×

สธ. เผยมีผู้เสียชีวิตจากโอมิครอน 2 ราย เป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว

โดย THE STANDARD TEAM
17.01.2022
  • LOADING...
เฉวตสรร นามวาท

วันนี้ (17 มกราคม) นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อโควิด พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มอีก 6,929 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 107,979 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) 

 

นอกจากนี้ยังได้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับผู้เสียชีวิตจากโควิดสายพันธุ์โอมิครอน จำนวน 2 ราย ซึ่งมีข้อมูลดังนี้

 

รายที่ 1 เป็น หญิงไทยอายุ 86 ปี อาศัยอยู่ที่จังหวัดสงขลา เป็นผู้ป่วยติดเตียงและเป็นอัลไซเมอร์ มีประวัติได้รับวัคซีน Pfizer 2 เข็ม ที่โรงพยาบาลนาหม่อม ประวัติเสี่ยงคือหลานชายที่เดินทางกลับมาจากจังหวัดภูเก็ตเป็นผู้ป่วยยืนยันติดโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ก่อนที่ในเวลาต่อมาแพร่เชื้อให้แก่คนในครอบครัว ส่วนไทม์ไลน์มีข้อมูลตามนี้

 

  • 6 มกราคม 2565 – ผู้ป่วยมีไข้ มีเสมหะ ทราบข่าวว่าลูกสาว-หลานสาวตรวจพบเชื้อโควิค ก่อนที่จะตรวจหาเชื้อด้วย ATK ผลเป็นบวก จึงส่งต่อเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลหาดใหญ่
  • 7 มกราคม 2565 – ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ แพทย์เก็บตัวอย่าง NPS ส่งตรวจยืนยันที่ห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาล ผลยืนยันติดเชื้อโควิด ขณะเดียวกันผู้ป่วยเริ่มมีไข้ 38.5 องศาเซลเซียส มีอาการไอ, หายใจลำบาก แพทย์รับไว้ที่แผนก CICU เอกซเรย์ปอด ผลพบเชื้อลงปอดทั้งสองข้าง ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ แพทย์จ่ายยา Dexamethasone 10 mg., Remdesivir
  • 12 มกราคม 2565 – ผู้ป่วยเสียชีวิตเวลา 09.20 น. ทีมแพทย์ส่งตัวอย่างตรวจยืนยันสายพันธุ์ ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา (ศวก.12) ผลปรากฏพบเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน 

 

ส่วนรายที่ 2 เป็นเพศหญิงอายุ 84 ปี อาศัยอยู่ในจังหวัดอุดรธานี มีโรคประจำตัวเป็นมะเร็งที่ปอดระยะสุดท้าย รักษาแบบประคับประคอง ใส่ออกซิเจน Cannula 5LPM ไม่มีประวัติการได้รับวัคซีน และมีประวัติเสี่ยงเป็นผู้ป่วยติดเตียง พบครอบครัวติดเชื้อโควิด และมีไทม์ไลน์ข้อมูลดังนี้

 

  • 9 มกราคม 2565 – ตรวจหาเชื้อโควิด ด้วยวิธี RT-PCR เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง หลังลูกชายมีผลตรวจพบโควิดก่อนหน้านี้
  • 10 มกราคม 2565 – ผลตรวจออกมาปรากฏว่าพบเชื้อ โรงพยาบาลประสานเพื่อแอดมิตเข้าสู่การรักษา แต่ผู้ป่วยและญาติปฏิเสธเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แพทย์จึงอนุญาตให้เข้าสู่ระบบ Home Isolation ตามความประสงค์ของผู้ป่วยและญาติ แพทย์เริ่มให้ยา Favipiravir ตามแผนการรักษา และจัดเครื่องวัดอุณหภูมิร่างกายและออกซิเจนปลายนิ้ว โดยออกซิเจนปลายนิ้วอยู่ระหว่าง 86-90% ไม่มีไข้ ซึ่งก่อนติดเชื้อโควิด ลูกชายที่ดูแลแจ้งว่า ค่าออกซิเจนปลายนิ้วก็อยู่ระหว่างช่วงดังกล่าว โดยผู้ป่วยไม่มีอาการเหนื่อยหรือหายใจหอบ 
  • 11-12 มกราคม 2565 – ออกซิเจนปลายนิ้วอยู่ระหว่าง 86-90% ไม่มีไข้
  • 13-14 มกราคม 2565 – ผู้ป่วยรับประทานได้น้อยลง ไม่มีอาการหายใจหอบ ไม่มีไข้ ออกซิเจนปลายนิ้ว 86-87%
  • 15 มกราคม 2565 – ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อย หายใจหอบ ค่าออกซิเจนปลายนิ้วน้อยกว่า 76% เปลี่ยนจากออกซิเจน Cannula เป็น Mask C Bag ให้ออกซิเจนปลายนิ้ว 90% ประสานผู้ป่วยนำส่งโรงพยาบาล แต่ญาติปฏิเสธการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แพทย์ให้เพิ่ม Favipiravir จาก 5 วัน เป็น 10 วัน และเพิ่ม Morphine ให้เนื่องจากยาเดิมหมด เวลา 16.00 น. ผู้ป่วยตอบสนองได้น้อยลง หายใจหอบลึก และคลำชีพจรไม่ได้ ก่อนที่หัวใจหยุดเต้น และเสียชีวิตในเวลา 19.45 น. รวมระยะเวลารักษา Home Isolation 6 วัน 

 

ทั้งนี้ นพ.เฉวตสรร กล่าวเพิ่มเติมว่า ลักษณะการระบาดของโควิดในปีนี้เริ่มมีรูปแบบคล้ายโรคประจำถิ่น ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขได้มีการติดตามดูและศึกษาข้อมูลทางวิชาการอย่างใกล้ชิด แต่ยังขอความร่วมมือว่าอย่าใช้ชีวิตติดประมาท แม้ข้อมูลการระบาดของโอมิครอนจะไม่ได้สร้างความรุนแรงในแง่ของอาการป่วยหนักหรือเสียชีวิต แต่ต้องไม่ลืมว่าการที่ยอดติดโควิดในจำนวนมากเป็นเวลาหลายวันติดต่อกันก็อาจจะส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขได้ 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising