จากการระบาดของโรคปอดอักเสบในเด็กที่ประเทศจีน ทำให้มีข้อกังวลเรื่องการแพร่ระบาดมายังประเทศไทย ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขระดมผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ ได้แก่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ, ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ และ รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ และหน่วยงานสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมมาตรการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรครองรับ
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกยืนยันชัดเจนว่า โรคปอดอักเสบในเด็กที่ประเทศจีนเกิดจากเชื้อก่อโรคตัวเดิมที่ว่างเว้นการระบาดช่วง 3 ปีในช่วงของการเข้มงวดมาตรการโควิด แต่เพื่อความไม่ประมาท ได้สั่งการให้กรมควบคุมโรคติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ล่าสุดได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อมาหารือเพื่อเตรียมมาตรการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคแล้ว
นพ.ชลน่าน ระบุว่า หากสถานการณ์มีความจำเป็นจะเพิ่มความเข้มข้นใน 4 มาตรการ คือ
- มาตรการเฝ้าระวังโรค ให้ทุกจังหวัดโดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยว ติดตามสถานการณ์โรคปอดอักเสบในโรงพยาบาลอย่างใกล้ชิด กรณีพบผู้ป่วยปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุ ให้เก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งทางเดินหายใจส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจหาเชื้อก่อโรค หากพบผู้ป่วยปอดอักเสบจำนวนมากผิดปกติ หรือบุคลากรทางการแพทย์เป็นปอดอักเสบ หรือพบผู้ป่วยปอดอักเสบรุนแรงเฉียบพลัน หรือเสียชีวิตไม่ทราบสาเหตุ ให้รีบสอบสวนและเก็บตัวอย่างส่งตรวจเพื่อยืนยันการวินิจฉัยและควบคุมโรคต่อไป
- มาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล ให้สื่อสารความเสี่ยงกับประชาชน ทั้งเรื่องการสวมหน้ากากอนามัยและการล้างมือบ่อยๆ สำหรับผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจและผู้ที่ใกล้ชิดผู้ป่วย โดยเฉพาะเด็กเล็กและผู้สูงอายุ
- มาตรการด้านการรักษา ให้โรงพยาบาลเตรียมชุดอุปกรณ์ป้องกันตนเอง ยา เวชภัณฑ์ และเตียง เพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินตามแผนการตอบโต้สถานการณ์ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง เมืองท่องเที่ยว
- กรณีพบการระบาดของโรคปอดอักเสบรุนแรงไม่ทราบสาเหตุเป็นวงกว้างในต่างประเทศ จะยกระดับการเฝ้าระวัง และตรวจคัดกรองผู้ป่วยที่เดินทางมาจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรค โดยด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศที่สนามบินนานาชาติ คัดกรองผู้มีอาการทางเดินหายใจและเก็บตัวอย่างตรวจหาเชื้อก่อโรค รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขเพื่อรับมือกับสถานการณ์ได้ทันที
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนตระหนักเพื่อระมัดระวังป้องกัน แต่ไม่ต้องวิตกกังวล ติดตามข้อมูลสถานการณ์และคำแนะนำจากกระทรวงสาธารณสุขเป็นระยะต่อไป