้ติดเชื้อ 2,216,551 ราย เสียชีวิต 21,637 ราย สถานการณ์ถือว่ามีการระบาดที่รุนแรง ขณะที่โรคไข้หวัดใหญ่ อุบัติเหตุจราจร และเด็กจมน้ำ มีอุบัติการณ์ลดลง สำหรับการพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพในปี 2565 มี 5 เรื่องที่ต้องแจ้งเตือน ได้แก่
- โรคโควิดหากไม่มีการกลายพันธุ์ที่มีนัยสำคัญ คาดว่าครึ่งปีหลังจำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลง เนื่องจากคนไทยฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นตามเป้าหมาย มีการฉีดเพิ่มเติมในเด็ก
- ไข้หวัดใหญ่ คาดว่าผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้น 2 เท่า คือ 22,817 ราย โดยเฉพาะช่วงฤดูฝนและปลายฝนต้นหนาว เนื่องจากช่วงต้นปี 2565 การใส่หน้ากากอนามัยของคนไทยยังดี แต่ช่วงปลายปีหากสถานการณ์ดีขึ้น การใส่หน้ากากอนามัยลดลง อาจมีการระบาดของโรคเพิ่มขึ้นได้
- ไข้เลือดออก คาดว่าจะมีการระบาดเพิ่มขึ้น มีผู้ป่วยถึง 85,000 ราย เนื่องจากปกติไข้เลือดออกจะระบาดปีเว้นปี หรือปีเว้น 2 ปี ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมามีผู้ติดเชื้อน้อย ภูมิคุ้มกันจึงมีน้อย และมีกิจกรรมทางสังคมเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยจะสูงสุดช่วงมิถุนายน-สิงหาคม 2565 จึงต้องเริ่มรณรงค์โดยเฉพาะการเป็นไข้ต้องคิดถึงโรคไข้เลือดออกด้วย ไม่ควรซื้อยาแก้ปวดแอสไพรินและกลุ่มเอ็นเสดรับประทาน เพราะจะทำให้เลือดออกในทางเดินอาหารจนเสียชีวิตได้ ซึ่งล่าสุดพบรายงานการเสียชีวิตรายแรกของปีแล้ว
- อุบัติเหตุทางถนน อาจสูง 17,000-20,000 ราย มีสัญญาณเพิ่มขึ้น จึงต้องรณรงค์บังคับใช้กฎหมาย ร่วมมือร่วมใจทำตามวินัยจราจร จะช่วยลดการเสียชีวิตได้
- เด็กจมน้ำ เนื่องจากโรงเรียนมีการเปิดเรียนแบบออนไซต์ มีกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น คาดว่ามีนาคม-เมษายนจะมีเด็กจมน้ำเสียชีวิตมากขึ้น จึงต้องแจ้งเตือนพ่อแม่ให้ระวังมากขึ้น
ด้าน นพ.เฉวตสรรกล่าวว่า วันนี้ประเทศไทยรายงานผู้หายป่วย 7,827 ราย ติดเชื้อรายใหม่ 9,909 ราย แม้จะสูงขึ้นแต่ยังอยู่ในความคาดหมายและควบคุมได้ พบผู้เสียชีวิต 22 ราย จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ 516 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 105 ราย ถือว่าค่อนข้างคงตัว ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 จากการเก็บข้อมูลผู้ติดเชื้อ 9,267 ราย พบว่าเป็นไทย 96% ช่วงอายุที่ป่วยสูงสุดคือ 20-29 ปี ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี พบ 10.3% ปัจจัยเสี่ยงการติดเชื้อยังเป็นการไปร่วมงานปาร์ตี้ สังสรรค์ รับประทานอาหารร่วมกันซึ่งต้องเปิดหน้ากากอนามัย โดยพบว่าเป็นการติดจากการไปสถานที่เสี่ยงที่เป็นคลัสเตอร์ 48% เป็นกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูง 47%
“เราสามารถรักษาสถานการณ์การระบาดให้อยู่ในระดับเส้นสีเขียวหรือการคาดการณ์ที่ดีที่สุดได้ แม้ช่วงนี้จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นก็ยังอยู่ในเส้นที่คาดการณ์ไว้และยังมีมาตรการรองรับ แต่ยังต้องขอความร่วมมือช่วยกันรักษามาตรการ VUCA คือ ฉีดวัคซีน ป้องกันตนเองตลอดเวลา COVID Free Setting และตรวจ ATK” นพ.เฉวตสรรกล่าว