×

สธ. สรุปแนวทาง Home Isolation และ Community Isolation เตรียมรองรับผู้ป่วยสีเขียว 400-600 ราย มีอาหาร 3 มื้อ ติดตามอาการทุกวัน รับเฉพาะผู้สมัครใจ

โดย THE STANDARD TEAM
10.07.2021
  • LOADING...
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์

วันนี้ (10 กรกฎาคม) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ชี้แจงแนวทางเรื่อง Home Isolation หรือการแยกกักตัวที่บ้าน และ Community Isolation หรือการแยกกักตัวในชุมชน โดยระบุว่า หากไม่จำเป็นไม่อยากให้ใช้แนวทางนี้ เพราะมีผลเสีย 2 ประการ หนึ่ง คือผลเสียต่อสุขภาพของผู้ติดเชื้อเอง เพราะหากอยู่บ้านคนเดียว ไม่มีใครช่วยดูแล ถ้าสุขภาพแย่ลงอาจทำให้เกิดการเสียชีวิตที่บ้านได้ และสอง เป็นผลเสียต่อชุมชน เพราะจากการทบทวนรายงานในต่างประเทศ ผลปรากฏว่าหากไม่สามารถแยกกักได้ 100% ก็มีการแพร่เชื้อไปสู่คนในครอบครัว หรือถ้าไม่มีการดูแลที่ดี มีการออกนอกบ้าน ก็จะมีการติดเชื้อในชุมชน 

 

“ดังนั้นถ้าไม่จำเป็นเราไม่ได้อยากทำเรื่องนี้ แต่ถามว่าทำไมต้องทำเรื่องนี้ เพราะอัตราการครองเตียงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ยกตัวอย่างเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน หรือ 1 เดือนที่แล้ว อัตราการครองเตียง 19,629 เตียง วันนี้อัตราการครองเตียงอยู่ที่ 30,631 เตียง แปลว่า 1 เดือนผ่านไปอัตราการครองเตียงเพิ่มขึ้น 10,000 เตียง ซึ่งเป็นภาระที่บุคลากรสาธารณสุขต้องแบกรับ”

 

“โดยเฉพาะเตียง ICU ที่เดือนที่แล้วมีอัตราการครองเตียง 714 เตียง มาวันนี้เพิ่มเป็น 1,206 เตียง เพิ่มมาเกือบเท่าตัว เพราะฉะนั้นบุคลากรที่อยู่หน้างานแบกรับตรงนี้หนักจริงๆ และผมก็เรียนมาตลอดว่าการเพิ่มเตียง สถานที่ไม่ใช่เรื่องยาก แต่การเพิ่มบุคลากรที่เชี่ยวชาญมาดูค่อนข้างยาก ทำให้คนที่อยู่หน้างานเหนื่อยจริงๆ ครับ”

 

นพ.สมศักดิ์ กล่าวถึงแนวทาง Home Isolation และ Community Isolation ว่า แนวทางที่ชัดเจนตอนนี้คือการนำผู้ป่วยสีเขียวตามเกณฑ์ที่กำหนดมาเข้าสู่ระบบแยกกักตัว สิ่งสำคัญคือการพยายามหาสถานที่รองรับที่เหมาะสม ถ้าบ้านใครสามารถแยกกักตัวได้ มีการแยกห้องนอนก็ถือว่าดีที่สุด แต่ถ้าเป็น Community จะใช้จุดแข็งของประเทศไทยที่เรียกว่า ‘บวร’ คือ บ้าน วัด โรงเรียน ซึ่งตอนนี้มีหลายแห่งเริ่มทำไปแล้ว โดยให้ผู้ป่วยปฏิบัติตามคำแนะนำ และที่สำคัญคือเป็นไปตามความสมัครใจของผู้ป่วยด้วย

 

สำหรับเกณฑ์การพิจารณาผู้ป่วยที่จะทำ Home Isolation ประกอบไปด้วย 7 หลักเกณฑ์ คือ

 

  1. เป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ
  2. มีอายุไม่เกิน 60 ปี
  3. มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง 
  4. อยู่คนเดียว หรือมีผู้อยู่ร่วมที่พักไม่เกิน 1 คน
  5. ไม่มีภาวะอ้วน 
  6. ไม่มีโรคร่วม เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง, โรคไตเรื้อรัง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคหลอดเลือดสมอง, เบาหวานที่คุมไม่ได้ 
  7. ยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเอง

 

ทั้งนี้สถานพยาบาลจะประเมินผู้ติดเชื้อตามดุลยพินิจของแพทย์ ก่อนจะลงทะเบียน ให้คำแนะนำเรื่องการปฏิบัติตัวกับผู้ติดเชื้อ มีระบบติดตามอาการ และประเมินอาการ โดยแจกปรอทวัดไข้และเครื่องวัดระดับออกซิเจนในเลือด ซึ่งสามารถทำเองได้ที่บ้าน และสุดท้ายคือมีระบบรับ-ส่งผู้ป่วยไปสถานพยาบาลหากมีอาการรุนแรงขึ้น

 

สำหรับแนวทางการกักตัวในชุมชน หรือ Community Isolation ขณะนี้มีการเตรียมสถานที่บางส่วนแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหอประชุมของโรงเรียนหรือศาลาในวัด นอกจากนี้ยังสามารถใช้แคมป์คนงานหรือหมู่บ้านเป็นที่แยกกักตัวของชุมชนได้ ซึ่งโดยหลักการไม่ควรจะเกิน 200 คน เพราะไม่เช่นนั้นจะแออัดจนเกินไป และต้องมีสิ่งแวดล้อมที่ถูกสุขลักษณะ สามารถที่จะแยกน้ำเสียหรือขยะต่างๆ ออกจากชุมชนได้ โดยขณะนี้มีภาคประชาสังคมหลายส่วนเข้ามาร่วมในการทำเรื่องนี้

 

สำหรับการติดตามอาการผู้ป่วย จะมีช่องทางสื่อสารกับผู้ป่วย มีการติดตามอาการทุกวัน ผ่านระบบ Video Call หรือ Teleconference มีอุปกรณ์วัดไข้และออกซิเจนส่งไปให้ มีช่องทางติดต่อกรณีฉุกเฉิน 

 

“ต่อไปนี้ถ้าเป็นสีเขียว ไม่ว่าจะเป็นเขียวอ่อน เขียวแก่ ถ้าเป็นไปได้เราขอเป็น Home Isolation ทั้งหมด เพราะหมอดูแล้วว่าอยู่ได้ไม่มีปัญหา เป็นเบาหวานควบคุมได้ดี เป็นความดันควบคุมได้ดี ที่ราชวิถีทำไปประมาณ 20 ราย ในช่วงเดือนที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อรายหนึ่งอายุ 70 ปี สามารถทำ Home Isolation จนกระทั่ง 14 วันแล้วหายที่บ้าน เราถึงกล้ามาทำวันนี้ แล้ววันนี้เฉพาะในกรมการแพทย์เอง โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ขึ้นทะเบียน Home Isolation ไปแล้วประมาณ 200 ราย ดูรายงานทุกวันผู้ป่วยยังดีอยู่ทั้งหมด”

 

นพ.สมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมถึงการดูแลเรื่องอาหาร ซึ่งขณะนี้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ให้เงินสนับสนุนผ่านโรงพยาบาล โดยจะมีอาหาร 3 มื้อส่งให้ผู้ป่วยทุกคน ซึ่งตอนนี้ข้อมูลจากเว็บต่างๆ ว่าจะมีผู้ป่วยที่จะทำ Home Isolation ประมาณ 200 ราย และ Community Isolation อีก 200 ราย จะเป็นผู้ป่วยหลายร้อยรายที่เข้าสู่โครงการนี้ 

 

นอกจากผู้ติดเชื้อรายใหม่แล้ว แนวทาง Home Isolation และ Community Isolation ยังจะนำมาใช้กับผู้ป่วยที่ติดเชื้อและเข้าสู่การรักษาในโรงพยาบาลแล้ว 7-10 วัน และไม่มีอาการน่าเป็นห่วงแล้ว โดยสามารถกลับไปแยกกักตัวที่บ้านหรือชุมชนได้ เพื่อเพิ่มจำนวนเตียงในการรองรับผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 40-50% 

 

“ถามว่าถ้าพบว่าติดเชื้อแล้วอยาก Home Isolation หรือ Community Isolation ติดต่ออย่างไร ง่ายๆ คือสถานพยาบาลใกล้บ้าน แต่ต้องยอมรับว่ายังไม่ใช่ทั้งหมดที่รับเคส ทาง สปสช. ก็เลยเตรียมช่องทางเบอร์โทรศัพท์ 1330 ที่จะประสานเข้าไป จะมีกระบวนการคัดกรอง ซักประวัติต่อไป 

 

“ยืนยันว่าจำนวนผู้ป่วยทั้ง 2 ส่วนนี้กำลังเพิ่มเติมแบบ Exponential จากเดือนที่แล้ว 20 ราย ตอนนี้น่าจะขึ้นไปถึง 400-600 รายแล้ว ยังยืนยันว่าทั้ง 2 มาตรการเราเตรียมการเพื่อพี่น้องประชาชนปลอดภัยที่สุด” นพ.สมศักดิ์กล่าว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X