วันนี้ (25 พฤษภาคม) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ว่า ตามธรรมชาติของเชื้อโควิด-19 มีการกลายพันธุ์ตลอดเวลา หากมีการแพร่เชื้อมากขึ้น โอกาสเกิดการกลายพันธุ์ได้มากขึ้น ซึ่งการเฝ้าระวังมี 2 ระดับ คือ
- ระดับที่น่าสนใจ (Variant of Interest) ที่ต้องติดตามกันต่อ และ 2. ระดับที่น่าห่วงกังวล (Variant of Concern) เช่น สายพันธุ์อังกฤษ อินเดีย บราซิล แอฟริกาใต้ แคลิฟอร์เนีย เป็นต้น
โดยประเทศไทยมีเครือข่ายห้องปฏิบัติการในการสุ่มตรวจเพื่อเฝ้าระวังสายพันธุ์ต่างๆ โดยเฉพาะเมื่อเกิดคลัสเตอร์ใหม่, พื้นที่ชายแดน, ในกลุ่มผู้ป่วยอาการหนักใส่ท่อช่วยหายใจหรือเสียชีวิต และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ในประเทศไทยเป็นสายพันธุ์อังกฤษ จากการสุ่มตรวจเชื้อ 1,300 กว่าตัวอย่าง พบสายพันธุ์อังกฤษ 1,200 กว่าตัวอย่าง หรือ 93% มาแทนที่สายพันธุ์เดิมก่อนหน้าแล้วเพราะแพร่กระจายเร็ว ส่วนความรุนแรงไม่แตกต่างจากสายพันธุ์เดิม และภูมิคุ้มกันจากวัคซีนยังได้ผล
“การตรวจด้วยวิธี RT-PCR จะทราบแค่ว่าติดเชื้อหรือไม่ แต่จะไม่ทราบสายพันธุ์ ต้องใช้วิธีการตรวจพิเศษ ใน 3 วิธี คือ การตรวจ RT -PCR โดยการใช้น้ำยาเฉพาะต่อสายพันธุ์นั้น, การตรวจมุ่งเป้าเฉพาะส่วนของเชื้อไวรัส (Targeted Sequencing) ใช้เวลา 1-2 วัน และการตรวจไวรัสทั้งตัว (Whole Genome Sequencing) ใช้เวลา 3-5 วัน มีค่าใช้จ่ายสูง แต่ช่วยให้ทราบสายตระกูลของเชื้อว่ามีต้นทางมาจากที่ไหน เนื่องจากนำไปเปรียบเทียบกับข้อมูลการตรวจสายพันธุ์ของแต่ละประเทศที่ส่งมาเป็นข้อมูลส่วนกลางได้ เช่น การระบาดที่สมุทรสาครพบว่าเชื้อมาจากอินเดีย บังกลาเทศ และเข้ามาทางเมียนมา เป็นต้น ปัจจุบันกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พัฒนาให้ตรวจวิธีดังกล่าวได้มากกว่า 380 ตัวอย่างต่อสัปดาห์ สูงกว่ามาตรฐานระดับโลก” นพ.ศุภกิจกล่าว
สำหรับการตรวจพบสายพันธุ์อินเดียในแคมป์ก่อสร้างเขตหลักสี่ที่พบ 36 ราย เมื่อขยายการตรวจออกไปในพื้นที่อื่นของกรุงเทพมหานคร ขณะนี้พบ 62 ราย สายพันธุ์นี้แพร่กระจายเร็วเช่นเดียวกับสายพันธุ์อังกฤษ ความรุนแรงไม่แตกต่างกันมาก วัคซีนยังใช้ได้ ที่บอกว่าสายพันธุ์อินเดียจะหลบเข้าไปในปอด ตรวจหาเชื้อทางจมูกไม่เจอ ไม่ใช่เรื่องจริงแต่อย่างใด
ส่วนสายพันธุ์แอฟริกาใต้ที่ตรวจพบ 11 ราย ยังอยู่ในอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ไม่มีการแพร่ออกไปพื้นที่อื่น แต่ต้องมีการเก็บตัวอย่างเชื้อพื้นที่ใกล้เคียงมาตรวจเพิ่มเติม เช่น ยะลา สงขลา พัทลุง เป็นต้น ดังนั้นขอให้ทุกคนลดการเคลื่อนย้าย ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปพื้นที่อื่น ส่วนความรุนแรงของสายพันธุ์แอฟริกาใต้ เนื่องจากประเทศไทยยังมีข้อมูลน้อยที่จะบอกความรุนแรง ส่วนต่างประเทศมีข้อมูลว่าอาจมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จึงต้องเฝ้าระวังต่อไป แต่เรารักษาผู้ป่วยอย่างเต็มที่และหายแล้ว 3 ราย
“แม้สายพันธุ์อังกฤษ อินเดีย และแอฟริกาใต้ จะแพร่เร็ว แต่การป้องกันโรคโควิด-19 ไม่ได้ยึดว่าเป็นสายพันธุ์อะไร ใช้หลักการป้องกันควบคุมโรคเหมือนกัน ทั้งใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ลดกิจกรรมเสี่ยงปาร์ตี้ สังสรรค์ ลดการลักลอบข้ามแดนที่จะนำเชื้อกลายพันธุ์เข้ามา ทุกคนต้องช่วยกัน เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดการกลายพันธุ์ในประเทศ ส่วนประสิทธิภาพของวัคซีนต่อสายพันธุ์แอฟริกาใต้ แม้จะลดลงทุกตัว ขออย่ากังวลจนไม่ไปฉีดวัคซีน เพราะสายพันธุ์นี้ยังอยู่ในอำเภอตากใบ และยังไม่ได้มาแทนที่สายพันธุ์อื่น วัคซีนยังมีผลต่อสายพันธุ์อื่นๆ ที่พบในประเทศเป็นส่วนใหญ่ จึงขอให้ทุกคนฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ลดอัตราป่วยและเสียชีวิต” นพ.ศุภกิจกล่าว
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล