วันนี้ (11 ตุลาคม) นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยโควิด รักษาหาย 10,590 ราย สูงกว่าผู้ติดเชื้อใหม่ที่พบ 10,035 ราย เสียชีวิต 60 ราย และอยู่ระหว่างการรักษา 110,265 ราย ภาพรวมผู้ป่วยปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิตลดลงเรื่อยๆ ส่วนภาพรวมผู้ติดเชื้อยังทรงตัว จึงต้องเน้นย้ำมาตรการส่วนบุคคล ป้องกันตนเองสูงสุดตลอดเวลา ร่วมกับมาตรการสังคม และมาตรการ COVID-Free Setting เพื่อช่วยให้การแพร่ระบาดของโรคลดลง
สำหรับผู้เสียชีวิตตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 7 ตุลาคม 2564 จำนวน 17,324 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 11,693 ราย หญิงตั้งครรภ์ 30 ราย กทม. มีผู้เสียชีวิตสูงสุด 6,295 ราย ส่วนใหญ่ไม่ได้รับวัคซีน แสดงว่าประสิทธิผลของวัคซีนในการป้องกันการเสียชีวิตมีสูงมาก จึงขอให้ผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนตัดสินใจลงทะเบียนเข้ามาฉีด ส่วนการฉีดวัคซีนในนักเรียนอายุ 12-17 ปี ฉีดเข็ม 1 แล้ว 419,222 คน คิดเป็น 9.3%
นพ.เฉวตสรรกล่าวต่อไปว่า ขณะนี้พบโซเชียลมีเดียมีการให้ข้อมูลที่มีความคลาดเคลื่อน ทำให้เกิดความไม่มั่นใจในวัคซีนหลายเรื่อง เช่น กรณีระบุว่าวัคซีน mRNA มีสารกัมมันตภาพรังสี สารโลหะอะลูมินัมปนเปื้อน ยืนยันว่าส่วนประกอบของวัคซีนไม่มีสารเหล่านี้ การผลิตวัคซีนจะต้องมีการจดแจ้งส่วนประกอบในการขึ้นทะเบียนชัดเจน และวัคซีนทุกล็อตที่เข้ามาต้องผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยและคุณภาพ เช่น สิ่งปลอมปนทางกายภาพ หากตรวจพบความผิดปกติจะส่งคืนให้บริษัททำลายทิ้ง เป็นมาตรฐานสากลที่ปฏิบัติเหมือนกันทุกประเทศ
กรณีที่ระบุว่ามีนาโนพาร์ทิเคิล หรืออนุภาคที่เป็นอันตราย ขอชี้แจงว่า วัคซีน mRNA มีการใช้ลิพิดนาโนพาร์ทิเคิล หรืออนุภาคนาโนของไขมัน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีการพัฒนายารักษาโรคบางชนิดมีใช้มาก่อนหน้านี้ เพื่อช่วยนำตัวยาเข้าสู่ร่างกายให้ออกฤทธิ์ได้ มีการตรวจพิสูจน์ว่าปลอดภัยก่อนได้รับอนุญาตในสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป จึงมั่นใจได้ว่าลิพิดนาโนพาร์ทิเคิลที่เป็นส่วนประกอบของวัคซีนมีความปลอดภัย ส่วนที่อ้างว่าผู้ที่ฉีดวัคซีน mRNA ติดเชื้อแล้วมีอาการหนักมากกว่าผู้ที่ไม่ฉีด เรื่องนี้ไม่เป็นความจริง จากผลการศึกษาประสิทธิภาพวัคซีนช่วยป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ถึง 95% แม้กระทั่งกลุ่มผู้สูงอายุที่การตอบสนองของภูมิคุ้มกันน้อยกว่าวัยอื่นๆ ประสิทธิภาพยังสูงในระดับ 94%
“วัคซีนที่นำมาฉีดในประเทศไทยมีการฉีดในต่างประเทศเป็นจำนวนมากแล้ว โดยบุคลากรทางการแพทย์ทุกกลุ่มได้รับการฉีดก่อน และเป็นการฉีดโดยความสมัครใจ เนื่องจากเป็นสิทธิส่วนบุคคลในการตัดสินใจ เช่นเดียวกับการฉีดในนักเรียนที่มีการสอบถามผู้ปกครองก่อน เพื่อให้แสดงความจำนง ส่วนภาคราชการจะรณรงค์เชิญชวนให้ฉีดวัคซีนด้วยเหตุผลทางวิชาการ แต่สุดท้ายขึ้นกับการตัดสินใจของแต่ละบุคคลว่าจะฉีดหรือไม่” นพ.เฉวตสรรกล่าว