วันนี้ (28 มีนาคม) นพ.สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เขตสุขภาพที่ 6 กล่าวถึงความคืบหน้าผลการสอบสวนโรคในเด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านโคกกระท้อน ตำบลลาดตะเคียน อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งตั้งอยู่ใกล้โรงงานหลอมเหล็กที่มีการหลอมวัตถุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ทยอยมีอาการป่วยต่อเนื่องหลายราย ว่า ได้รับรายงานผลการสอบสวนโรคกรณีดังกล่าวจาก นพ.สุรินทร์ สืบซึ้ง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข จังหวัดปราจีนบุรี ว่า
จากการลงพื้นที่สอบสวนโรคร่วมกันระหว่างสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 (สคร.) จังหวัดชลบุรี, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี และโรงพยาบาลกบินทร์บุรี เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566 พบว่า โรงเรียนดังกล่าวมีนักเรียนชั้นอนุบาล-ประถมศึกษาปีที่ 6 รวมกัน 129 ราย และบุคลากรรวม 11 ราย มีอาการป่วยทางเดินหายใจเป็นกลุ่มก้อนตั้งแต่วันที่ 21-27 มีนาคม 2566 พบผู้ป่วยจำนวน 25 ราย คิดเป็น 19.38% ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 7 ราย ตามมาด้วยประถมศึกษาปีที่ 3 และประถมศึกษาปีที่ 1 ชั้นละ 5 ราย ประถมศึกษาปีที่ 5 และประถมศึกษาปีที่ 4 ชั้นละ 4 ราย ส่วนใหญ่มีอาการไข้ ปวดศีรษะ หนาวสั่น และไอ ปัจจัยเสี่ยงมาจากการรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน ซึ่งเป็นช่วงสอบปลายภาค นักเรียนที่มีอาการป่วยรายแรกจึงไม่ได้หยุดเรียนและมาสอบร่วมกับเพื่อนตามปกติ
นพ.สุเทพ กล่าวต่อไปว่า เบื้องต้นแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นการป่วยกลุ่มก้อนของโรคไข้หวัด (Common Cold) ได้สั่งยารักษาตามอาการ โดยให้ผู้ป่วยรับยาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ลาดตะเคียน และ รพ.สต.หาดนางแก้ว ส่วนผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบว่า การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดจากโรงพยาบาลกบินทร์บุรีในกลุ่มที่มีอาการ 19 ราย ผลปกติทุกราย และตรวจโควิดด้วย ATK ในกลุ่มนักเรียนที่มีอาการ 23 ราย ผลเป็นลบทุกราย ทีมสอบสวนโรคได้เก็บตัวอย่างจากผู้ป่วย 5 รายส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาเชื้อไวรัสก่อโรคระบบทางเดินหายใจด้วยเทคนิค RT-PCR พบสารพันธุกรรมของไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A สายพันธุ์ 3 (H3N2) ทั้งหมด
ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า การป่วยเป็นกลุ่มก้อนดังกล่าวเกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับซีเซียม-137
สำหรับการตรวจวัดปริมาณรังสีซีเซียม-137 ในตัวอย่างปัสสาวะของคนงานในโรงงานหลอมเหล็ก ซึ่งเก็บตัวอย่างเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566 ด้วยเครื่องแกมมาสเปกโตรมิเตอร์ จำนวน 52 ตัวอย่าง มีค่าอยู่ในระดับปริมาณรังสีพื้นหลัง ไม่พบการเปรอะเปื้อนกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในร่างกายของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด และได้เก็บตัวอย่างปัสสาวะจากคนงานในโรงงานที่ยังไม่เคยส่งตัวอย่างเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา ส่วนการเก็บตัวอย่างในสิ่งแวดล้อมและตรวจวัดรังสีแกมมาในอากาศแบบเรียลไทม์ภายในจังหวัดปราจีนบุรีและรอบโรงงานหลอมเหล็ก ได้รับข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจในการเฝ้าระวังและตอบสนองกรณีวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในพื้นที่เกิดเหตุจังหวัดปราจีนบุรี ว่า อยู่ในเกณฑ์ความปลอดภัย และไม่พบบริเวณที่มีรังสีสูงอันอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม